'อัลติจูด' ท้าชิงเค้กอสังหาฯ มองโอกาส..! วันตลาดติดลบ
เมื่อเศรษฐกิจไม่เอื้อ ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะลอตัว จากกำลังซื้อที่อ่อนแรงไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ จึงไม่กล้าตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนมูลค่าสูง
ทำให้นักพัฒนาอสังหาฯน้อยใหญ่ ต้องยอมรับภาวะ“พลาดเป้า”ไม่ว่าจะการพลาดเป้าเปิดตัวโครงการใหม่ หรือเป้าหมายยอดขาย ทำให้ภาพรวมต้องแบกสต็อกสูงสุดในรอบ 5 ปี
ทว่าสำหรับนักพัฒนาอสังหาฯหน้าใหม่ “บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด” ชยพล หรรรุ่งโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัลติจูดฯ กลับมองว่า ในภาวะที่รายอื่น อยู่ในอาการน่าเป็นห่วง กลายเป็น“โอกาส”ในการแทรกตลาด เพียงแต่ต้องผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค ซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินงานมาแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน (ปี 2561) ในวันที่เริ่มก่อตั้งองค์กร
สะท้อนผลการดำเนินงานที่ตั้งเป้าเปิดตัว 7 โครงการ มูลค่ารวม 5,862 ล้านบาท อาทิ อัลติจูด ยูนิคอร์น,อัลติจูด ซิมโฟนี และพรูฟ เหลือการเปิดตัวโครงการมูลค่าอีก 2,000 ล้านบาทก็จะเป็นไปตามตามเป้าหมายที่วางไว้
เขายังระบุว่า ผลงานที่เป็นไปตามเป้าเกิดจากการปรับกลยุทธ์ การทำการตลาด และสื่อสารกับผู้บริโภคโดยใช้ข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ความต้องการเชิงลึก(Insight)ผู้บริโภค โดยวิเคราะห์ในเชิงพฤติกรรม และความสนใจ เพื่อพัฒนาสินค้าและการบริการ รวมถึงการสื่อสารการตลาด ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะบุคคล (Personalized marketing) ตอบสนองการใช้ชีวิตการอยู่อาศัย ไลฟ์สไตล์ และการทำงาน รวมถึงการพักผ่อน
“การตลาดแบบรู้ใจ เลือกตามความสนใจแต่ละกลุ่มย่อยที่สนใจเรื่องเฉพาะตัว จึงออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในคอนโดมิเนียม (Facilities) ให้แตกต่างจากทั่วไป(Rare items)กว่า10ด้าน เช่น ห้องE-sportเพื่อตอบสนองกลุ่มรุ่นใหม่ที่แข่งเกมที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น,หรือมีบาร์ สำหรับแฮงค์เอาท์ รวมถึงการมี หรือโครงการรอัลติจูด ยูนิคอร์น พัฒนาพื้นที่ทำงาน(Co-working Space)สำหรับการเป็นสตาร์ทอัพ รวมถึงรองรับกลุ่มอาชีพคนยุคใหม่ เช่น ค้าขายออนไลน์ และฟรีแลนซ์”
เขายังคาดการณ์ว่า ตลาดอสังหาฯใน10ปีข้างหน้าความเพลี่ยงพล้ำของผู้ประกอบการอสังหาฯบางราย กำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรม ด้วยการ“เพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่”ให้ไต่อันดับธุรกิจขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงวางเป้าหมายท้าทายตัวเอง ว่าจะดันยอดขายติดอันดับท็อป10ภายใน10ปีจากนี้
นอกจากนี้ เขายังอยากให้ภาครัฐหามาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากมองว่า หากรวบรวมสินทรัพย์ด้านอสังหาฯทั้งภาครัฐ เอกชนรวมกันคาดว่าจะสูงกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ถ้าทำให้มีมูลค่าเพิ่มจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของGDP ดังนั้นจึงควรมองอสังหาฯเป็นความมั่งคั่งของประเทศ(Wealth)ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับการผลิตสินค้า หากเพิ่มมูลค่าได้ก็มีผู้สนใจเข้ามาซื้อขายเพิ่มมากขึ้น
อีกด้านคือภาครัฐควรหามาตรการกระตุ้นให้ผู้ที่มีเงินออม นำมาลงทุนซื้ออสังหาฯ ผ่านมาตรการจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษี ที่จะสร้างโอกาสในการดึงเงินออมเข้าสู่ธุรกิจอสังหาฯ
“หากรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการเป็นเจ้าของอสังหาฯ ทำให้คนเลือกลงทุนและแข่งขันกับต่างชาติได้ ซึ่งวันนี้มูลค่าอสังหาฯของไทยยังถูกกว่าจีน3-4เท่า ดังนั้นจึงควรเพิ่มมูลค่าเช่น ลดดอกเบี้ย 0% 3ปีแรกโดยที่รัฐบาลอาจจะออกพันธบัตรมาครอบครองอสังหาฯ รัฐบาลสามารถสร้างประโยชน์จากมูลค่าอสังหาฯที่เพิ่มขึ้น ส่วนการดึงเงินออมมาซื้ออสังหาฯ เงินจะหมุนไปช่วยประเทศโดยการพัฒนาอสังหาฯเพิ่มมูลค่า โดยรัฐบาลส่งเสริมใครซื้ออสังหาฯ 100% รัฐบาลอาจจะลดภาษีต่างๆ เป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบซึ่งเราต้องใช้เงินจากคนที่มีเงิน ให้พวกเขาเอาเงินออกมาใช้” เขาให้ความเห็น
ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย อีกหุ้นส่วนธุรกิจ กล่าวถึงจุดสำคัญที่ทำให้หน้าใหม่อย่างอัลติจูดแทรกตลาดได้ว่า เกิดจากการสร้างแบรนด์จนสร้างการรับรู้ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จากไม่รู้จักจนวันนี้อัตราการรู้จัก7คนใน10คน
ขณะที่องค์ประกอบของการสร้างแบรนด์มีอยู่ 3 ด้าน ประกอบด้วย1.พันธมิตรที่มีที่ดิน หรือต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศ ทั้งกลุ่มธุรกิจที่นอกตลาดอสังหาฯ รวมถึงต่างชาติที่ต้องการหาผู้ร่วมทุน 2.พันธมิตรด้านเงินทุน ที่มีการปล่อยกู้ร่วมทุนเพราะมั่นใจในโครงการ และ3.ทีมงานมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า5ปีในธุรกิจอสังหาฯ
สำหรับแผนในปี2563มีการเดินหน้าลงทุนอย่างระมัดระวัง พิถีพิถันในการเลือกทำเล ที่ความต้องการสูงและราคาสอดคล้องกับความต้องการ โดยมีแผนกำลังเตรียมพร้อมเปิดตัว4โครงการ มุ่งเน้นการลงทุนคู่กับพันธมิตรเป็นหลัก ที่ผ่านมามีพันธมิตรธุรกิจ ที่เปิดตัวไปแล้วในปี2562 ได้แก่ โครงการ พรูฟ โฮมออฟฟิศ จับมือร่วมกับ ครีท กรุ๊ป(Creed Group) จากญี่ปุ่น ขณะเดียวกันได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตรธุรกิจคนไทย เช่น บิวตี้ เจมส์ ที่วางแผนจะพัฒนาโครงการแถวสาทร ร่วมกัน