‘กูรู’เตือนความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน ส่อลากยาว 5-10 เดือน
นักวิเคราะห์การลงทุน ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่านส่อแววยืดเยื้อราว 5-10 เดือน หวั่นกดดันราคาน้ำมันขึ้นสูงสุด 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ฉุดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินบาทของไทยอ่อนลงได้ พร้อมแนะนักลงทุนกระจายพอร์ตลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง
วันที่ 10 ม.ค.63 สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ได้จัดงานเสวนา IAA HOT ISSUE ครั้งที่ 1/2563 ในประเด็น “เจาะลึกผลกระทบประเด็นสหรัฐฯ-อิหร่าน” โดยมีนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจำนวน 3 ท่าน อาทิ นายเอกภาวิน สุนทราภิชาติ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ไทยพาณิชย์, ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ นักเศรษฐศาสตร์ บล.ทรินีตี้ จำกัด และนายปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล นักกลยุทธ์การลงทน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นให้กับสื่อมวลชนกันอย่างคับคั่ง
ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ นักเศรษฐศาสตร์ บล.ทรินีตี้ เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมาสหรัฐฯมีการสังหารนายพลกัสเซม โซเลมานีของอิหร่าน ซึ่งมูลเหตุจูงใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการสังหารนายพลของอิหร่านในครั้งนี้คือการเลือกตั้งสหรัฐฯในปีนี้ เพราะโดยสถิติที่ผ่านมาทุกครั้งที่สหรัฐฯมีการเลือกตั้งในประเทศและเกิดการทำสงคราม ประธานาธิบดีคนเดิมจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อไปเสมอ
ทั้งนี้ประเมินว่าสหรัฐฯจะตอบโต้อิหร่านด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการโจมตีทางทหารเป็นครั้งคราว ซึ่งทำให้อาจซาอุดิอาระเบียโดนผลกระทบจากการตอบโต้ดังกล่าวด้วย ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับ 2 ครั้งก่อน ถือว่าครั้งนี้สหรัฐฯโดดเดี่ยวมากโดยมีประเทศอังกฤษที่ออกมาสนับสนุน ซึ่งต่างจาก 2 ครั้งก่อนที่มีพันธมิตรเข้ามาร่วมค่อนข้างมาก
ขณะที่ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะยืดเยื้อราว 5-10 เดือนไปจนถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯในช่วงเดือน พ.ย.2563 หรือจนกว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แพ้การเลือกตั้งเหตุการณ์น่าจะจบลงได้ เพราะเหตุผลที่เกิดส่วนหนึ่งทรัมป์น่าจะหวังผลทางการเมือง อย่างไรก็ดีระหว่างนี้การตอบโต้กันของสหรัฐและอิหร่านน่าจะเป็นแบบกองโจรและคาดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้สหรัฐน่าจะมีโอกาสชนะประมาณ 40% เพราะอิหร่านน่าจะทนแรงกดดันจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไม่ไหว และไม่น่าจะถูกยกระดับเป็นสงคราม
“ส่วนโอกาสจะปิดช่องแคบฮอร์มุซมีประมาณ 20% ซึ่งการปิดจะทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปประมาณ 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ก็มีอุปทานทดแทนจากเชลออยล์ของสหรัฐอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจากรัฐเชียอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่มีส่วนเกินกลับมาต่ำลงจากอุปทานโลกต่อวันเล็กน้อย ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นได้”
ผศ.ดร.บุญธรรม กล่าวต่อว่าทั้งนี้คาดว่าราคาน้ำมันมีโอกาสปรับขึ้นได้หากสหรัฐมีการยิงตอบโต้กับอิหร่าน ซึ่งคาดว่าน้ำมันจะขึ้นไประดับ 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ถ้ามีเหตุปิดช่องแคบฮอร์มุซราคาน้ำมันอาจขึ้นไปที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และประเมินว่าน้ำมันมีโอกาสขึ้นไปสูงสุดที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ หากมีการยิ่งตอบโต้กัน รวมถึงมีโอกาสขึ้นไปที่ 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากมีเหตุการณ์รุนแรงไปถึงขั้นมีการยิงโรงกลั่นน้ำมัน
นายเอกภาวิน สุนทราภิชาติ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะยกระดับเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ความตึงเครียดยังอยู่ต่อ โดยคาดราคาน้ำมันปีนี้น่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้อาจจะกระทบต่อการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและค่าเงินบาทให้ลดลงได้บ้าง แต่คงไม่มีผลต่อดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ในภาวะเช่นนี้ในระยะสั้นแนะนำกระจายการลงทุน โดยควรแบ่งลงทุนในทองคำ 30% ของพอร์ต
ส่วนหุ้นที่ได้ประโยชน์ในช่วงนี้คือหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งราคาน้ำมันดิบขึ้นทุกๆ 1 เหรียญต่อบาร์เรล จะทำให้ ESSO ราคาขึ้น 3.5%,SPRC ราคาขึ้น 2.7% ในเรื่องสต็อกน้ำมัน แต่เป็นปัจจัยระยะสั้น ส่วนระยะกลางคาดว่า PTTEP จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันและปริมาณการขายที่มีการซื้อแหล่งผลิตเข้ามาเต็มปีในปี 2563 และช่วยหนุนผลการดำเนินงานในปีนี้
“มองว่าตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรกมีโอกาสฟื้นตัว จากการฟื้นกำไรของกลุ่มหุ้นพลังงาน และปีโตรเคมี แนะขายช่วง 1700 จุด ซึ่งครึ่งปีหลังจะมีปัจจัยลบเรื่องสหรัฐฯเข้าสู่การเลือกตั้ง นอกจากนี้ควรสะสมทองคำในพอร์ตการลงทุน”
นายปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล นักกลยุทธ์การลงทุน บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่าคาดว่าสถานการณ์สหรัฐ-อิหร่านคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับสงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่มองว่าสหรัฐน่าจะใช้วิธีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านมากกว่า โดยภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเดือนม.ค.-ก.พ.ปีนี้ดัชนีมีโอกาสที่จะขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ระดับ 1,600 จุด อีกครั้ง ส่วนแนวรับอยู่ระดับ 1,545-1,550 จุด
ขณะที่ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกสนับสนุน จากแนวโน้มที่สหรัฐ-จีนจะลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก และอาจจะขยายสูงการลงนามในเฟสสองต่อ ซึ่งทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจและการค้าโลกดีขึ้น ประกอบกับในปีที่ผ่านมาหุ้นไทยปรับขึ้นมาน้อยมากเพียง 1 % เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ดังนั้นในปีนี้จึงมีโอกาสที่จะมีแรงซื้อกลับมาตลาดหุ้นไทย เพราะราคาหุ้นยังต่ำและหนุนให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้ โดยมองเป้าหมายดัชนีกรณีฐานที่ 1,680 จุด และกรณีดีที่สุดที่ 1,720 จุด ภายใต้คาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 100.50 บาทต่อหุ้น
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนเน้นการจายความเสี่ยงไปยังหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนอินโดนีเซียก็น่าสนใจ เสถียรภาพการเมืองดี และบริษัทจดทะเบียนมีความสามารถในการแข่งขันที่ดี