3 โจทย์ใหญ่ ! เกมชนะ 'ตลาดทุน'
บริบทใหม่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ 'โจทย์ใหญ่' ต้องเร่งดำเนินการให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว 'ดร.ภากร ปีตธวัชชัย' งัดกลยุทธ์ 3 ปี (2563-2565) มุ่งเน้น 'เพิ่มประสิทธิภาพ' และ 'ต่อยอดธุรกิจใหม่' ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร
นับตั้งแต่ 'ดร.ภากร ปีตธวัชชัย' กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แตะมือรับช่วงบริหารต่อจาก 'ตุ๊-เกศรา มัญชุศรี' โดยเขาเข้ามารับตำแหน่ง 'เบอร์ 1' ผู้กุมชะตาตลาดทุนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 ที่ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) 16.69 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 22 ม.ค.2563) ผ่านมาแล้ว 1 ปีกว่า
แม้ในยุคของ 'ดร.ภากร' จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในประเทศเฉกเช่นที่ผ่านมา แต่กลับเจอะเจอปัจจัยกระทบจาก 'นอกบ้าน' รุนแรงไม่ต่างกัน โดยเฉพาะประเด็น 'สงครามการค้า' (Trade War) ระหว่างประเทศจีน–สหรัฐฯ ที่มีความไม่ชัดเจนนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 เป็นต้นมา และลากยาวเกือบหมดปี 2562 ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นปกคลุมไปด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นสัญญาณเข้าสู่ภาวะ 'ถอดถอย' (Recession)
สะท้อนผ่าน ดัชนี SET INDEX ในยุคของ ดร.ภากร ที่ปรับตัวขึ้นมา 'สูงสุด' 1,760.47 จุด (เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2561) และปรับตัว 'ต่ำสุด' 1,548.37 จุด (เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2561)
พลันที ! เปิดปี 2563 ประเด็นสงครามการค้ามีสัญญาณดีขึ้นทุกอย่างน่าจะสดใจ แต่ปัจจัยกระทบใหม่ก็เกิดขึ้นทันทีในเรื่องของ 'ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน' ส่งผลให้มีความกังวลเรื่องของสงครามโลกครั้งที่ 3 ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลาย และประเด็นกระทบใหม่ที่กำลังส่อเค้าทำให้เกิดความกังวลอีกครั้งคือ 'โรคระบาด' ที่กำลังระบาดในประเทศจีน
โดยอนาคตสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง คือ 1.นโยบายภาครัฐ และกฎเกณฑ์ใหม่ อย่าง SMEs & Startups , Financial , Literacy ,Digital Infrastructure รวมทั้งบทบาทของ CMDF ผู้เล่นรายใหม่ แฟลตฟอร์มซื้อขายหลักทรัพย์รูปแบบใหม่ๆ 2.การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมตลาดทุนโลก ไม่ว่าจะเป็นกลเกณฑ์สากล อย่าง MiFID,GDPR การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
3.Disruption การนำเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการทำงาน , โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และ 4.สภาพแวดล้อมของผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน ซึ่งต่อไปต้องมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน เช่น FX , hedging & passive products การแข่งขันที่รุนแรง , ต้นทุนการดำเนินงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สูง และสังคมผู้สูงอายุ ฉะนั้น ทำให้ตลาดทุนต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ด้วย 'กลยุทธ์' ที่นำมาใช้คือ 'การมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและต่อยอดธุรกิจใหม่ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน' ปี 2563
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 ! 'กรรมการผู้จัดการ' ย้ำเช่นนั้น ซึ่งในปีนี้ ตลท. มีการปรับรูปแบบการทำงานและขยายธุรกิจ ภายใต้กรอบกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2563-2565) คือ 1.เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ (Grow with Efficiency) ปรับรูปแบบการทำงานและขยายธุรกิจด้วย การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกันยังคงมุ่งเน้นลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการและกฎเกณฑ์ต่างๆ และการให้บริการในรูปแบบ One-Stop Service แก่บริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการนำข้อมูล (data) มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการ รวมถึงสร้างฐานข้อมูลที่ให้อุตสาหกรรมได้นำไปใช้ต่อยอดและประโยชน์ร่วมกัน
2.เติบโตด้วยการสร้างโอกาสใหม่ (Grow with New Opportunities) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะมุ่งเน้นความเชื่อมโยงกับตลาดทุนในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนม่า และเวียดนาม รวมทั้ง การขยายโอกาสการระดมทุนของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) รวมถึงสตาร์ทอัพ (Startups)
และ 3.เติบโตไปด้วยกันกับผู้ร่วมตลาดและสังคมอย่างยั่งยืน (Grow with Stakeholders & Sustainable Society) ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น (Ease of Doing Business) และการคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ผู้ร่วมตลาดได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ลดต้นทุนการทำธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มกลางของตลาดทุน และการเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์ การสร้างช่องทางใหมในการลงทุนให้สะดวกมากขึ้น
รวมถึงการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุลและมีคุณภาพ พร้อมปรับแนวทางการพัฒนาความรู้การออมและการลงทุนภาคประชาชน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในทุกมิติ
ด้าน 'แมนพงศ์ เสนาณรงค์' รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บอกว่า ในปี 2563 ตลท. ตั้งเป้าจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาหลักทรัพย์ (market cap) ใหม่จากการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไม่ต่ำกว่า 5.5 แสนล้านบาท มาจากการเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และ การเพิ่มทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา market cap ใหม่เพิ่มขึ้น 7.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหุ้น IPO 3.8 แสนล้านบาท และ บจ. เดิมที่เพิ่มทุนอีก 4 แสนล้านบาท
'เราตั้งเป้า market capใหม่ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยปกติ แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหรือไม่ เพราะปีที่แล้วมีหุ้นใหญ่อย่าง บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ขายไอพีโอและการระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ โดยหากมีหุ้นขนาดใหญ่มาก ๆ เข้าจดทะเบียนก็มีโอกาสทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน'
นอกจากนี้ พบว่าในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทขนาดใหญ่ที่มี market cap เกินกว่า 'หมื่นล้านบาท' มีความสนใจเข้ามาระดมทุนมากกว่า 10 บริษัท แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบริษัท ส่วนสาเหตุที่บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาระดมทุนหลายรายในช่วงนี้ เกิดจากการเร่งปรับตัวทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเลี่ยงถูก Distrup จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ส่วนการจัดตั้งกระดาน SME-StartUp นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอข้อสรุปด้านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดจะมีความคืบหน้าช่วงกลางปี 2563 นี้
รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงเกณฑ์กำกับหลายเรื่อง จุดประสงค์เพื่อคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ซึ่งจะมีการประกาศหลังได้ข้อสรุป
'หลาย ๆ เรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ เรากำลังทบทวนและปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและทันสมัย นอกจากนี้อาจจะมีการทบทวนบทบาทหรือรีแบรนดิ้งผลิตภัณฑ์การลงทุนบางประเภทว่า Product ไหนเหมาะกับการลงทุน Product ไหนเหมาะกับการเก็งกำไร เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่เข้าใจว่าทุก Product มีไว้สำหรับลงทุน เพื่อให้สร้างความเข้าใจใหม่ให้ตรงกันกับนักลงทุน'
ท้ายสุด 'ดร.ภากร' บอกไว้ว่า คงต้องปรับลดเป้าหมาย market cap ของ ตลท. จากที่ตั้งเป้าแตะระดับ 150% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ในปี 2566 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และความสามารถทำกำไร บจ. ปรับตัวลดลง
พัฒนาการสำคัญ 'รอบ 1 ปี'
'ดร.ภากร ปีตธวัชชัย' กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บอกว่า สำหรับพัฒนาการสำคัญและความสำเร็จปี 2562 'ด้านธุรกิจ' ได้สภาพคล่องครองอันดับ 1ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2555 ในภูมิภาคอาเซียน มูลค่าซื้อขายต่อวัน 53,192 ล้านบาท (ณ วันที่ 28 พ.ค. 2562 มีการซื้อขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2 แสนล้านบาทต่อวัน) โดยตลาด TFEX มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันกว่า 4.3 แสนสัญญา เป็นอันดับ 26 ของโลก
ทั้งนี้ มีมูลค่า IPO 3.8 แสนล้านบาท 'สูงสุดอาเซียน' โดย AWC เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าระดมทุนใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของไทย และเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีการระดมทุนใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ 40 บจ. ไทยได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Standard Index เพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเพิ่มขึ้น 4 บจ. จากปีก่อนหน้า โดยมีน้ำหนักการลงทุนเพิ่มเป็น 3.43% จาก 2.65% มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และไดยกระดับการให้บริการและปรับกฎเกณฑ์ ร่วมกับ ก.ล.ต. One-stop service, การลดขั้นตอนการออก DW และการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
'ด้านการเชื่อมโยงสินค้าและบริการซื้อขายกองทุนกับต่างประเทศ' เช่น การออก DW Hang Seng และ ความร่วมมือระหว่าง FundConnext ร่วมกับ Clearstream และมีร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์อื่นและองค์กรในต่างประเทศ เช่น การจัดทำเว็บไซต์ ASEAN Exchanges website ใหม่, การแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ใน Shenzhen และ Stuttgart รวมถึงความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับภาคตลาดทุนใน CLMV และ IFC (International Finance Corporation)พร้อมสร้าง global recognition ผ่านกิจกรรม 'Embassy @ SET' มีทูตกว่า 30 ประเทศเข้าร่วม และเป็นเจ้าภาพจัดงาน AFSF (Asia Fund Standardization Forum) และ AOSEF (Asian and Oceanian Stock Exchanges Federation)
'ด้านคุณภาพ' มี 20 บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมี 7 บริษัท ได้คะแนนสูงสุดเป็นที่ 1 ของโลก และยังมีการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนลดภาวะโลกร้อน ด้วยโครงการ Care the Whale 'ขยะล่องหน' โครงการต่อเนื่องจากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการ Care the Bear รวมถึงร่วมขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) ผ่านโครงการ SET Social Impact Day: สร้างจุดเชื่อมต่อการทำงานเพื่อความยั่งยืนกับภาคธุรกิจ อีกทั้งร่วมแก้ไขปัญหาทางสังคมร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IOSCO และ WFE สร้างความรู้ทางการเงินผ่านโครงการ 'Ring the Bell for Financial Literacy'