ธปท. จ่อรื้อใหญ่ 'ค่าธรรมเนียม' แบงก์ ครอบคลุม 300 ผลิตภัณฑ์ เล็งออกแนวปฎิบัติไตรมาส 3 นี้
“แบงก์ชาติ” จ่อปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมครั้งใหญ่ ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ราว 200-300 ประเภท โดยเตรียมออกไกด์ไลน์การคำนวณภายในไตรมาส 3 ปีนี้ หวังเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินปฎิบัติ ยึดหลักความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ด้าน “นายแบงก์” ยอมรับกระทบรายได้แน่
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะออกประกาศแนวปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) การคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินทั้งระบบ ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินใช้ในการกำหนดค่าธรรมเนียมอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม
สำหรับแนวปฎิบัติดังกล่าว จะครอบคลุมค่าธรรมเนียมทุกประเภท ในทุกกลุ่มธุรกิจทั้งธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตลอดจนลูกค้ารายย่อย รวมไปถึง การคิดค่าธรรมเนียมทั้งหมดประมาณ 200-300 รายการ หลังจากที่ผ่านมามีการให้แบงก์ปรับค่าธรรมเนียมไปแล้ว 3-4 รายการ ซึ่งถือเป็นการนำร่องก่อนการประกาศใช้แนวทางการคิดค่าธรรมเนียมทั้งระบบของธปท.
“การประกาศใช้แนวทางการคิดค่าธรรมเนียมของธปท. อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร แต่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกค้าและสร้างมาตรฐานให้กับสถาบันการเงินทั้งระบบ ซึ่งการให้แบงก์ปรับค่าธรรมเนียมแล้ว 3-4 ตัวในช่วงต้นปี เหมือนเป็นออเดิร์ฟที่เราออกมาก่อน แต่ภายในไตรมาส 3 เราจะออกมาเต็มรูปแบบครอบคลุมค่าธรรมเนียมทุกประเภท” นางธัญญนิตย์กล่าว
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การให้ธนาคารปรับลดค่าธรรมเนียมทั้งระบบ เชื่อว่ามีส่วนกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ หรือรายได้ของธนาคารแน่นอน แต่กระทบมากน้อยแค่ไหน เป็นส่วนที่แบงก์ต้องประเมินข้อมูลต่อไป
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ธปท.มีการเรียกขอดูข้อมูลต้นทุนค่าธรรมเนียมแต่ละบริการของธนาคารบ้างแล้ว เพื่อดูว่าสมเหตุสมผล สอดรับกับทั้งระบบหรือไม่ เพื่อใช้กำหนดค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องต้นทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเก็บค่าธรรมเนียมของแบงก์ในปัจจุบัน ถือว่าสมเหตุสมผลอยู่แล้ว เพราะหากแบงก์เก็บค่าธรรมเนียมเกินควร ไม่สอดคล้องกันต้นทุน ก็จะเจอกลไกตลาด ที่มีการแข่งขันค่าฟี ซึ่งเหล่านี้ทำให้ค่าฟีที่คิดค่อยๆปรับลดลงอยู่แล้ว
“เราเชื่อว่าหากให้ปรับค่าฟีลงอีก มีผลกระทบต่อแบงก์แน่นอน แต่ก็ต้องดูว่ากระทบแค่ไหน ค่ะธรรมเนียมอะไร ไกด์ไลน์ที่ออกมาเข้มขนาดไหน ระยะเวลาปรับตัว เพื่อให้แบงก์ปรับตัวเข้ากรอบกติกาต่างๆมีหรือไม่ เพราะหลายเรื่องมีต้นทุน มีระบบที่ต้องเตรียมพร้อม ต้องทำความเข้าใจกับลูกค้า แต่อย่าลืมว่า มีอีกหลายบริการที่วันนี้แบงก์ไม่เก็บค่าบริการ และไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะลุกขึ้นมาเก็บด้วย ดังนั้นก็ต้องมีไปถั่วเฉลี่ยกับตัวที่เก็บได้ด้วย อันนี้จะทำอย่างไร”
นายฟิลิป แทน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ธนาคารพร้อมปฏิบัติตามแนวทางและกฏระเบียบของธปท. โดยในภาพรวมอาจไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารมากนัก เนื่องจากเกียรตินาคินเป็นธนาคารขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามธนาคารอาจต้องใช้เวลาในการปรับระบบการคำนวณค่าธรรมเนียมใหม่ให้สอดคล้องกับแนวทางที่ธปท.กำหนด และหากดูรายได้ค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นส่วนน้อยของค่าธรรมเนียมทั้งหมดของธนาคาร
ด้านนางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่ธปท.ให้มีการปรับค่าธรรมเนียมทั้งกระดาน เพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้นนั้น เชื่อว่ามีผลกระทบต่อธนาคารแน่นอน แต่กระทบขนาดไหนนั้น ธนาคารอยู่ระหว่างการประเมินภาพรวมต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า จะไม่ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมหรือค่าฟีของธนาคารติดลบแน่นอนในปีนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดอยู่แล้ว เช่นค่าธรรมเนียมการชำระคืนก่อนกำหนดที่เรียกว่า Prepayment Fee ที่มีการคิดจากวงเงินคงค้างไม่ใช่วงเงินเดิม แต่ส่วนที่ต้องปรับการคิดค่าธรรมเนียมมากขึ้น เช่น การคิดดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ สำหรับหนี้ที่เป็นเทอมโลน เอสเอ็มอี สินเชื่อบ้านต่างๆ ที่ต้องพิจารณาใหม่ เพื่อให้เหมาะสมมากขึ้น
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า หากดูสถิติค่าธรรมเนียมของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ สิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีราว 29% หรือ 1.91 แสนล้านบาท หากเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยที่มีราย 71% หรือ 4.8 แสนล้านบาท และหากดูรายได้ค่าธรรมเนียมตามหมวดหมู่พบว่า 20.5% เป็นค่าธรรมเนียมจากการขายประกันกองทุน ส่วนอีก 20% คือ ค่าธรรมเนียมในส่วนบัตรเครดิต 18.4% ค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและทวงหนี้ 18.3% ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต และ 10.3% เป็นค่าบริการโอนเงิน จ่ายบิลเป็นต้น
ทั้งนี้หากดูสถิติค่าธรรมเนียมของ 5 แบงก์ใหญ่ พบว่า แบงก์ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมมากที่คือ กสิกรไทยราว 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 33% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ 30% หรือ 3.9 หมื่นล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ 28% หรือ 3.9 หมื่นล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 28% หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท และกรุงไทยที่ 25% หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท
นายนริศ กล่าวว่า ภายใต้นโยบายของธปท.ที่ให้แบงก์มีการปรับค่าธรรมเนียมให้สมเหตุสมผลมากขึ้น เชื่อว่าจะมีผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและทวงหนี้ที่อาจเห็นค่าธรรมเนียมส่วนนี้ของแบงก์ปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงค่าธรรมเนียมค่าบริการบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มเช่นกัน