ลดดอกเบี้ยแบบไหน ช่วย SME ได้มากกว่า
หลังจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง จนอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง ซึ่งหากธนาคารต้องการมุ่งเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จะลดดอกเบี้ยแบบไหนได้บ้าง
นับเป็นก้าวประวัติศาสตร์ของประเทศไทยนะครับ ที่เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน ในการประชุมครั้งแรกของปีได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% ลงเป็น 1.00% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ไปแล้ว การลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ถือเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 3 แล้วจากในช่วง 6 เดือนล่าสุด ทั้งที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ไม่ได้มีการขยับลดลงเลยแม้แต่ซักครั้งเดียวในช่วงเวลา 4 ปีก่อนหน้านี้
ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่า เหตุใดธนาคารแห่งประเทศไทยถึงได้เห็นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกของปี ซึ่งผมอยากขออธิบายว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีแนวโน้มต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงถึง 3 ปัจจัยหลัก ทั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ปัญหาการล่าช้าของงบประมาณรัฐ และ วิกฤตภัยแล้ง ที่ต่างล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรอบด้านครับ
ปัจจัยหลักที่กระทบเศรษฐกิจไทยที่ไม่พูดถึงไม่ได้คงเป็นเหตุการณ์ใหญ่ตั้งแต่ช่วงต้นปีอย่างการระบาดของไวรัสโคโรน่า ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทยในภาคการท่องเที่ยวอย่างหนัก ผลกระทบของการแพร่ระบาดในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งการระบาดของไวรัสอื่นๆอย่าง SARS ในช่วงปี 2546 เป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงไป การท่องเที่ยวของไทยเติบโตมากขึ้นมากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะในการเติบโตของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ประกอบทั้งการระบาดของไวรัสในครั้งนี้อยู่ในช่วงเวลาก่อนเทศกาลตรุษจีน อันเป็นช่วงการท่องเที่ยวหลักของชาวจีนในช่วงไตรมาสแรก ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยของไวรัสโคโรน่านั้นจึงมีความรุนแรงพอสมควร
นอกจากนี้ ผลกระทบต่อเนื่องนอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยว คือภาคการส่งออกไปจีนในไตรมาสแรกที่มีแนวโน้มลดลง จากการประเมินเบื้องต้น วิกฤติไวรัสส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกสินค้าไทยเสียหายรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2563 จะลดลงมาอยู่ที่ 38.7 ล้านคน ซึ่งทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจลดลง 1 แสนล้านบาท ในส่วนของการส่งออก ยอดการส่งออกสินค้าไปจีน ซึ่งถือเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของไทยจะลดลงมาประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาพรวมการส่งออกไทยในปีนี้ เติบโตลดลงเหลือ 0.6% จากการคาดการณ์เดิมที่ 1.2% ครับ
ปัจจัยอีกสองปัจจัยที่เหลือล้วนเป็นปัจจัยภายในประเทศ ทั้งความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 ที่น่าจะกระทบการลงทุนภาครัฐ ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีที่แล้ว โดยเติบโตเพียง 2% ซึ่งการลงทุนภาครัฐที่ต่ำลงย่อมส่งผลถึงการลงทุนเอกชนต่อเนื่องไปด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มสูงที่จะเผชิญกับวิกฤตภัยแล้ง ที่ส่งผลต่อรายได้ภาคเกษตร และกดดันการบริโภคภาคเอกชนอันเป็นสัดส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเกินกว่าครึ่ง ให้มีแนวโน้มชะลอลง จาก 3 ปัจจัยลบที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในทุกด้าน ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวลดลง เหลือเพียง 1.7-2.1% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี
ด้วยอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง ซึ่งผลของการส่งผ่านนโยบายในครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง ซึ่งหากธนาคารต้องการมุ่งเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง การลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย MRR เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ใช้อ้างอิง ในปัจจุบันยอดคงค้างสินเชื่อของภาคธุรกิจ SME มีมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 46% ของยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ดังนั้นผลของการลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% จะทำให้ผ่อนเบาภาระหนี้รวมของธุรกิจ SME ลดลงไป มากถึง 8.2 พันล้าน ชึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ SME ได้อย่างตรงจุดครับ