‘หุ้นโรงกลั่น’ ทำจุดต่ำสุด โบรกฟันธงอีก 3 เดือน ‘ฟื้น’
‘ธุรกิจโรงกลั่น’ นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ราคาหุ้นปรับตัวลง "รุนแรง" กว่าภาพรวมของตลาด โดยนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2563 มา ราคาหุ้นโรงกลั่นหลัก 5 ราย
ได้แก่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และบมจ.เอซโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 13% เทียบกับดัชนี SET ที่ปรับตัวลงเกือบ 3%
ขณะราคาหุุ้นวานนี้(11ก.พ.) ยังคงปรับลดลงรุนแรง หลังสหรัฐแถลงว่าจะมีการขายสต็อกน้ำมันดิบทางยุทธศาสตร์ออกมา กดดันราคาน้ำมันดิบและค่าการกลั่นปรับตัวลดลง รวมถึงคาดงบไตรมาส 4 ปี 2562 อาจออกมาไม่ดี จึงทำให้มีแรงขายทำกำไร หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น10 % หนึ่งในปัจจัยลบที่เข้ามากดดันล่าสุดคือ การระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในระยะถัดไป
เอกรินทร์ วงษ์ศิริ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เราได้ทำการศึกษาข้อมูลราคาน้ำมันอากาศยาน และ Jet fuel crack spread ในปี 2546 ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ SARS นั้น พบว่า ทั้งราคาและส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ (crack spread) ของน้ำมันอากาศยาน จะลดลง 40% ถึง 60% ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน นับจากเริ่มมีการระบาด
นอกจากนี้ ผลยังส่งผลกระทบไปยังราคาน้ำมันดีเซลและ diesel crack spread ด้วยเช่นกัน จึงประเมินหุ้นกลุ่มโรงกลั่นจะได้รับผลกระทบบนสมมติฐานที่ crack spread ลดลงประมาณ 6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้หุ้นกลุ่มโรงกลั่นอย่าง TOP, SPRC และ BCP จะยังมีความเสี่ยงโดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มโรงกลั่นไปก่อน 2-3 เดือน หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะได้รับการควบคุมและไม่ส่งผลรุนแรง
ด้าน บล.บัวหลวง ระบุว่า เราได้ศึกษาผลกระทบของการเกิดโรคระบาดในอดีตต่อกลุ่มโรงกลั่นสำหรับ 2 เหตุการณ์ คือการระบาดของโรค SARS ในปี 2546 พบว่า ค่าการกลั่น (GRM) ปรับตัวลดลง 3 เดือน แต่ราคาหุ้นไม่ได้รับผลกระทบ และช่วงโรค MERS ระบาดในปี 2558 พบว่า ค่าการกลั่นปรับตัวลดลง 4 เดือน และราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเกิดโรคระบาด 3 – 4 เดือน ในทั้ง 2 ครั้ง ค่าการกลั่นมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ส่วนในครั้งนี้ ค่าการกลั่นมีการปรับตัวลงมากว่า 91% จากปีก่อน และ 83% จากไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับราคาหุ้นในกลุ่มที่โดนถล่มลงมาอย่างหนัก ซึ่งเรามองว่าได้สะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว และคาดจะเห็นราคาหุ้นรวมถึงค่าการกลั่นกลับมาฟื้นตัวได้ในอีก 3 - 4 เดือนข้างหน้านี้ หากรูปแบบเหมือนกับเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของหุ้นโรงกลั่นทั้ง 5 บริษัท ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาต่อเนื่องในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวได้โดดเด่นกว่าตลาด โดยดัชนี SET ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 0.73% นับแต่วันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่หุ้นโรงกลั่นทั้ง 5 บริษัท ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยถึง 8%
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) เปิดเผยถึงปัจจัยบวกที่เข้ามาช่วยหนุนการฟื้นตัวล่าสุด ซึ่งเป็นผลจากแผนการหยุดผลิตแก๊สโซลีนของโรงกลั่นรายใหญ่ของเกาหลีใต้ S-Oil โดยหันไปเน้นการผลิตน้ำมันซัลเฟอร์ต่ำแทน เนื่องจากสเปรดกำไรดีกว่า crack spread ที่ต่ำกว่า 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับอุปสงค์ตามเกณฑ์ IMO2020 ที่เริ่มใช้ไปแล้วเมื่อ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา
เราคาดว่า แผนนี้จะทำให้อุปทานของแก๊สโซลีนในตลาดเอเชีย ลดลง 1.3 แสนบาร์เรลต่อวัน และอาจดึงดูดให้โรงกลั่นอื่นๆ ทำตามได้อีกด้วย ฉะนั้น การนำดีเซลล์มาผสมน้ำมันซัลเฟอร์สูงจะลดลง ทำให้อุปสงค์พิเศษเหล่านี้จะลดลงไปด้วย จึงช่วยให้โรงกลั่นที่มีสัดส่วนแก๊สโซลีนสูง จะได้ประโยชน์มากสุดจากประเด็นนี้ ซึ่งเราประเมินว่า SPRC, ESSO และ TOP จะได้ประโยชน์มากสุดเรียงตามลำดับ