ยอมรับและแก้ไข เศรษฐกิจไทยยังไปได้
ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน รัฐบาลต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทที่มีแผนการลงทุนในปีนี้ เร่งมือให้เร็วขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีแรก เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้แน่นิ่ง
ชัดเจนแล้วว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวไม่ถึง 2% ขณะเดียวกันไตรมาส 1 ปี 2563 มีแนวโน้มสาหัสกว่า จากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้น งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังไม่ออก ล่าสุดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ฉุดรายได้ภาคการท่องเที่ยวช่วงต้นปีและอาจลากยาวทั้งปีให้หายวับไปกับตา ภาครัฐ เอกชนและคนไทยอาจต้องยอมรับความจริงว่าถ้าไม่แก้ไขให้ทันท่วงทีเศรษฐกิจปีนี้ไม่พ้นเข้าขั้นโคม่า อาจเป็นที่มา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แย้มสัญญาณร้ายเศรษฐกิจปรากฏชัด จีดีพีไตรมาสแรกส่อแววโตไม่ถึง 1%
สอดคล้องกับข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ยอมรับว่าปีเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวต่ำกว่าปีที่ผ่านมา จะต่ำมากหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะกินเวลานานแค่ไหน เบื้องต้นอาจขยายตัวต่ำกว่า 2% ภายใต้เงื่อนไขตัวเลขรายได้นักท่องเที่ยวที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อาจลดลง 5 ล้านคน ทำให้ไทยสูญเสียรายได้ราว 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยราว 1.5% จากที่เคยประมาณการ 2.8% ก็จะไม่ถึง 2% อย่างแน่นอน
ความเคลื่อนไหววันนี้ (14 ก.พ.2563) หน่วยงานภาครัฐและเอกชนประกอบด้วยกระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะประชุมร่วมกันที่กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าภาพ มีนายสมคิด นั่งหัวโต๊ะการประชุมด่วนครั้งนี้ เพื่อหารือมาตรการพิเศษช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบโรคระบาดมากที่สุด
เป้าหมายการประชุมคือ การออกแพ็คเกจรองรับและเยียวยาผู้ใช้แรงงานภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว ไม่ว่ามัคคุเทศก์ คนขับรถโดยสาร พนักงานโรงแรม เป็นความเคลื่อนไหวที่นายสมคิดเห็นว่าจำเป็นหลังจากผ่านไป 1 เดือนกว่าๆ ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มแผ่วให้เห็น สอดคล้องกับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของการค้าไทยประจำเดือนมกราคมพบว่า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 การออกมาตรการรองรับและเยียวยาอาจไม่เพียงพอ หนทางชดเชยที่นายสมคิดดำเนินการคือสั่งให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรับแผนการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติที่เกิดจากปัจจัยโรคอุบัติใหม่ที่ไม่มีใครคาดคิด
เราเห็นว่าการสั่งให้ผู้บริหาร ปตท.เร่งรัดลงทุนตั้งแต่ช่วง 6 เดือนแรกของปี ให้ได้อย่างน้อย 1.5 แสนล้านบาท ช่วยชดเชยเม็ดเงินท่องเที่ยวที่หายไป ทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ถ้าให้ดีผู้บริหารรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ต้องสนองนโยบายดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันกับ ปตท. เรายังเห็นว่าในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน รัฐบาลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทที่มีแผนการลงทุนในปีนี้ เร่งมือให้เร็วขึ้นตั้งแต่ครึ่งแรกของปี เพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศ พยุงเศรษฐกิจไม่ให้แน่นิ่ง ความสามัคคีเป็นสิ่งที่คนไทยอยากเห็น เพื่อประคองให้เศรษฐกิจของประเทศ ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตนี้ ไปให้ได้