เครื่องยนต์ ศก.ไทยรวนหนัก 'ส่งออก ท่องเที่ยว บริโภค' วูบ
เปิดมายังไม่ถึง 2 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยส่ออาการรวนหนัก ทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภค จากปัจจัยลบรุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า โรคระบาด การเมืองภายในประเทศ รวมถึงความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ 2563
เปิดมายังไม่ถึง 2 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยก็ตกอยู่ในอาการรวนหนัก ทั้งจากหลากสถานการณ์รุมเร้าเดิมๆ ที่ยังตามมาปั่นป่วนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ สงครามการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน แม้จะอยู่ในอาการพักรบ แต่ประเมินได้ว่าไม่น่าจะจบลงโดยง่าย ฉุดยอดส่งออกของไทย บวกกับสถานการณ์การเมืองไทยที่เป็น "รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" ไม่อาจเรียกได้ว่ามีเสถียรภาพได้เต็มปาก
ขณะที่ปัจจัยแทรกซ้อนสำคัญที่ซ้ำเติมเข้ามา คือ ความล่าช้าในการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ทำให้ในช่วงที่ผ่านมารัฐไม่อาจขับเคลื่อนนโยบายสำคัญๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ปัญหาภัยแล้ง อีกปัญหาสำคัญคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โรคโควิด-19) จากจีนไปค่อนโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ขับเคลื่อนอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ราว 20% ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ทำให้ ณ ขณะนี้ เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยอยู่ในอาการซวนเซ ไม่เพียงภาคท่องเที่ยว เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ย่อมส่งผลกระทบต่อฐานการผลิต ส่งออกของไทย ฐานที่เป็นหนึ่งในซัพพลายเชนผลิตสินค้าป้อนโลก ขณะที่การลงทุนภาครัฐและเอกชน การบริโภคภาครัฐ เอกชน อยู่ในภาวะชะลอตัว
ล่าสุดทำให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทย จากระดับ 2.7-3.7% ลงมาเหลือ 1.5-2.5% โดยมีค่ากลางที่ 2% สะท้อนชัดถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากตัวแปรทั้งภายในและภายนอกประเทศดังกล่าว ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีมติเอกฉันท์ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1 % ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และกระตุ้นการลงทุนไปในที ขณะเดียวกันภาครัฐโดยกระทรวงการคลังยังส่งสัญญาณที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในช่วงเดือนมี.ค.ประคองเศรษฐกิจไทย รวมถึงมีแนวคิดที่จะนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการประมูล 5 จีรวมกว่า แสนล้านบาทมาใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในปีนี้ ซึ่งจะมีส่วนในการดันเศรษฐกิจ
เราหวังว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่จะออกมารอบนี้ จะคิดอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการ "ลดต้นทุน" การประกอบการของภาคธุรกิจ ในภาวะที่ผู้คนในประเทศและต่างประเทศยังรัดเข็มขัด กำเงินสดไว้ในมือ ไปพร้อมกับการแก้ไข “ปัญหาสภาพคล่อง” ในระบบธุรกิจ และผู้บริโภค ลดการพุ่งขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่กำลังก่อตัวจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว อาทิ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว และโรงแรม ที่เหลือก็ได้แต่ภาวนาขอให้การระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายลงโดยเร็ว กลายเป็น "สัญญาณบวก" ของเศรษฐกิจไทยของแท้ ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่การแก้ไขปัญหาระยะยาวแน่นอน คือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หันมาให้น้ำหนักเศรษฐกิจจากภายใน ไม่งั้นโลกจาม ไทยก็ติดหวัดแบบนี้อยู่ร่ำไป