ไทยออยล์หวังปี 63 ธุรกิจโต ห่วงไวรัสโคโรน่า กดราคาน้ำมัน
“ไทยออยล์” หวังมาร์จินธุรกิจปิโตรเคมี ปี 63 ดีขึ้นจากปี 62 แม้มีความเสี่ยงจากโรค "โควิด-19" กดราคาน้ำมันดิบต่ำลง
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้ คาดว่า มาร์จิ้นของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี จะดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่เผชิญกับปัจจัยลบหลายเรื่องทำให้ส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าการกลั่นก็อยู่ในระดับต่ำ ช่วงไตรมาส 4 ปี 62 แต่เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มตัวรับกับเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% มีผลตั้งแต่ต้นปี 63 ทำให้ค่าการกลั่นดีขึ้น
โดยขณะนี้ บริษัท ได้เตรียมหลายทางเลือกเพื่อให้พร้อมรับมือกับทิศทางของตลาดที่เปลี่ยนไป เช่น อาจกลั่นน้ำมันกำมะถันต่ำ ตามเกณฑ์ของ IMO เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ หรือ ผลิตน้ำมันกำมะถันสูงที่ราคาต่ำ โดยไม่สนใจเกณฑ์ของ IMO ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่ำลง เพราะใช้น้ำมันดิบที่มีกำมะถันสูง ก็อาจเป็นการปรับให้ยืดหยุ่น เพื่อสร้างโอกาสด้านความสามารถในการกลั่น และไทยออยล์เองก็เป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถปรับตัวได้เร็ว ซึ่งบริษัท คาดว่า ในไตรมาส1 ปีนี้ จะมีอัตราการกลั่นมากกว่า 110% ซึ่งเป็นภาวะปกติที่ดำเนินการกลั่นน้ำมันเต็มที่
“ผลการดำเนินงานปีนี้ ยังขึ้นอยู่กับมาร์จิ้น ซึ่งยอมรับว่าอาจมีผลกระทบทางอ้อมบ้างหากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการน้ำมันลดลงและทำให้เศรษฐกิจไม่ได้เติบโตเหมือนที่คาดก็จะกระทบต่อมาร์จิ้นในที่สุด”
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ขณะนี้ ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ชัดเจน แม้ว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบที่สะท้อนผ่านราคาน้ำมันดิบปรับลดลงบ้าง ซึ่งธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องกับมาร์จิ้นเป็นหลัก และการที่ราคาน้ำมันลดลงก็จะส่งผลต่อต้นทุนน้ำมันให้ลดลงด้วย โดยบริษัทคาดหวังว่ามาร์จิ้นหลังจากนี้จะดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงกลั่นต่างปรับตัวได้เร็ว ขณะที่การแพร่ระบาดของ โควิด-19 น่าจะเริ่มคลี่คลายในเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เริ่มส่งสัญาณอาจปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมัน แม้หากดำเนินการจริงก็อาจเป็นปัจจัยที่ไม่ได้หนุนมาร์จิ้นโดยตรง แต่อาจจะช่วยประกอบให้สถานการณ์อยู่ในภาวะสมดุลกันได้ ส่วนผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของบริษัท ขณะนี้สถานการณ์ยังคงเดิมที่มาร์จิ้นถูกกระทบจากกำลังการผลิตใหม่ในจีนที่จะเพิ่มเข้ามาในปีนี้
โดยในปีนี้ บริษัท ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่มีมูลค่าการลงทุน 4.8 พันล้านดอลลาร์ ที่เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 66 โดยปีนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 6 หมื่นล้านบาท