ธปท. 'ไขกุญแจ' เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ
ผลิตภาพ หรือ “productivity” นอกจากจะเป็นตัวกำหนดศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคตแลว ยังมีความสำคัญต่อความอยู่ดีกินดีของทุกคนในอนาคต เพราะการเพิ่มประสิทธิภาพ หมายถึง ความสามารถในการทำงานได้ดีขึ้น เก่งขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรเท่าเดิม
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีปัญหาด้านผลิตภาพในหลายมิติ โดย “วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกฐาพิเศษเรื่อง “Productivity หัวใจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย” ในงานสัมมนาครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ วานนี้ (19ก.พ.) ระบุว่า ปัญหาด้านผลิตภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่มี 5 ด้าน ประกอบด้วย
1.ผลิตภาพโดยรวม หรือ total factor of productivity (TFP) ของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างต่ำและไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ในขณะที่ประเทศอื่นพัฒนาการไปเร็วกว่ามาก เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผลิตภาพของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงมาเลเซีย และสูงกว่าอินเดียประมาณ40% แต่ปัจจุบันมาเลเซียสูงกว่าไทยถึง30% ขณะที่ผลิตภาพของอินเดียปรับมาเทียบเท่าของไทย
2.แรงงานถึง 1 ใน 3 ของแรงงานไทย 38 ล้านคน อยู่ในภาคการเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำและเติบโตชะลอลง ผลิตภาพภาคการเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจีน อินโดนีเซีย อินเดีย หรือเวียดนาม การเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีผลิตภาพสูงกว่าทำได้ยาก เพราะขาดการพัฒนาทักษะที่จำเป็น หากเดินต่อไปแบบนี้ จะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น สร้างจุดเปราะบางที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพทางสังคมได้
3.ช่องว่างผลิตภาพระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการ SME กว้างขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมพบว่า สัดส่วนของผลิตภาพแรงงานในธุรกิจขนาดใหญ่สุด 10% เทียบกับธุรกิจขนาดเล็กสุด 10 %เพิ่มขึ้นจาก 3.1 เท่าในปี 2539 เป็น 7.7 เท่าในปี 2554ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการ SMEไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ เกิดปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กรุนแรงขึ้น
4.ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับของทางการที่ซ้ำซ้อนหรือล้าสมัย งานวิจัยของ TDRI พบว่าทุกวันนี้ มีกฎระเบียบข้อบังคับกว่า 1แสนฉบับ และกฎระเบียบจำนวนมากไม่สอดคล้องกับบริบท ของเศรษฐกิจในโลกปัจจุบันและโลกใหม่ที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ
และ 5.นโยบายของภาครัฐหลายเรื่องที่สะสมต่อเนื่องมาจากอดีตไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพ ของผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ เช่น นโยบายที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลิตภาพในหลายอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำ เพราะผู้ประกอบการที่มีอำนาจผูกขาดไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนา ขณะทีนโยบายให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปเรื่อย ๆ ทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจ ไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นหรือเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า
ปัญหาผลิตภาพต่ำและเพิ่มขึ้นช้าของเศรษฐกิจไทย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังโดยเร็วแล้ว จะยิ่งส่งผลรุนแรงขึ้นในอนาคตด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1. การแข่งขันในตลาดโลกจะทวีความรุนแรงขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้ประเทศคู่แข่งพัฒนาผลิตภาพอย่างก้าวกระโดด เช่นในอดีตเรามองสิงคโปร์ จีน มาเลเซีย เป็นคู่แข่งสำคัญ แต่วันนี้ประเทศเหล่านั้นก้าวไปไกลกว่าเรามาก แม้แต่เวียดนาม มีพัฒนาการด้านผลิตภาพหลายเรื่องที่เร็วกว่าเรา การขาดการพัฒนาผลิตภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภาพที่อาศัยวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นพื้นฐาน จะยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ
2.การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยได้ทำให้วัยทำงานของไทยลดลงต่อเนื่อง 6 ปีแล้ว และจะลดลงเร็วขึ้นอีกในอนาคต หากไม่พัฒนาผลิตภาพเพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่ลดลง รายได้และคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวมย่อมลดลงตามไปด้วย 3. สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ความเสี่ยงในการผลิตเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังที่ได้เห็นจากปัญหาน้ำท่วม หรือ ภัยแล้ง ที่มีความถี่สูงขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้มีผลเฉพาะต่อการผลิตในภาคเกษตรเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้วย
การเพิ่มผลิตภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้คนไทย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ลูกจ้าง แรงงาน หรือผู้ประกอบธุรกิจ มีรายได้สูงขึ้น มีเงินออมเพิ่มขึ้น สามารถลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง และรับมือเหตุการณ์หรือภัยพิบัติในอนาคตได้ดีขึ้น
โดยมี5 แนวทางสำคัญ ที่มีนัยต่อการเพิ่มผลิตภาพ คือ 1. การเพิ่มผลิตภาพต้องทำอย่างทั่วถึง เน้นผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานทักษะต่ำที่ขาดโอกาสพัฒนาผลิตภาพ แนวทางในการเพิ่มผลิตภาพของไทยจึงต้องไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ต้องเน้นการพัฒนาทักษะแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีทักษะต่ำ การเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรและ SME ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานของคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งต้องพยายามกระจายประโยชน์ที่ได้รับจากการเพิ่มผลิตภาพในภาคธุรกิจให้ไปถึงแรงงาน ต้องดูแลไม่ให้ผลประโยชน์กระจุกอยู่กับเจ้าของกิจการหรือเจ้าของทุนเท่านั้น เพราะการเพิ่มผลิตภาพโดยไม่คำนึงถึงการกระจายโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน จะก่อให้เกิดช่องว่างของการกระจายรายได้ที่กว้างขึ้น
2.ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นหัวใจของการเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะผลิตภาพของภาคเกษตรและผู้ประกอบการ SME การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และการเข้าถึงสมาร์ทโฟน ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SME ได้หลายด้าน เพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ เป็นโอกาสให้ SME ที่ปรับตัวได้เร็วเติบโตก้าวกระโดด ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมออนไลน์ ช่วยให้เกิด sharing economy อย่างไรก็ตาม ต้องระวังไม่ให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นำไปสู่การผูกขาดกินรวบโดยผู้ประกอบการบางราย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าถึงและใช้เทคโนโลยีได้ดีกว่า เร็วกว่ารายอื่น
3. ภาครัฐต้องเร่งลดอุปสรรคต่าง ๆ เพิ่มผลิตภาพในกระบวนการทำงานของภาครัฐ ส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างธุรกิจเอกชน และรัฐวิสาหกิจ พร้อมจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ รวมถึงระบบนิเวศด้านข้อมูลและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการทำงานของภาครัฐด้วย ต้องไม่ลืมว่าภาครัฐเป็นแหล่งจ้างงานของคนไทยกว่า 3.5 ล้านคน การเพิ่มผลิตภาพของภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทย
4. ภาครัฐต้องสร้าง “ระบบแรงจูงใจ” ให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจและประชาชน ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพ แม้บางครั้งภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการระยะสั้นเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่ต้องแยกออกจากทิศทางยุทธศาสตร์ที่ต้องส่งเสริมต่อเนื่องในระยะยาว หากมีการให้เงินอุดหนุนควรมีเงื่อนไขหรือแรงจูงใจเพิ่มผลิตภาพด้วย
และ 5. เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด คือตระหนักว่าการเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้ในทุกระดับ และไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่ต้องลงทุนสูงเท่านั้น หลายกรณีการเพิ่มผลิตภาพมีต้นทุนต่ำ เมื่อเท่ียบกับประโยชน์ที่ได้รับ เช่นเกาหลีใต้ทบทวนกฏข้อบังคับกว่า 11,000 ชิ้น ลดต้นทุนต่อธุรกิจได้ถึง 4.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ใน 10 ปี เป็นต้น