ปลดล็อกข้อพิพาท CK-BEM ลุยงานประมูล
ระยะเวลากว่า 20 ปี ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ต่อหน่วยงานภาครัฐเป็นอันยุติทั้งหมด 17 คดี มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท
ด้วยการแลกกับการยืดอายุสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน เป็นมูลค่า 58,873 ล้านบาท
โดยเป็นผลทำให้สัมปทานทางพิเศษ (ทางด่วน) อุดรรัถยา และทางด่วนศรีรัช โครงข่ายนอกเมือง (ทางด่วนขั้นที่ 2) โครงข่ายนอกเมือง (ทางด่วนขั้นที่ 2 หรือ Sector ABC) ซึ่งหมดอายุสัมปทาน 27 ก.พ. 2563 ออกไป จนถึง 31 ต.ค. 2578
ขณะที่ ทางด่วนส่วน D และ C จะถูกรวมเข้าไปในการชดเชยด้วยการยืดสัมปทานอีก 8 ปี 6เดือน และ 9 ปี 1เดือน ตามลำดับ ทำให้ทั้ง 3 เส้นทาง จะไปสิ้นสุดสัมปทานพร้อม ๆ กันในเดือน วันที่ 31 ต.ค. 2578 เช่นกัน
รวมทั้งปรับสูตรการขึ้นค่าผ่านทางใหม่ โดยให้ปรับขึ้นทุกๆ 10 ปี ในอัตรา 10 บาท ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2573 และ BEM ไม่ต้องก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น ช่วงประชาชื่น-อโศก วงเงินลงทุนกว่า 30,000-40,000ล้านบาท
ปัจจัยดังกล่าวล้วนแต่เป็นข่าวบวกให้ BEM ที่รอกันข้ามปี แม้ว่าจะถูกปรับลดอายุสัปทานจากเดิม 37 ปี เหลือ 15 ปี 8 เดือน แต่ในอนาคตระยะเวลาอีก 10 ปี 2 เดือนอาจจะสามารถต่อรองและต่อสัมปทานได้อีก รวมทั้งยังปลดล็อกให้กับหุ้น BEM ได้มากหลังจากที่ราคาหุ้นถูกกดดันจากประเด็นดังกล่าว แม้ว่ารายได้ของ BEM ถึง 60% มาจากรายได้ทางด่วนแต่ด้านการเติบโตมาจากธุรกิจรถไฟฟ้า ล่าสุดจำนวนผู้โดยสารเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 3.8 แสนเที่ยวต่อวัน จากการเปิดให้บริการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายครบเรียบร้อยจากหลักสอง – ท่าพระ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารถึง 5 แสนเที่ยวต่อวันในปีนี้หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 25%
นอกจากจะเป็นผลบวกต่อ BEM แล้วต้องรวมไปถึง CK ในในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งทั้งสองบริษัทกำลังเตรียมตัวลุยงานประมูลภาครัฐชิ้นสำคัญและจะเป็นจุดทำให้ทั้งกลุ่มเติบโตต่อเนื่อง 2-3 ปี ข้างหน้า คือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า 128,128 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปี 2563 และก่อสร้างปี 2564
ด้วยระยะทาง 35.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานีใต้ดินและตามการก่อสร้างมีเส้นทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือว่ากลุ่ม CK มีความเชี่ยวชาญที่สุดในการก่อสร้างขุดเจาะและงานอุโมงค์ ที่สำคัญเส้นดังกล่าวยังเป็นการเชื่อมกับเส้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอีกด้วย ทำจึงทำให้มีการวิเคราะห์ว่า CK และ BEM มีโอกาสชนะการประมูลมากกว่า 50% จากความชำนาญงานก่อสร้างและจัดการต้นทุนได้ดีกว่าคู่แข่ง
ขณะเดียวกันยังมีงานประมูลที่น่าสนใจ รถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง เด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ มูลค่า 71,700 ล้านบาท เส้นทางบางไผ่-นครพนม 54,000 ล้านบาท และ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 3 เส้นทาง ประกอบไปด้วยรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 6,000 ล้านบาท ตลิ่งชั่น–ศาลายา 9,900 ล้านบาท และ ตลิ่งชั่น-ศิริราช 4,600 ล้านบาท ปิดท้ายที่เส้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน- ราษฎร์บูรณะ ที่กำลังอยู่ระหว่างจัดทำเกณฑ์การประมูล
หากเป็นไปตามคาดจะทำให้สถานการณ์ของ CK กลับมาเติบโต เพราะตัวเลขงานในมือ หรือ Backlog สิ้นปี 2562 ออกมาต่ำสุดในรอบ 9 ปี อยู่ที่ 36,000 ล้านบาท จากปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 72,000 ล้านบาท และ 49,000 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2562 ของ CK ออกมาลดลงหนัก
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดกำไรไตรมาส 4 ปี 2562 เพียง 40 ล้านบาท ลดลง 89% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากงานในมือที่ต่ำกดดันผลประกอบการปี 2563 ต่อแต่ปีนี้ คาดจะได้งานรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเข้ามาเติม Backlog ในปีนี้ และการซื้อหุ้นคืนทำให้พยุงราคาหุ้นเอาไว้ คงเป้าหมาย โดยวิธี Sum of the Part เท่ากับ 25 บาท