'บีโอไอ' หนุนทุนไทยลุยไฮเทค เผย 5 ปีลงทุนกว่า 1.6 ล้านล้าน

'บีโอไอ' หนุนทุนไทยลุยไฮเทค เผย 5 ปีลงทุนกว่า 1.6 ล้านล้าน

บทบาทของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ มักถูกเข้าใจว่า คือหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริมบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมีบทบาทที่สำคัญว่าด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมและการลงทุนของประเทศด้วย

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าในความเป็นจริงบีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนกับผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมาก และมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าต่างชาติเสียอีก และโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของไทยส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนระดับเอสเอ็มอี 

ส่วนสิทธิประโยชน์ โครงการไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือต่างชาติโดยทั่วไปจะได้รับสิทธิประโยชน์ไม่แตกต่างกัน บีโอไอกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นเอสเอ็มอีที่มีหุ้นไทยข้างมาก ก็จะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง 5 แสนบาท และยังอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศได้บางส่วนเพื่อลดต้นทุน

อีกทั้งยังจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมพิเศษคือ วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของโครงการทั่วไปอีกด้วย เพื่อเป็นแต้มต่อให้เอสเอ็มอีไทย

ทั้งนี้ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่บีโอไอประกาศใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงสิ้นปี 2562 มีโครงการของผู้ประกอบการไทยยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 3,375 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 47% ของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมีมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58% ของทั้งหมด

โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่มีเงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีหุ้นไทยเกินกึ่งหนึ่ง มายื่นขอรับการส่งเสริมมากถึง 2,419 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.1 แสนล้านบาท 

ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านดิจิทัล เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ รองลงมาเป็นกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ และกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ส่วนที่เหลืออีก 956 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นโครงการของคนไทยทั้งสิ้น และโครงการร่วมทุนกับต่างชาติ ซึ่งโดยมากเป็นการร่วมทุนกับ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีนและฮ่องกง ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น การขนส่งทางราง ทางอากาศ ทางเรือ ทางท่อ และศูนย์กระจายสินค้า

รองลงมาเป็นกิจการผลิตไฟฟ้าและประปา อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร กิจการโรงแรมและศูนย์ศิลปวัฒนธรรม กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการแพทย์ และดิจิทัล

ในช่วง 5 ปีภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม บีโอไอพยายามผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ผ่านการให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนที่มีการใช้ทักษะแรงงานที่สูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน มาตรการเหล่านี้ได้เริ่มส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนของผู้ประกอบการไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการลงทุนในกิจการฐานความรู้และกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ยกตัวอย่างเช่น กิจการวิจัยและพัฒนา และกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ในช่วงปี 2558 – 2562 มีคำขอรับการส่งเสริมของบริษัทไทยในสองกิจการนี้จำนวน 76 โครงการ เงินลงทุนรวม 16,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2553 – 2557) ที่มีจำนวน 53 โครงการ เงินลงทุนเพียง 5,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 234% 

ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ เช่น บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งทำวิจัยและผลิตยาชีววัตถุเพื่อทดแทนการนำเข้ายาราคาแพงจากต่างประเทศและส่งออกได้ด้วย

หรือกรณี บริษัท เมติคูลี่ จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่วิจัยและผลิตวัสดุฝังในร่างกายประเภทกระดูกเทียมและแผ่นโลหะดามกระดูกโดยนำเครื่องพิมพ์สามมิติมาใช้ออกแบบและขึ้นรูปวัสดุ อีกรายคือ บริษัท บุญ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตไทยที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม สารเติมแต่งกลิ่นรสจากวัตถุดิบไทยที่ส่งออกไปตลาดโลก

158254816568

อีกกิจการหนึ่งที่มีการลงทุนไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ ดิจิทัล ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมของบริษัทไทย จำนวน 527 โครงการ เงินลงทุนรวม 20,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2553 – 2557) ที่มีจำนวน 314 โครงการ เงินลงทุน 6,645 ล้านบาท

ในขณะเดียวกัน บีโอไอก็มีมาตรการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมให้มีการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ทั้งใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยหรือใช้ระบบออโตเม

ชั่นมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในสถานประกอบการ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ 

โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทไทยมาขอรับการส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 364 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนที่ใช้ในการปรับปรุง 49,300 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2553 – 2557) ที่มีจำนวนเพียง 70 โครงการ เงินลงทุน 16,500 ล้านบาท แสดงว่าผู้ประกอบการไทยมีความตระหนักมากขึ้นถึงความสำคัญของการพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อให้แข่งขันได้ในโลกธุรกิจ

จากนี้ไปบีโอไอจะผลักดันต่อไปคือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างนวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง