เช็คผลกระทบ 'โควิด19-งบล่าช้า-ภัยแล้ง' อะไรฉุดเศรษฐกิจดิ่ง 'มากสุด'
ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา บรรดาศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างกระหน่ำ "ปรับประมาณการเศรษฐกิจ" กันถ้วนหน้า ยังไม่ทันหมดไตรมาสแรก บางแห่งปรับถึง 2-3 รอบ จากประมาณการณ์เดิมเมื่อปลายปี 2562
ล่าสุด ทีมวิจัยเศรษฐกิจธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่ประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเหลือ1.5%
เดิมทีศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 2.5% ภายใต้การท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก แต่ผ่านมาแค่ 2 เดือน ภาพกลับตาลปัตร จากปัจจัยลบที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” หรือ “โควิด-19” ที่มาแบบไม่มีใครคาดคิด ซึ่งปัจจัยหลักๆที่ทำให้ ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯปรับจีดีพีลงในรอบนี้
“สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัย ธนาคารกรุงศรีฯ กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีคลื่นลูกใหญ่ที่จะเข้ามากระทบหลักๆ 3 ปัจจัย ประกอบด้วย ปัจจัยแรก คือ ผลกระทบจากงบเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้าออกไป คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้กลางเดือนมี.ค. หรือช้าสุดปลายเดือนมี.ค.นี้ หากมองไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ ในเดือนก.ย. 2563 มองว่างบลงทุนที่คาดจะเบิกจ่ายได้มีเพียง 2.8แสนล้านบาท หายไป1.5แสนล้านบาท หากเทียบกับโครงการลงทุนภาครัฐทั้งหมดที่คาดจะลงทุนปีงบประมาณนี้ 4.3แสนล้านบาท ซึ่งผลกระทบด้านนี้ทำให้จีดีพีหายไป 0.1%
ปัจจัยที่สอง ที่มีผลกระทบรุนแรงกว่าการลงทุนภาครัฐ คือ โควิด -19 แม้ภายใต้การประมาณการของกรุงศรีฯ วันนี้มองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดจะไม่ยื้ดเยื้อ จะแพร่ระบาดหนักๆเฉพาะเดือนก.พ.-มี.ค. เท่านั้น แต่หลังพ.ค.ไปสถานการณ์จะดีขึ้น อัตราการเสียชีวิตจะลดลง จึงมองว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงไปถึงครึ่งปีหลังของปี 2563
ทั้งนี้ แม้มองว่าการแพร่ระบาดจะคลี่คลายในเร็ววัน แต่ในแง่ของการส่งผ่านผลกระทบไปสู่เศรษฐกิจ ถือว่ามีค่อนข้างมาก ด้านแรกคือกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะวันนี้สัดส่วนที่จีนใช้เงินท่องเที่ยวทั่วโลกมีถึง 20%ของจีดีพี ดังนั้นเมื่อจีนหยุดการท่องเที่ยว รายได้เศรษฐกิจโลกก็หายไปมหาศาล ผลกระทบจะส่งผ่านไปสู่ 3ด้านด้วยกัน คือ กระทบต่อการท่องเที่ยว ธุรกิจซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และ กระทบต่อรายได้ ลามไปสู่ทำให้ความมั่นใจในการบริโภคของคนน้อยลง ดังนั้นมองว่า ด้านนี้มีส่วนกระทบต่อจีดีพีให้หายไป 0.44%
ปัจจัยที่สาม คือ ภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น จากการสต๊อกน้ำไว้ค่อนข้างน้อย น้ำไม่มีเติม จึงทำให้ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หากดูการปลูกพืชหลักในอุตสาหกรรมการเกษตร พบว่าหลักๆคือ ข้าว และมันสำปะหลัง ดังนั้นหากผลกระทบภัยแล้งหยุดแค่เดือน พ.ค.ความเสียหายที่มีต่อภาคเกษตรจะหายไป 2.4หมื่นล้านบาท แต่หากแย่กว่านั้น ลากยาวไปเกินเดือนมิ.ย. ความเสียหายต่อภาคเกษตรจะมีถึง 4.1หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากในสถานการณ์รุนแรงสุด คือภัยแล้งยืดเยื้อคาดกระทบจีดีพีให้หายไปถึง 0.3%
สรุปแล้วจาก 3 ความเสี่ยงในข้างต้น เชื่อว่าจะกระทบต่อการเม็ดเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจลดลง ทำให้จีดีพีหายไปถึง 1% เหลือ 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5% แต่ภายใต้สมมุติฐานดังกล่าว คาดว่า จะมีมาตรการทางการเงิน และการคลังเข้ามาช่วยด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงอีกหนึ่งครั้ง 0.25% เหลือ 0.75% จากปัจจุบันที่ 1% ในการประชุมรอบ 25มี.ค. 2563นี้ รวมถึงมาตรการด้านการคลังที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ทางกลับกันหากการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เพียงพอ ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่า 1.5%ได้
“สิ่งที่ต้องติดตามในระยะถัดไปคือ ภายใต้การเติบโตของจีดีพี 1.5% มีสองประเด็นหลักที่ต้องติดตาม คือ sentiment ของคน ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ว่าจะกระทบต่อความมั่นใจ ต่อการใช้จ่ายใช้สอย ต่อการลงทุนในระยะข้างหน้าให้ชะลอหรือไม่ เพราะเงินอาจไม่ถูกดึงมาใช้ ซึ่งอาจกดดันเศรษฐกิจไทยให้แย่ลงได้ เรื่องที่สองคือ ระบบการเงินเอื้อต่อการหมุนเวียนของเศรษฐกิจลดลง คนไม่อยากกู้ แบงก์ไม่อยากปล่อย ดังนั้น กลไกด้านการเงินจะทำให้เศรษฐกิจหมุนได้ช้าลง”
ขณะเดียวกันหากดูภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบที่ 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะเดียวกันจีดีพีจะติดลบราว 1.5% หากเทียบกับไตรมาส 4ปี 2562 ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2ปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นบวกได้ระดับ 0.2% และขยายตัว 1.3%หากเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้
การคาดการณ์ดังกล่าว อยู่บนสมมุติฐานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19จะคลี่คลายได้ก่อนเดือนอนพ.ค.นี้ แต่หากสถานการณ์รุนแรงกว่าที่คาด มีโอกาสเห็นผลกระทบจากโควิด -19 มากขึ้น ซึ่งจะฉุดเศรษฐกิจไทยให้เติบโตลดลงไปกว่าเป้าหมายที่ประเมินไว้
“ผลกระทบที่ประเมินไว้ เราค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ หากสถานการณ์ต่างๆยืดเยื้ออีก มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ติดลบแน่นอนภายในปีนี้ ยังยืนได้เหนือระดับ 1% เพราะบางอย่าง เป็นผลกระทบระยะสั้น ”