‘ค่าฟีบจ.ใหม่-เงินลงทุน’หนุนรายได้ตลาดหลักทรัพย์

 ‘ค่าฟีบจ.ใหม่-เงินลงทุน’หนุนรายได้ตลาดหลักทรัพย์

“ตลาดหลักทรัพย์”แจงปี62 ขาดทุน 2.5พันล้าน เหตุมีรายการพิเศษต้องโอนเงินเข้ากองทุน CMDF กว่า 5.7 พันล้านบาท  ด้านรายได้รวมอยู่ที่ 7.2พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากปีก่อน เหตุบจ.และหลักทรัพย์ใหม่เพิ่มขึ้น หนุนรายได้จากการดำเนินงาน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออก statement  ชี้แจงผลการดำเนินงานปี 2562 ว่า   ตลาดหลักทรัพย์  มีรายได้รวม7,286ล้านบาท เพิ่มขึ้น10.75%จากปีก่อนหน้า โดยรายได้จากการดําเนินงานเพิ่มขึ้น 162 ล้านบาท ที่สำคัญจากจํานวนบริษัทจดทะเบียนและหลักทรัพย์ใหม่เพิ่มขึ้น มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 184 ล้านบาทที่สำคัญจากการรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยจากเหตุวางเพลิงอาคารเดิมของตลาดหลักทรัพย์ และรายได้จากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 362 ล้านบาทที่สําคัญจากกําไรจากการขายกองทุนและกําไรจากการmark to marketของเงินลงทุน 

ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่4,217ล้านบาท เพิ่มขึ้น6%จากปีก่อนหน้า  จากค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่โดย ในปี2562กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ มีรายได้รวมสูงกว่าค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน3,114ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562   มีการออกพ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่6)กำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์ ทำการโอนเงินให้กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เป็นจำนวน5,700ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการพิเศษเฉพาะปี2562  ทำให้ตลาดหลักทรัพย์  มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้สุทธิ 2,599ล้านบาท

      ทั้งนี้  การเงินโอนให้กองทุน CMDF  จำนวน 5,700 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2562 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาองค์กรและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนหรือการกำกับดูแลตลาดทุน เป็นต้น 

 สำหรับรายละเอียดรายได้จากกการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ มีดังนี้  รายได้จากธุรกิจตราสารทุน รวม 2,768 ล้านบาท  ลดลง  57 ล้านบาท หรือ 2.02 % เมื่อเทียบกับปี 2561 จากค่าธรรมเนียม การซื้อขายและงานชําระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ลดลง จํานวน 131 ล้านบาท ตามมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวัน  ขณะที่ค่าธรรมเนียมหลักทรัพย์จดทะเบียน เพิ่มขึ้น จํานวน 80 ล้านบาท หรือ 12.44% ตามจํานวนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น

 แยกเป็น ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ 1,298   ล้านบาท , งานชําระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ 368 ล้านบาท, ค่าธรรมเนียมหลักทรัพย์จดทะเบียน 723 ล้านบาท , งานรับฝากหลักทรัพย์ 347 ล้านบาท, ค่าธรรมเนียมสมาชิก 32  ล้านบาท 

รายได้จากธุรกิจตราสารอนุพันธ์  รวม 806 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจํานวน 41 ล้านบาท หรือ 5.36%  เมื่ เทียบกับปี 2561  จากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้นของตราสารอนุพันธ์ โดยเฉพาะกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ประเภททองคํา (Gold Online Futures)  แยกเป็น  ค่าธรรมเนียมการซื้อขายตราสารอนุพันธ์  541 ล้านบาท ,   งานชําระราคา 233 ล้านบาท ,   ค่าธรรมเนียมสมาชิก 32  ล้านบาท 

  รายได้จากธุรกิจบริการเทคโนโลยี รวม 1,064 ล้านบาท แยกเป็น การบริการบริษัทหลักทรัพย์ 420 ล้านบาท , ค่าบริการข้อมูล 367 ล้านบาท , ค่าสนับสนุนงานเทคโนโลยีสารสนเทศ 277  ล้านบาท ส่วนรายได้จากธุรกิจบริการงานนายทะเบียนและงานบริการรวมม 1,246 ล้านบาท แยกเป็น งานนายทะเบียนหลักทรัพย์ 1,226 ล้านบาท และ งานบริการกองทุน 20  ล้านบาท

ส่วนรายได้จากเงินลงทุนอยู่ที่  948 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% จากปีก่อนหน้า แยกเป็นดอกเบี้ยรับ 217  ล้านบาท เงินปันผลรับ 144  ล้านบาท  กําไรจากการขายเงินลงทุน 420 ล้านบาท กําไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากเงินลงทุน 90 ล้านบาท และ  กําไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและอื่นๆ 77 ล้านบาท