โควิด-19 ก็ต้องหนี 'อีอีซี' ก็ต้องไปต่อ กทท.เปิด ไทม์ไลน์ 'แหลมฉบังเฟส3' ตอกเสาเข็มกลางปีนี้
กทท.เผยแผนก่อสร้างแหลมฉบังเฟส 3 ระบุงานก่อสร้างส่วนที่ 2 อาคารและท่าเรืออยู่ระหว่างร่างทีโออาร์ครั้งที่ 2 ขณะที่ส่วนที่ 1 งานทางทะเลกำหนดยื่นข้อเสนอ 7 พ.ค.นี้เร่งก่อสร้างกลางปี 2563
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่าการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 นั้นกทท. เริ่มดำเนินการประกวดราคาจ้างงานในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยประกาศขายเอกสารตั้งแต่วันที่ 18ก.พ.2563 ถึงวันที่ 5พ.ค.2563 และกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 7พ.ค.2563 สำหรับงานก่อสร้างส่วนที่ 2 (งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือฯ) อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบประกาศร่างขอบเขตของงาน (TOR) ครั้งที่ 2
สำหรับงานก่อสร้างทั้งหมด จะแบ่งงานออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรวมระยะเวลาในการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 52 เดือน
ทั้งนี้ คณะกรรมการ กทท. มีมติอนุมัติให้จ้างบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1-4) โดยวิธีคัดเลือก และ ทลฉ. ได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา
"โดยเตรียมก่อสร้างในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรกภายใต้กรอบการร่วมทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษา โดยเอกชนรายเดียว เพื่อให้ท่าเทียบเรือ F แล้วเสร็จทันภายในปี 2566"
ภายใต้หลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนที่มีคุณสมบัติและมีความสามารถในการบริหารจัดการท่าเทียบเรือที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีแผนการดำเนินการบริหารจัดการท่าเทียบเรือที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยรวม
สำหรับท่าเรือแหลมฉบังเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันมีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีนโยบายเร่งพัฒนาโครงการท่าเรือแหลงฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียู.ต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียู.ต่อปี
กำหนดดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟจาก 7% เป็น 30% อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและการบริหารจัดการของ ทลฉ. ระยะที่ 3 ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ในการเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้มีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายด้วยเครื่องมือขนส่งสินค้าประเภทตู้สินค้าที่ทันสมัย
พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับสภาพสิ่งแวดล้อม (Green Port) เพื่อยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค พัฒนาระบบการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ได้มาตรฐาน โดยใช้ระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) มาสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงการเป็นประตูการค้า (Gateway) สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศ ซึ่งจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในกลางปี 2563 นี้