'กรณ์' ชี้มาตรการรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
กรณ์ ชี้รัฐบาลออกชุดมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตรงจุด แนะให้เร่งเติมเงินในกระเป๋าประชาชนและผู้ประกอบการขนาดเล็กผ่าน 6 มาตรการ อาทิ ลดลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงทันที 20% จ่ายเบี้ยประกันสังคมแทนลูกจ้างและนายจ้างนาน 6 เดือน ขณะที่ ค้านตั้งกองทุนพยุงหุ้น
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มกล้าแถลงเสนอมาตรการในการดูแลเศรษฐกิจต่อรัฐบาล โดยระบุว่า ขณะนี้ ถือว่า เราก้าวสู่ช่วงวิกฤตแล้วทั้งในแง่ประเด็นปัญหาสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่สำคัญ คือ วิกฤตด้านเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทั่วหน้า ปีที่แล้วเศรษฐกิจไม่ดีแล้ว แต่คาดไม่ถึงว่า จะพบกับปัญหาใหม่ที่เกิดจากโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงและเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบที่หนักหน่วงที่สุดด้านเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ทางกลุ่มกล้าเราได้ติดตามการทำงานของคณะเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งกลุ่มกล้าขอเป็นกำลังใจให้แก้ปัญหากับประชาชนได้ลุล่วงโดยเร็ว แต่จากมาตรการที่ประกาศออกมานั้น เราคิดว่า ยังไม่ครอบคลุม และ ไม่ตอบโจทย์ที่สำคัญ ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชนที่ทำมาหากินในธุรกิจต่างได้ในระดับที่ควร
เขากล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่สุด คือ ปัญหาเรื่องการเข้าถึงเงินสด แหล่งทุน ภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่รายได้หายไปจากยอดขายทุกประเภทธุรกิจที่ลดลง ฉะนั้น มาตรการที่ควรออกมาโดยเร็ว คือ มาตรการเติมเงินในกระเป๋าให้กับพี่น้องประชาชนให้มีกำลังซื้อ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังรัฐบาลในการประคองเงินหมุน เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกระดับชั้นมีเงินหมุนใกล้ตัวมากขึ้น โดยรัฐบาลได้เสนอมาตรการพักชำระหนี้ แต่เราคิดว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่พอ เราจึงเสนอว่า
1.ให้รัฐบาลเป็นผู้รับดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กโดยตรง โดยกำหนดวงเงินไว้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อรายระยะ 3 เดือน
2.ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงิน ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการซอฟท์โลน โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ลูกค้าในอัตรา 2% ต่อปี ซึ่งประเด็นปัญหานี้ ในอดีตที่เคยใช้นโยบายนี้ ผลประโยชน์จะตกกับลูกค้าปัจจุบันของธนาคารพาณิชย์ อาจไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่แผงลอยที่ไม่ได้เป็นลูกค้า จึงเสนอว่า ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ตรงไปยังกระเป๋าผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มียอดขายต่ำกว่า 50 ล้านบาทลงมา ควรมีวงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือ
“เรื่องนี้สำคัญ เพราะว่า สิ่งที่เราพยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุด คือ ประชาชนผู้ประกอบการช่วงที่ขาดรายได้จะหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเมื่อเข้าสู่วังวนจะปลีกตัวยาก ฉะนั้น จึงควรมีทางเลือกให้เขา”
3.กรณีนโยบายรัฐบาลที่งดจ่ายเบี้ยประกันสังคม เรามองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนลูกจ้างเสียสิทธิ์ ทำให้เงินและสิทธิ์ในกองทุนลดลง ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเบี้ยแทนทั้งนายจ้างและลูกจ้างในระยะ 6 เดือน จะทำให้ลูกจ้างมีเงินในกระเป๋าเหลือ 750 บาทต่อเดือน เป็นการลดภาระนายจ้าง โดยไม่ทำให้ลูกจ้างหรือระบบประกันสังคมเสียหาย
4.ถึงเวลาที่รัฐบาลควรออกมาตรการที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้ คือ การลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเคยเสนอไว้ทุกพรรค วันนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมที่ควรจะลด ซึ่งเคยเสนอไว้ก่อนเลือกตั้งว่า อัตราการลดที่สมเหตุสมผล คือ การลดอัตราลงมา 20% หมายความว่า ถ้าอดีตเคยเสีย 20% ก็ลดลงเหลือ 16% ถ้าเคยเสีย 10% ก็เหลือ 8% เป็นต้น ซึ่งทุกคนยังมีภาระภาษีอยู่ แต่ลดลงในช่วงที่วิกฤต
“ที่สำคัญช่วงนี้ เป็นช่วงการยื่นแบบภาษีพอดี หลายคนยื่นไปแล้ว เราเสนอว่า การลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ควรลดปี 2562 ไม่ใช่ปี 2563 เป็นการลดย้อนหลัง ซึ่งหมายความว่า ใครที่ยื่นแบบแล้ว รัฐควรจ่ายเงินคืนกลับมาโดยเร็วตามที่อัตราที่ปรับลด 20% ทำให้ประชาชนมนุษย์เงินเดือน มีกำลังซื้อเพิ่มเติมทันที ถามว่า มีผลกระทบต่อฐานะการเงินรัฐบาลอย่าง เราประเมินว่า รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลรับได้ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ และควรทำทันที”
5.ขณะนี้ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนมีค่าใช้จ่ายกรณีพิเศษ เราสนับสนุนผู้ประกอบการและประชาชนใช้อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือให้เพียงพอ เราจึงเสนอให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีในส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ดังกล่าววงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท
6.ในช่วงวิกฤตมักมีโอกาส เราแนะนำให้รัฐบาลส่งเสริมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ส ซึ่งขณะนี้ ประชาชนสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้น รัฐบาลควรมีนโยบายไปถึงไปรษณีย์ให้ลดค่าส่งสินค้าลง 50% ทันที ถือว่า จะมีผลต่อการลดค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการและประชาชนทันที
“มาตรการที่ยิงตรงแก้ปัญหาผู้ประกอบการต้องล้มเลิกกิจการในช่วงวิกฤต เราถือเป็นสิ่งที่จำเป็นที่รัฐบาลพึงต้องทำ ในการบริหารเศรษฐกิจวิกฤตที่ผ่านมา โจทย์ที่ตั้ง คือ ทำอย่างให้ทุกคนฝ่าวิกฤตได้ เพราะจากประสบการณ์เมื่อล้มแล้วฟื้นยาก ฉะนั้น รัฐบาลทำอะไรได้ตอนนี้ในการต่อสายป่านเติมเงินผู้ประกอบการขนาดเล็กและประชาชน รัฐบาลก็ควรเร่งทำ และเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำได้ทั้งหมด รัฐบาลมีเงินทุนเพียงพอ ประชาชนเดือดร้อนรอไม่ได้ คิดว่า ไม่มีมาตรการใดที่รอหรือลังเลที่จะมีมาตรการออกไป”
ในส่วนตลาดหุ้นปรับลดค่อนข้างแรงในระดับประวัติศาสตร์ ซึ่งทุกรอบจะมีข้อเสนอเรื่องการตั้งกองทุนพยุงหุ้น และไม่เคยประสบความสำเร็จ ทำแล้ว ไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีด้วย จริงๆรัฐบาลมีกำลังเงิน แต่ควรไปใช้แก้ไขปัญหาคนยากจนมากกว่าอุ้มนายทุนใหญ่ ในมุมนั้น อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา
แต่ถามว่า มีวิธีไหนที่อาจช่วยได้ ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนซื้อหุ้นในราคาปรับลดลงได้ คือ การทบทวนนำรูปแบบการลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟเดิมมาใช้ คือ การปรับเพิ่มวงเงินลงทุนที่จะลดหย่อนภาษีในกองทุนเพื่อการออมระยะยาว(SSF)เท่ากับแอลทีเอฟเดิม คือ 5 แสนบาท เชื่อจะทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีมีโอกาสเข้ามาลงทุน เพื่อผลตอบแทนระยะยาวในช่วงที่ราคาหุ้นตกลงมาก เป็นวิธีการพยุงหุ้นที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่า