ต้องไปต่อ! แนะ 5 แนวทางองค์กรเร่งวางแผนสู้วิกฤต โควิด-19
ผู้บริหารกลุ่มบลูบิคกรุ๊ป (bluebikgroup) ออกมาแนะนำแนวทางการทำธุรกิจไปพร้อมๆ กับการรับมือสถานการณ์การระบาดของ COVID-19
มีการแชร์ข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียจากผู้บริหารบลูบิคกรุ๊ป (bluebikgroup) เกี่ยวกับการตั้งรับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ไปพร้อมๆ กับการประคองธุรกิจให้ก้าวต่อไปได้ในภาวะวิกฤต โดยระบุว่า
"วันนี้หลังจากได้ยินข่าวว่าคนดังหลายๆคนเริ่มติดเชื้อ COVID ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ๆ CEO บริษัทชั้นนำหลายท่านและเห็นตรงกันว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการที่ธุรกิจอาจจะหยุดชะงักจนไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ผู้ที่เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในตอนนี้ได้ดีที่สุดจะสามารถรักษาความมั่นคงของธุรกิจ และฉวยโอกาสในการเติบโตหลังจากที่วิกฤติผ่านพ้นไปได้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องเริ่ม Take action ทันทีโดยไม่ต้องรอให้เหตุการณ์มันแย่ไปกว่านี้ รวมถึงต้องเตรียมพร้อมในกรณีที่อาจจะบานปลายยืดเยื้อด้วย
ไม่ว่าเหตุการณ์จะขึ้นหรือแย่ลง ต้องทำตัวเองให้พร้อมทุกสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งมีหลายอย่างที่ควรพิจารณา เช่น
1. จัดเตรียมแผน BCP( Business continuity plan) และเริ่มการซักซ้อมทันที
เริ่มวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้น และจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานภายใต้สภาวะฉุกเฉิน ในด้านต่างๆ อาทิ การปฏิบัติงานจากบ้าน การสื่อสารเหตุฉุกเฉิน การปฏิบัติงานร่วมกับคู่ค้า การจัดสรรทรัพยากรสำรอง ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงทดสอบและซักซ้อมแผนเพื่อแน่ใจได้ว่าแผนที่จัดทำขึ้นมานั้นใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่แผนที่วางอยู่บนหิ้ง
2. สื่อสารและให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความตื่นตระหนก
การตื่นตระหนกจะทำให้การตัดสินใจและการทำงานของคนในองค์กรด้อยประสิทธิภาพลง เราจึงต้องสื่อสารกับบุคลากรขององค์กรอย่างต่อเนื่องเป็นประจำผ่านช่องทางที่เข้าถึงง่ายเช่น Line กลุ่ม เพื่อสร้างความเข้าใจในสถาการณ์ปัจจุบันและลดความตื่นตระหนก รวมทั้งสื่อสารมาตรการในการปฏิบัติตนด้านสุขภาพ อาทิ การรักษาความสะอาด การหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยง
3. จัดสรรแยกกลุ่มพนักงานเพื่อบริหารความเสี่ยง
หากพนักงานทั้งบริษัทติดเชื้อทั้งหมดบริษัทคงจะไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้และจะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจ ดังนั้น ทางหนึ่งที่จะช่วยจำกัดความเสี่ยงคือการแบ่งกลุ่มพนักงานในฝ่ายงานสำคัญต่างๆให้เป็นอย่างน้อย 2 กลุ่ม โดยไม่ให้พบปะกันโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อทั้งกลุ่ม แยกกลุ่มพนักงานที่มีความเสี่ยงสูงเช่นพนักงานขาย ออกจากพนักงานที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และ ปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อให้พนักงานทำงานสามารถทำงานคนละที่ได้ เช่น Video Conference (skype, google hangout) และ Collaboration tools (google drive, microsoft team)
4. เริ่มประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อลดการสัมผัส ลดการติดเชื้อ
จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าเชื้อ Covid ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัส ดังนั้นองค์กรควรเริ่มใช้เทคโนโลยีที่ลดการสัมผัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเช่น ใช้การแสดงตัวตนเข้าออกอาคารผ่านการสแกนใบหน้าแทนการสแกนนิ้วมือ การรับชำระผ่าน QR Code เพื่อลดการสัมผัสเงินสดภายในร้านค้า การเข้าออกลานจอดรถโดยการใช้ระบบอ่านป้ายทะเบียนอัตโนมัติแทนการรับบัตร
5. ประเมินคู่ค้า วางแผนสำรองและหาแหล่งทดแทน
แม้ว่าอาจจะยังไม่มีใครติดเชื้อในองค์กรของเรา แต่การที่คู่ค้าของเราเช่น Supplier เกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติก็อาจจะส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อธุรกิจของเราเช่นกัน เราจึงต้องเริ่มตรวจสอบวงจรความสามารถการผลิตและการขนส่ง รวมทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดจากภาวะชะงักงันของซัพพลายเชน หากต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากประเทศกลุ่มเสี่ยงในการแพร่ระบาด เช่น จีนและเวียดนาม เป็นต้น และมองหาแหล่งผลิตสำรองภายในประเทศทดแทน
6. ถ่ายโอนความเสี่ยงทางการเงินด้วยประกันภัย
ปัจจุบันในตลาดมีประกันภัยให้เลือกหลากหลายชนิดที่สามารถช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรของเราได้ รวมถึงชดเชยให้บริษัทกรณีที่มีบุคลากรหลักเสียชีวิต การทำประกันจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณาครับ
อย่าลืมว่า #ฟ้าหลังฝนย่อมงดงามเสมอ ทุกวิกฤติจะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ แต่ผู้ชนะคือผู้ที่พร้อมที่สุด
เป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
#bluebik #bluebikgroup