ทําไมความยากจนเพิ่มขึ้น
จากผลงานวิจัยของธนาคารโลก ชี้ว่าอัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นช่วงปี 2015-2018 สวนทางกับความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจ นํามาสู่การเติบโตของรายได้ของคนในประเทศ จะทําให้ความยากจนลดลง แล้วทำไมแนวโน้มประเทศไทยจึงเป็นแบบนั้น?
ในการแถลงผลรายงานการวิจัย เรื่อง จับชีพจรความยากจนและความเหลื่อมลํ้าในประเทศไทย (Taking a Pulse on Poverty and Inequality in Thailand) ใครที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รับทราบการแถลงผลรายงานการวิจัยเรื่องดังกล่าวของธนาคารโลก คงแปลกใจกับผลงานวิจัยที่ชี้ว่า อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นช่วงปี 2015-2018
สวนทางกับความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจที่นํามาสู่การเติบโตของรายได้ของคนในประเทศจะทําให้ความยากจนลดลง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงมาตลอดเห็นได้จากเศรษฐกิจทั่วโลก ในกรณีของไทย อัตราความยากจนที่เคยสูงถึง 65.2% ในปี 1988 ได้ปรับลดลงต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจยกเว้นช่วงปีวิกฤติเศรษฐกิจ 1998-99 และลดลงตํ่าสุดที่ 7-8% ในปี 2015
แต่ความยากจนกลับเพิ่มสูงขึ้นในปี 2016 และเพิ่มขึ้นเป็น 9.85% ในปี 2018 แม้เศรษฐกิจขยายตัว ตัวเลขความยากจนเป็นข้อมูลทางการที่ปฎิเสธไม่ได้ วัดจากจํานวนครัวเรือนที่มีรายได้ตํ่ากว่าเส้นความยากจน คือรายได้เฉลี่ยตํ่ากว่าประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ทั้งประเทศ
ครั้งแรกที่ผมทราบข่าวนี้เมื่อปลายเดือนมกราคมก็รู้สึกแปลกใจ แต่ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ความยากจนอาจกลับมาเพิ่มสูงขึ้นพร้อมการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต้องมาจากเหตุผลเดียว คือ ความเหลื่อมลํ้าในระบบเศรษฐกิจแย่ลงมากจนรายได้ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่กระจายไปสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศลดลง ลดลงจนรายได้ของคนที่อยู่ปลายแถวของคนกลุ่มนี้ ซึ่งคือผู้ที่ยากจน ยี่งจนมากขึ้น ขณะที่คนระดับรายได้ถัดไปที่รายได้เคยอยู่เหนือเส้นความยากจนก็จนลงเช่นกัน จนรายได้ลดตํ่ากว่าเส้นความยากจน ทําให้จํานวนคนมีรายได้ตํ่ากว่าเส้นความยากจนเพิ่มสูงขึ้น อีกด้านหนึ่งรายได้ที่กระจายไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้สูงมีสัดส่วนมากขึ้น สะท้อนการกระจายรายได้ที่เเย่ลง ซึ่งถ้าดูจากเหตุผลของธนาคารโลกก็เป็นเช่นนี้จริงๆ
- ธนาคารโลกให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ความยากจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นช่วงปี 2016-2018 มาจาก
1.รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยต่อหัว เฉลี่ยทั่วประเทศลดลงในช่วงปี 2015-17 และลดลงมากในกลุ่มครัวเรือนรายได้ตํ่าสุดโดยเป็นผลจากการลดลงของรายได้แท้จริงทั้งรายได้ภาคเกษตรในเขตชนบท รายได้จากค่าจ้างแรงงานและรายได้จากการประกอบธุรกิจในเขตเมือง สวนทางกับในอดีตคือปี 2007-2013 ที่รายได้แท้จริงของครัวเรือนทั้ง 3 ประเภทนี้เพิ่มสูงขึ้นทําให้อัตราความยากจนลดลง
2.ความรู้สึกของประชาชนจากการสํารวจความคิดเห็นในช่วงเวลาเดียวกันก็ชี้ข้อมูลในทางเดียวกัน คือครัวเรือนรู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของตนแย่ลง เช่นผลลํารวจ Gallop World Poll ที่สํารวจชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ผลสํารวจชี้ว่าตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา จํานวนคนที่ตอบว่าชีวิตความเป็นอยู่แย่ลงมีมากขึ้น เกือบ 40% ตอบว่าไม่มีเงินพอที่จะใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย และกว่า 40% ตอบว่ามีเงินไม่พอซื้ออาหาร
3.เทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนลดลงและเป็นประเทศเดียวที่อัตราความยากจนเพื่มสูงขึ้น ไม่เกิดขึ้นในประเทศอาเชียนอื่น นี่คือสิ่งที่ธนาคารโลกรายงาน
ที่สําคัญ ถ้าพิจารณาสถานการณ์ล่าสุดถึงปี 2019 ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวตํ่าและปีนี้ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจอาจติดลบจากหลายปัญหาที่ประดังเข้ามา อัตราความยากจนอาจเพื่มสูงขึ้นอีก
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไปนําสู่การตั้งคําถามว่ารูปแบบการเจริญเติบโต นโยบายเศรษฐกิจ และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา อะไรเป็นบทเรียน อะไรเป็นข้อผิดพลาด เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพื่อนําไปสู่นโยบายสาธารณะที่จะสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศมากขึ้น
ในเรื่องนี้ผมเห็นว่า 1.รูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่หวังให้การลงทุนด้านสาธารณูปโภค เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ภาครัฐทุ่มทรัพยากรลงไปมากในแง่การลงทุนและการให้สิทธิประโยชน์ ชัดเจนว่าอาจไม่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจได้มากอย่างที่หวัง และผลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็ไม่กระจายไปสู่กลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างทั่วถึง เพราะฐานรายได้ของคนส่วนใหญ่มาจากรายได้ภาคเกษตร การมีงานทํา และการประกอบอาชีพหรือธุรกิจ ดังนั้นถ้านโยบายภาครัฐสามารถทําให้ฐานรายได้เหล่านี้เติบโต รวมถึงสร้างผลิตภาพการผลิตในระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคเกษตร ความยากจนที่เพิ่มขึ้นก็คงสามารถแก้ไขได้
2.รัฐบาลต้องให้ความสําคัญกับนโยบายที่จะช่วยลดความเหลื่อมลํ้าควบคู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่พัฒนาเป็นประเทศรายได้สูงได้ถ้าประเทศมีปัญหาความเหลื่อมลํ้ารุนแรง ที่สําคัญความเหลื่อมลํ้าของประเทศเราได้มาถึงจุดที่ทําให้ความยากจนเพิ่มสูงขึ้นพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข และสิ่งที่ต้องทําคือ ทลายกําแพงเงื่อนไขและระบบอุปถัมท์ที่ทําให้โอกาศของคนในประเทศไม่เท่ากัน ต้องทําให้เด็กไทยเติบโตในสนามการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ทั้งในเรื่องโอกาศทางการศึกษา การมีงานที่ดีทํา การเข้าถึงสินเชื่อ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน บริการทางสาธารณะสุข การบังคับใช้กฏหมายที่เป็นธรรม นี่คือทางออกที่จะสร้างพลังและอนาคตให้กับประเทศ
3.มาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนจนโดยภาครัฐโอนเงินให้สําคัญ เพราะจะช่วยให้พวกเขามีรายได้ที่จะประทังชีวิตได้ การให้ความช่วยเหลือจะต้องให้ตรงกับคนจน ไม่ผ่านคนอื่นและไม่ให้คนอื่น ตัวเลขธนาคารโลกชี้ว่าคนจนในประเทศไทยปี 2018 มี 6.7ล้านคน ตัวเลขทางการบอกว่ามีคนที่จนจริง 10 ล้านคน แต่ลงทะเบียนบัตรคนจนมี 14.5 ล้านคน ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือควรมุ่งไปที่ 6.7 ล้านคนก่อนโดยให้ตรงและให้มากพอ ส่วนอีก 7.8 ล้านที่ลงทะเบียนคนจนไม่ต้องให้เพราะยังไม่จนจริง ไม่อย่างนั้นรัฐต้องใช้ทรัพยากรมากและมาตรการของรัฐจะดูเป็นมาตรการหาเสียงมากกว่ามาตรการแก้ความยากจน
ทั้ง 3 เรื่องนี้สําคัญต่อเศรษฐกิจและเป็นสิ่งที่ต้องทํา