สคร.ชะลอแผนออกกองทุน ‘ทีเอฟเอฟ’ เฟส2

สคร.ชะลอแผนออกกองทุน ‘ทีเอฟเอฟ’ เฟส2

“สคร.” ชะลอแผนออกกองทุน “ทีเอฟเอฟ” เฟสสอง หลังสถานการณ์โรค “โควิด-19” ระบาด ยังยืดเยื้อ ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน ขณะนี้ภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้รัฐบาลมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น  

นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)​ เปิดเผยว่า จากปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19)ระบาดในปัจจุบัน และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ลดต่ำลงมาก ทำให้แนวความคิดที่จะออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ กองทุนทีเอฟเอฟ (TFF)เฟสที่สอง ต้องชะลอลงไปก่อน ซึ่งการที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง ทำให้มีทางเลือกในกู้หรือการออกพันธบัตรเพื่อล็อกต้นทุนการเงินให้ต่ำลงได้  

“ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้รัฐบาลมีทางเลือกที่จะออกพันธบัตร เพื่อดูดซับสภาพคล่อง และเป็นทางเลือกในการออมของประชาชน ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอาจกำหนดให้สูงกว่าตลาดเล็กน้อยก็ได้ เพื่อดึงดูดผู้ที่ต้องการออมผ่านพันธบัตรรัฐบาล อย่างไรก็ตามการจะเดินหน้า TFF เฟสสองต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามในฐานะข้าราชการประจำ ก็ยังคงศึกษาเรื่องนี้ต่อไป”

 

เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สคร. ได้หารือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่มีโครงการลงทุนขยายท่าเรือแหลมฉบัง ว่า อาจนำรายได้จากสัญญาเช่าท่าเรือของแหลมฉบัง ซึ่งก็มีความซับซ้อนเนื่องจากมีหลายสัญญาขายเข้ากองทุน  แต่ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ เมื่อได้เงินทุนจากการออก TFF แล้ว จะนำเงินไปลงทุนอะไร ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ทำให้การคาดการณ์ที่เคยทำไว้เดิมต้องเปลี่ยนแปลงไป  อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้หากเราไม่ลงทุนเศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลงไปอีก

 ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับ ความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ สำหรับจอดเรือน้ำลึก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ 

รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอานวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อ เนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่างๆ 

ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่าง มีพื้นที่ขนาด 6,340 ไร่ และได้ก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และ ขั้นที่ 2 โดยมีท่าเรือที่เปิดดำเนินการแล้ว จากข้อมูลเมื่อปี 2559 ท่าเรือแหลมฉบัง มีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือประมาณ 7 ล้านตู้ต่อปี และรถยนต์ประมาณ 1 ล้านคันต่อปี คิดเป็น 70% ของขีดความสามารถของท่าเรือที่รองรับตู้สินค้าได้สูงสุดที่ประมาณ 11 ล้านตู้ต่อปี และรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคันต่อปี

 สำหรับโครงการพัฒนา ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3วัตถุประสงค์ของโครงการ คือ เพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 7.7 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี เพิ่มความสามารถในการขนส่งรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เป็น 30%