โควิด-19 : สงครามที่โลกต้องสู้ร่วมกัน
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) แสดงความเห็นผ่านบทความเพื่อให้ "กรุงเทพธุรกิจ" เผยแพร่เกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้
ศาสตราจารย์ มารี คูรี่ (Marie Curie) เป็นสตรีคนแรกของโลกที่ได้รางวัลโนเบล เธอได้รับรางวัลในสาขาฟิสิกส์ ต่อมาได้รางวัลโนเบลอีกรางวัลหนึ่งในสาขาเคมี ทำให้เกิดกลายเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง
มารี คูรี่ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลกคนหนึ่ง และทำงานบุกเบิกทางกัมมันตภาพรังสีจากการค้นพบสารสำคัญ เช่น เรเดียม (radium) ซึ่งมีผลสำคัญในการรักษาโรคร้ายแรง เธอเป็นผู้ที่ทำงานที่มีผลต่อมนุษยชาติมากมาย โดยไม่เคยรู้สึกท้อแท้ต่ออุปสรรคไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก และมักกล่าวในสิ่งที่ช่วยให้กำลังใจต่อมนุษยชาติในการต่อสู้กับปัญหาที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะเธอเคยกล่าวไว้ว่า
“ไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่เราควรจะเกรงกลัว มีแต่สิ่งที่เราควรทำความเข้าใจ และเวลานี้คือเวลาที่เราจะต้องเข้าใจมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้มีความหวาดกลัวน้อยลง”
ช่วงนี้โลกต้องสู้กับการระบาดอย่างร้ายแรงของ โรคโควิด-19 คือ สงครามที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่เราต้องต่อสู้ร่วมกันทั้งโลก จึงเป็นเวลาที่เราอาจนำคำกล่าวของศาสตราจารย์คูรี่ มายึดเป็นกำลังใจเพื่อที่เราจะมีความแข็งแกร่งที่จะเข้าใจและเอาชนะโรคร้ายนี้ได้
โลกเคยผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงมาหลายครั้งในอดีตนับตั้งแต่มนุษย์เข่นฆ่ากันเองในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคนในเวลาไม่กี่ปี แต่โลกฟื้นจากความหายนะได้ด้วยการกลับมาทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูชีวิตจิตใจและภาวะล่มสลายหมดสิ้นทางเศรษฐกิจจนสำเร็จในที่สุด
ความหายนะของโลกที่สืบเนื่องจากโรคระบาดร้ายแรงมีโรคไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากสเปน แต่ในสนามรบช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่หลวงที่สุดเมื่อมีประชาชนในโลกต้องสูญเสียชีวิตไป 50 ล้านคนเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว
ความสูญเสียครั้งนั้นเมื่อคำนึงถึงจำนวนประชากรโลกที่มีน้อยกว่า 1 ใน 3 ของปัจจุบัน สัดส่วนความสูญเสียครั้งนั้นนับว่ายิ่งใหญ่น่าหวาดกลัวที่สุด แต่นำไปสู่แสงสว่างของโลกด้วยการเกิดขึ้นของการดูแลทางด้านสาธารณสุขที่กว้างขวางและมีผลจริงจังมากขึ้นทั่วโลก
สภาพวิกฤติของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกใกล้ 2 แสนคน แต่มีผู้ที่ได้รับการรักษาและหายแล้วใกล้เคียงครึ่งหนึ่ง และอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ 4% ของผู้ป่วยทั้งหมด (1% ในบางประเทศ)
แม้จะดูน่าห่วงแต่ไม่ใช่สถานการณ์ที่โลกจะหมดหวังในการต่อสู้ และขนาดของความสูญเสียก็ไม่มีทางที่จะเข้าใกล้เหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในอดีต โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความก้าวหน้าทางสาธารณสุขและทางวิทยาศาสตร์ ที่จะนำไปสู่การค้นพบวิธีการรักษาที่ดีที่สุด
ปัญหาเร่งด่วนที่สุดของโลกในขณะนี้ คือ การทดสอบวัคซีนที่จะนำมาใช้กับคนที่กำลังเริ่มต้นอยู่ทั่วโลก จากที่จีนตรวจพบพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไว้แล้ว การตรวจคัดกรองผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะติดเชื้ออย่างกว้างขวาง เช่น เกาหลีนำมาใช้ การให้ข้อมูลในการป้องกันการติดเชื้อและข้อมูลการติดเชื้อที่ทำให้ประชาชนไปใช้ได้ในการหลีกเลี่ยง และการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น จีนกำลังให้กับอิตาลีอยู่ในขณะนี้
การที่จีนให้ความช่วยเหลือไทยโดยส่งยาประเภท antiviral ที่มีผลครอบกว้าง รวมทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกได้เดินทางไปศึกษาวิธีการในการต้านและรักษาการติดเชื้อที่จีนเพื่อนำไปให้คำปรึกษาแก่ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงทั่วโลก การที่จีนชะลอการติดเชื้อจากที่เคยสูงเป็นวันละกว่าพันคนมาเหลือเป็นร้อยคน และขณะนี้เป็นจำนวนต่ำสุดในระดับวันละเป็นสิบรายหรือไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเลยในบางวัน ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญที่ทุกประเทศนำประสบการณ์ไปใช้ได้
ในระยะเริ่มแรกของการระบาดของโควิด-19 ไทยเป็นประเทศที่ 2 รองจากจีนที่เริ่มมีการติดเชื้อที่น่าเป็นห่วงว่าจะรุนแรงตามจีน ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าไทยรับนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นจำนวนมาก อาจจะเกินกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีนักท่องเที่ยวจากมณฑลหูเป่ยที่เป็นศูนย์กลางของการขยายตัวของไวรัสเป็นจำนวนเป็นหมื่นราย
ในช่วงแรกที่มีการขายหุ้นไทยทิ้งโดยกองทุนต่างประเทศก็มีสาเหตุมาจากการสูญเสียความเชื่อมั่นในภาวะหุ้นไทย เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะถูกกระทบจากการระบาดตัวของไวรัสอย่างรุนแรงที่สุดต่อจากจีน หลังจากการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก
และไทยจำกัดการติดเชื้อไว้ได้ในระดับไม่สูงนัก จนอันดับการติดเชื้อในโลกลดลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำลงมาก ถึงแม้ว่าเรายังคงต้องเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ศึกโควิด-19 ต่อไปไม่น้อย ผลลัพธ์จากการปฎิบัติการของฝ่ายสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต้องถือว่าทำให้มีความเชื่อมั่นสูงในระดับหนึ่ง
จากข้อมูลของดัชนีโลกด้านความปลอดภัยของสุขภาพ ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 6 ของโลก โดยได้คะแนนสูงทางด้านการป้องกันโรค การตรวจจับและรายงาน และการตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็ว ส่วนด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนดสากลยังต้องได้รับการปรับปรุง แต่เวลานี้ประเทศที่มีคะแนนสูงกว่าไทย คือ สหรัฐ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา มีปัญหาการติดเชื้อสูงกว่าไทยมากทั้งนั้น
นอกจากนี้การเตรียมพร้อมของไทยโดยไม่ประมาท แม้ทั่วโลกจะไม่มีการทำนายว่าจะเกิดภัยจากไวรัสอย่างรวดเร็วและรุนแรงขนาดนี้ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากมายก็ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ของภัยพิบัติทำนองนี้อย่างชัดเจน โดยในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดมาตรการไว้อย่างชัดเจนว่า
“ให้มีการพัฒนาสร้างระบบรับมือปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพครอบคลุมประชากรกลุ่มเสี่ยง”
ซึ่งเป็นแผนพัฒนาหลักทางยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดอยู่ในขณะนี้ และจะมีความสำคัญสูงยิ่งต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยจะต้องมีการทุ่มเทลงทุนทั้งทางด้านบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมืออย่างเร่งด่วนและเต็มความสามารถทางงบประมาณต่อไป
องค์การอนามัยโลกจัดอันดับ (ต้นเดือน มี.ค.นี้) ความพร้อมของประเทศต่างๆ ในการรับมือกับโควิด-19 โดยมีประเทศจัดอยู่ใน 5 กลุ่ม กลุ่มระดับ 5 เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมสูงสุด กลุ่มระดับ 1 มีความพร้อมต่ำสุด ไทยถูกจัดอันดับความพร้อมอยู่ในกลุ่มระดับ 4 ถือว่าเป็นรองแค่กลุ่มที่มีศักยภาพสูงสุดเท่านั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
เนื่องจากภาวะคับขันและการตื่นกลัวการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีการทำงานของรัฐบาลแทบทุกประเทศในโลกโดยเฉพาะประเทศที่ประสบปัญหารุนแรงย่อมเกิดขึ้นโดยไม่มีการละเว้น ไม่ว่าประเทศนั้นจะได้พยายามอย่างที่สุดแล้วหรือไม่
การปฎิบัติการของรัฐบาลไทยแม้จะได้ผลในระดับหนึ่งตามนัยที่ได้กล่าวแล้วก็ยังต้องผ่านการตรวจสอบโดยสื่อมวลชนอย่างเข้มข้น ทั้งที่ในวาระที่คับขันเช่นนี้เราควรต้องร่วมกันปรับเปลี่ยนความคิด และแทนการเสนอข่าวที่เน้นแต่ในเชิงลบมาเป็นการช่วยกันคิดช่วยกันทำที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบที่ไทยมีประสิทธิภาพไม่น้อยไปกว่าที่อื่น และควรให้เกิดกำลังใจอย่างสูงสุดต่อผู้ที่ต้องรับภาระโดยตรง
โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทางงานด้านสาธารณสุขและด้านการจัดสรรอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆในการป้องกันและรักษาโรค การสร้างความขัดแย้งทางการเมืองและการหาผลประโยชน์ทางการเมืองในช่วงที่ประเทศมีปัญหาคับขันเช่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างที่สุด
เมื่อเกาหลีประสบปัญหาการขาด "หน้ากากอนามัย" ในระยะแรกของการต่อสู้กับภัยจากไวรัส รัฐบาลก็ถูกโจมตีรุนแรง แต่การทำงานร่วมกันของสังคมเกาหลีนำไปสู่มาตรการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางบวก โดยเฉพาะที่เกาหลีมีความพยายามขยายโรงงานและเพิ่มบุคลากรในการผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างสุดความสามารถ ซึ่งน่าเป็นความพยายามของประเทศไทยในทำนองเดียวกัน
น่าเสียดายที่ในไทยเราไม่ได้มุ่งไปทางด้านการสร้างสรรค์เช่นนี้ร่วมกัน แต่กลับมีการเน้นย้ำสถานการณ์การขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความเข้าใจในสถานการณ์ที่คลาดเคลื่อน โดยในที่สุดมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงของราชการที่ไม่ช่วยให้เกิดสถานการณ์ที่ดีขึ้น และยังนำไปสู่การสูญเสียของขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติการที่ต้องรับผิดชอบอย่างมากมายอีกด้วย
นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานแล้วจะพบความเป็นจริงว่าหากมีความต้องการของประชากรไทยเพียงบางส่วนของประชากร 68 ล้านคนที่เพิ่มอย่างมหาศาลในเวลาอันสั้น กำลังการผลิตที่มีอยู่ปัจจุบันเพียงประมาณวันละล้านกว่าชิ้นก็ต้องไม่เพียงพออยู่แล้ว
ข้อมูลทางด้านการส่งออกหน้ากากอนามัยหลังประกาศเป็นสินค้าควบคุมซึ่งหน่วยงานราชการอาจจะมีข้อมูลคำนิยามไม่เหมือนกัน ก็ควรจะได้รับการพิจารณาระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันให้ถูกต้องก่อนที่การปล่อยข่าวที่อาจจะสร้างความสับสนออกไป
สิ่งที่เป็นความสวยงามของสังคมไทยที่ปรากฏได้ชัดทั้งในเมืองและชนบท คือ หน่วยงานราชการและเอกชน ชมรมและสมาคมต่างๆ ทั่วประเทศทั้งในระดับหมู่บ้านและประเทศ ต่างร่วมกันสอนวิธีการตัดเย็บหน้ากากอนามัยที่ใช้ผ้าแทน มีทำการร่วมกันผลิตในระดับชุมชน
รวมทั้งการผลิตเป็นกรณีพิเศษให้กับภิกษุสงฆ์ นับเป็นวาระของความร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างแท้จริง ที่ควรเป็นแบบอย่างของลักษณะที่งดงามแท้จริงของสังคมไทยที่ต้องได้รับการออกข่าวและยกย่องสรรเสริญมากที่สุด
การต่อสู้กับภัยจากโรคระบาดของไทยยังอาจจะต้องเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อมีการตรวจคัดกรองพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ส่วนสำคัญจะเป็นภัยที่มาจากภายนอกและภัยจากการสัมผัสต่อเนื่องภายในจากการเข้ากลุ่ม งานสังคม สังสรรค์ หรือการชุมนุมต่างๆ ในระดับโลกปัญหาก็จะน่าจะคล้ายกันที่จะนำไปสู่มาตรการที่ประเทศจีนใช้อย่างได้ผลมากที่สุด คือ ให้ประชาชนยอมรับว่าทุกคนต้องปฏิบัติตนประหนึ่งว่าได้ติดเชื้อไวรัสแล้วจึงต้องสร้างวินัยให้กับตนเองที่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้อื่นแต่อย่างใดเลย เช่น ด้วยการยอมรับว่าจะต้องมีการจำกัดการเคลื่อนไหวของตนเอง
การจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าธรรมดา เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ การจำกัดการเคลื่อนไหวจากการเข้าออกประเทศและชายแดน และการจำกัดการเคลื่อนไหวระหว่างเมืองและชุมชนต่างๆ ขณะนี้กระบวนการเช่นนี้เรียกกันว่า การรักษาระยะทางสังคม (social distancing) ซึ่งหากทุกปัจเจกชนให้ความร่วมมือ เราจะสามารถจำกัดการแพร่กระจายของโรคระบาดได้ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมาตรการที่ฝ่ายรัฐบาลไทยได้นำมาเริ่มปฏิบัติอยู่แล้วและกำลังเพิ่มความเข้มงวดขึ้น ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ในขณะนี้ไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจนว่าเราจะหยุดโรคระบาดได้เมื่อไหร่แน่ แต่จากข้อมูลของประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็เป็นตัวอย่างที่เป็นแสงสว่างของความสำเร็จในระดับหนึ่งของการต่อสู้กับโรคร้ายแรงนี้
จากแนวโน้มของการชะลอตัวของการติดเชื้อก็พอมีความหวังได้ว่าวิกฤตโรคระบาดในเอเชียมีโอกาสจะสงบลงได้ก่อนทวีปอื่น ในระดับโลกความร่วมมือที่มาจากองค์กรต่างๆ ของโลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด โดยเฉพาะที่สำคัญกว่าการเศรษฐกิจคือการค้นคว้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อที่จะค้นพบวัคซีนป้องกันรักษาโรคให้ได้โดยเร็วที่สุด
ข่าวดี คือ มีการทดลองใช้ยาบางประเภทที่เริ่มให้ผลดีในบางกรณี แต่ก็จะต้องมาพร้อมกับการยับยั้งการเกิดขึ้นของกรณีผู้ป่วยรายใหม่อีกด้วย จากข้อมูลในช่วงการระบาดของ Sars (ปี 2002-04) และ Mers (ปี 2012) ปรากฏว่าโรคระบาดถูกหยุดยั้งได้ก่อนมีการผลิตวัคซีนออกมาใช้