'ชลบุรีคอนกรีต' รับอานิสงค์ 'อีอีซี' ดันธุรกิจโต 20%
นับตั้งแต่รัฐบาลผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้เริ่มเห็นความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งโครงการลงทุนเมกะโปรเจค
นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP เปิดเผยว่า นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นมาตรการที่สำคัญในการกระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้างในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยในช่วงแรกที่รัฐบาลผลักดันนโยบายอีอีซี ภาคเอกชนยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากนัก
ต่อมาในช่วงปี 2562 เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และมีการลงในรายละเอียดอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจะส่งเสริม 12 อุตสาหกรรม ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างในอีอีซีคึกคักมากขึ้น ทั้งงานก่อสร้างภาครัฐ และโครงการภาคเอกชนโดยเฉพาะการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ๆขึ้นมา โดยบริษัทฯ มีรายได้จากงานภาครัฐประมาณ 80% และงานภาคเอกชน 20%
“แม้ปริมาณงานจะเพิ่มขึ้น แต่ผลกำไรในอุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากแข่งขันรุนแรง”
ผู้ผลิตคอนกรีตสามารถผลิตงานหล่อคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จได้เหมือนๆกัน จึงทำกำไรได้ยาก ซึ่งหากมีราคาสูงกว่าคู่แข่งนิดเดียว หรือส่งสินค้าให้ผู้รับเหมาล่าช้าเพียงเล็กน้อยจะหันไปซื้อจากรายอื่นทันที ทำให้ผู้ผลิตคอนกรีตมีอำนาจต่อรองต่ำและทำกำไรได้น้อย
ดังนั้น บริษัทฯ จึงปรับปรุงการดำเนินงาน โดยในธุรกิจหลักการผลิตคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานโครงสร้างงานระบบ ซึ่งมีสัดส่วน 80% ของรายได้ทั้งหมด ผลิตภัณฑ์จะเป็นคอนกรีตสำหรับงานโครงสร้าง และงานสาธารณูปโภค ประเภททางหลวง ระบบระบายน้ำ โครงการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งบริษัทฯ เป็นอันดับ 1 ของการผลิตท่อคอนกรีต และสร้างท่อคอนกรีตใหญ่สุด 3.60 เมตรได้
โดยธุรกิจนี้ได้ปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าในมาตรฐานทั่วไป หันไปสู่การผลิตตามความต้องการเฉพาะเจาะจงของลูกค้า หรือสินค้าคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญพิเศษในการผลิต ทำให้มีกำไรต่อชิ้นงานสูงขึ้น
“จากมาตรการปรับตัวของบริษัท ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากโครงการ อีอีซี ส่งผลให้รายได้ในธุรกิจนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้มีรายได้ประมาณ 600-700 ล้านบาท พอในปีในปี 2562 มีรายได้ในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านบาท คาดว่าในปี 2563 จะมีรายได้ 1.1 พันล้านบาท หรือโตประมาณ 20% แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะถดถอยจากปัญหาไวรัสโควิด-19 แต่ผลจากการส่งเสริมโครงการอีอีซี คาดว่าจะรักษาการเติบโตได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 10% อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึก โครงการถนน รถไฟ โรงไฟฟ้าและคลังก๊าซ และยังได้เข้าร่วมกับบริษัทที่ชนะการประมูลก่อสร้างท่อเรือมาบตาพุด และแหลมฉบังเฟส 3 ในส่วนของคอนกรีตกำแพงกันคลื่น และคอนกรีตที่ใช้ถมทะเล และหากมีการลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ บริษัทฯ ก็จะเข้าไปหารือเพื่อร่วมดำเนินการต่อไป
ในส่วนของธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จของบริษัทฯ สามารถรองรับงานก่อสร้างได้ทุกประเภท ทุกขนาดตั้งแต่งานก่อสร้างขนาดเล็กไปโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ระดับประเทศ โดยธุรกิจนี้เหมือนกับอุตสาหกรรมคอนกรีตอื่นที่มีการแข่งขันสูง
ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้หันมาเน้นในงานบริการโลจิสติกส์ขนส่งคอนกรีตมากขึ้น ซึ่งได้เพิ่มบริการด้านโลจิสติกส์ขนส่งคอนกรีต โดยให้บริการเช่ารถคอนกรีตเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ซึ่งทำให้บริษัทสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมาขึ้น และความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น ทำให้จากเดิมที่ธุรกิจนี้มีรายได้ติดลบกลับมาเป็นบวก
“ในธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จระยะทางขนส่งจากโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จไม่เกิน 1 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาต่อคุณภาพของปูนคอนกรีต จึงเป็นข้อจำกัดในการแข่งขัน และขยายตลาด แต่จากการปรับตัวไปเน้นด้านธุรกิจขนส่งทำให้บริหารจัดการระบบขนส่งได้ดีขึ้น รวมทั้งโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จแต่ละแห่งก็มีความหนาแน่นของงานต่างกัน ทำให้ในช่วงที่มีงานน้อยสามารถนำรถโม่ปูนเข้ามาแชร์ใช้ร่วมกันได้ ดังนั้นรูปแบบธุรกิจนี้จึงเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย”
หลังจากที่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในอีอีซีแล้วเสร็จ นิคมอุตสาหกรรมใหม่เปิดดำเนินงาน และมีนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงาน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของที่พักอาศัย ทั้งคอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัยต่างๆก็จะขยายตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจของเราในระยะยาว แต่มองว่าอาจจะไม่ขยายตัวมากเหมือนในอดีตที่มีการลงทุนโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด ที่โรงงานแต่ละแห่งมีแรงงานหลักพันถึงหลายหมื่นคน
แต่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้ใช้แรงงานน้อย ทำให้ความต้องการที่พักอาศัยไม่เติบโตมากเหมือนในอดีต แต่ราคาต่อหน่วยอาจจะเพิ่มมากขึ้น เพราะแรงงานเหล่านี้มีรายได้สูง
“ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์คอนกรีตปีนี้มีแนวโน้มดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการอีอีซี ที่เริ่มทยอยดำเนินงานก่อสร้าง อีกทั้งยังมีโครงการของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เช่น งานถนน งานอาคารสำนักงาน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว”