กูรูจี้ธปท.ฉีดสภาพคล่องเพิ่ม ป้อง‘ตลาดบอนด์’ทรุดหนัก

กูรูจี้ธปท.ฉีดสภาพคล่องเพิ่ม  ป้อง‘ตลาดบอนด์’ทรุดหนัก

นักเศรษฐศาสตร์ หวัง ธปท. ลดดอกเบี้ยเพิ่ม พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดเงิน ก่อนปัญหาลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงิน หลังพบตลาดบอนด์ระยะสั้น เริ่มขาดสภาพคล่องหนัก กดดัน “บอนด์ยิลด์” พุ่งแรง ทำกองตราสารหนี้ขาดทุน คนแห่ไถ่ถอน

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง “ฉุกเฉิน” 0.25% มาอยู่ที่ 0.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ โดยการตัดสินใจลดดอกเบี้ยดังกล่าว เนื่องจาก กนง. เห็นว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ในระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ การระบาดที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย แม้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ กนง. จึงมีมติเอกฉันท์ ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มีผลวันที่ 23 มี.ค.นี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม

**หวังกนง.ลดดอกเบี้ยเพิ่ม

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แม้ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉินอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 0.75% เมืื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงถือว่าน้อยมาก ซึ่งตลาดกำลังคาดหวังว่า ในการประชุม กนง. นัดปกติวันที่ 25 มี.ค.นี้ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจ และที่สำคัญ ตลาดคาดหวังว่า กนง. จะมีมาตรการดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินด้วย

เขากล่าวว่า เวลานี้นักลงทุนทั่วโลกไม่เฉพาะไทย กำลังตื่นตระหนกจึงพากันเทขายสินทรัพย์ต่างๆ ออกมา เพื่อถือเงินสด ทำให้สภาพคล่องในตลาดเงินตึงตัว จึงคาดหวังว่า ธปท. จะมีมาตรการดูแล หรืออย่างน้อยทำให้ตลาดเงินเกิดความมั่นใจว่า มีผู้ดูแลในเรื่องนี้อยู่ เพื่อลดอาการตื่นตระหนกลง

“สิ่งที่แบงก์ชาติพอจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ได้ คือ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ที่สำคัญนอกจากการลดดอกเบี้ยแล้ว แบงก์ชาติ ควรฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบให้มากกว่านี้ ซึ่งนอกจากบอนด์รัฐบาลแล้ว ควรดูไปถึงหุ้นกู้เอกชนด้วย เพราะวันนี้คนพากันเทขาย สะท้อนว่าเขาไม่ต้องการถือสินทรัพย์การลงทุนใดๆ การจะต่ออายุหุ้นกู้ หรือออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อมาทดแทนจึงทำได้ยาก ถ้าปล่อยไว้ระบบการเงินจะมีปัญหาได้”

**จี้อัดฉีดสภาพคล่องเพิ่ม

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่นอกเหนือจากการลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ต้องทำให้แน่ใจว่าจะสามารถส่งผ่านการลดดอกเบี้ยดังกล่าวออกไปได้ทุกช่องทาง รวมทั้งต้องทำให้มั่นใจว่าภาคธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอ เพราะเวลานี้ปัญหาใหญ่กว่าเรื่องดอกเบี้ย คือ สภาพคล่องของภาคธุรกิจ

“การปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวคงไม่เพียงพอแล้ว เพราะตอนนี้บริษัทต่างๆ ขาดเงินสด ดังนั้นภาครัฐอาจต้องอัดซอฟท์โลนก้อนใหญ่เข้าสู่ระบบ ซึ่งตอนนี้จะเห็นว่าธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มทำแล้ว ดังนั้นสิ่งสำคัญที่คิดว่า ธนาคารกลางบ้านเราต้องทำ คือ ลดดอกเบี้ย และเพิ่มปริมาณเงินในระบบให้เพียงพอ ที่สำคัญ ต้องทำให้แน่ใจว่าเงินที่อัดฉีดเข้ามาส่งถึงมือภาคธุรกิจ เพราะเวลานี้กำลังเผชิญปัญหาที่หนักหนาสาหัสมาก”

**นักลงทุนแห่เทขายทุกสินทรัพย์

นายอมรเทพ​ จาวะลา​ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่​ สำนักวิจัย​ ธนาคาร​ ซีไอเอ็มบี​ ไทย​ กล่าวว่า จากทิศทางการเทขาย ตราสารหนี้ ตลาดพันธบัตร ที่รุนแรงมากขึ้น สะท้อนว่าช่วงที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) ในตลาดบอนด์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง โดยเฉพาะในตลาดเศรษฐกิจหลักในทั่วโลก ที่นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆออกมาต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ทองคำ น้ำมัน เงินเยน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนตื่นตกใจระยะสั้นกับเหตุการณ์โควิด-19เท่านั้น แต่นักลงทุนกำลังเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดการเทขาย เพื่อถือเงินสด โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ปัจจุบันสภาพคล่องที่เป็นดอลลาร์ขาดแคลน และหนุนให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นมากหากเทียบกับทุกสกุลเงิน

ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าว ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะโควิด-19 แต่นักลงทุนกำลังมองไปถึงโอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ จากการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัญหาอาจจะเริ่มมาจากความเสี่ยงด้านเครดิตก่อน จากการขาดรายได้ของธุรกิจ ดังนั้นนักลงทุนจึงมองไปถึงระยะข้างหน้าว่า บริษัทต่างๆอาจประสบปัญหาสภาพคล่องหนักในระยะข้างหน้าได้ ดังนั้นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญคือการขาดสภาพคล่องของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย

“วันนี้นักลงเทขายทุกสินทรัพย์ เน้นถือเงินสด ที่เป็นเงินดอลลาร์ เหล่านี้ไม่เฉพาะโควิด-19 แต่นักลงทุนกำลังมองว่า ปัญหาต่างๆจะลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้ ที่คนเริ่มพูดกันมากขึ้น และต้นตอของการเกิดวิฤตแต่ละครั้งมักเริ่มจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในตลาดใดตลาดหนึ่งก่อน ที่เริ่มมีความเสี่ยงด้านเครดิตค่อนข้างชัดเจน ทำให้สภาพคล่องในตลาดเริ่มตึงตัว ดังนั้น อาจทำให้บริษัทต่างๆเริ่มมีปัญหาได้ หากไม่มีเงินเติมเข้าไปเร่งด่วน”

**หวั่นสภาพคล่องช็อกลามวิกฤติการเงิน

นายอมรเทพ กล่าวว่า สอดคล้องกับ ผลการประชุม กนง. นัดพิเศษ ในวันที่ 20 มี.ค. ที่สเตรจเม้นท์ แตกต่างกับรอบที่่ผ่านมาๆ โดยครั้งนี้พุ่งประเด็นของการลดดอกเบี้ย ไปที่ปัญหาโควิด-19 และการขาดสภาพคล่องในตลาดเงินที่กนง.ให้ความสำคัญในรอบนี้ ทำให้ธปท.ต้องออกมาแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในตลาดเงินอย่างต่อเนื่อง จากช่วงที่ผ่านมาที่มีการอัดฉีดดอลลาร์เข้าระบบแล้วกว่า 1แสนล้านบาท แต่เชื่อว่า ตรงนี้อาจไม่เพียงพอ อาจเห็นนโยบายในการดูแลสภาพคล่องเพิ่มเติมของธปท.ได้

ดังนั้นอาจต้องจับว่า นอกจากการประชุมกนง.จะมีโอกาสที่กนง.จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมแล้วอาจเห็นการอัดฉีดสภาาพคล่องเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ซอฟท์โลน แต่อาจมีกลไกต่างๆในการเข้าไปดูแลสภาพคล่องในตลาดเงินได้ เช่นกลไกการเข้าไปซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ หรืออาจตั้งตลาดรอง เพื่อให้รีเทลอีเวสเตอร์ นักลงทุนสถาบันขายผ่านตลาดนี้ เพื่อให้ธปท.เข้าไปซื้อได้ เพราะวันนี้สภาพคล่องถือเป็นปัญหาค่อนข้างหนักที่ธปท.ต้องรีบเข้าไปดำเนินการ

“ปัญหาสถาพคล่องวันนี้ ค่อนข้างหนัก หากเอาไม่อยู่ จะเป็นภาวะที่ลามได้ เหมือนในต่างประเทศเวลาคนแพนนิค วิกฤตอาจลามไปสู่ตลาดอื่นๆได้ เช่น กรณีที่ต่างประเทศเมื่อพบว่าแบกง์ A มีปัญหา นอกจากคนแห่ไปถอนเงินแล้ว ยังลามไปถอนเงินธนาคารอื่นๆตามมาด้วย แม้ว่าจะอยู่ในภาวะปกติ ซึ่งมาจากจิตวิทยาของคนที่จำเป็นต้องติดตาม และต้องพยายามดูแลคนไม่ให้ตกใจ”

แหล่งข่าววงการการเงิน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ ธปท. ต้องเข้ามาเร่งแก้ปัญหา คือ สภาพคล่องในตลาดบอนด์ระยะสั้น เพราะมีแต่คนขายไม่มีคนรับซื้อ ทำให้บอนด์ยิลด์พุ่งขึ้นแรงเนื่องจากราคาปรับลดลง ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยลงทุน(NAV) ของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ปรับลดลงจนขาดทุน ทำให้นักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนขาดความเชื่อมั่น พากันมาไถ่ถอนหน่วยลงทุน เหมือนกับที่ บลจ.ทหารไทย กำลังเผชิญอยู่ ประเด็นสำคัยจึงอยู่ที่ ธปท. ต้องเร่งเข้ามาดูแลก่อนที่ปัญหาจะลุกลามใหญ่โตไปมากกว่านี้

“แม้แบงก์ชาติจะบอกว่า ฉีดเงินเข้าตลาดบอนด์เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ตัวที่แบงก์ชาติเข้าซื้อส่วนใหญ่เป็นบอนด์ระยะยาวของรัฐ ส่วนตัวที่มีแรงขายหนักๆ คือ บอนด์ระยะสั้น หากแบงก์ชาติยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปต่อเนื่อง สถานการณ์จะหนักยิ่งขึ้น”

**กสิกรหั่นดอกเบี้ยกู้0.25%

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารกสิกรไทยพร้อมตอบสนองนโยบาย เดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลง 0.25% เหลือ 6.62% และลด MRR ลง 0.12% เหลือ 6.50% เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้าของธนาคารโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและย่อม(SME) และ บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ ธนาคารไม่ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด หากแต่ลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.05% และ เงินฝากประจำลง 0.10%-0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2563 เป็นต้นไป