'Food Delivery' รายได้ดี-หน้าที่นี้เพื่อสังคม
มาตรการปิดเมืองห้ามประชาชนเดินทางออกนอกพื้นที่ แม้จะยังไม่นำมาใช้ในประเทศไทย แต่การขอความร่วมมืออยู่บ้านเพื่อชาติ ซึ่งการอยู่บ้านไม่ไปไหนทำให้อาชีพหนึ่งเริ่มมีความสำคัญต่อการอยู่รอดคนในสังคมทุกวันนี้แต่ที่สำคัญกว่านั้นนับเป็นอาชีพรายได้งามด้วย
ณ นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน พื้นที่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงที่สุดในประเทศจีน กระทั่งต้องใช้มาตรการปิดเมืองห้ามประชาชนเดินทางออกนอกพื้นที่
หลังจากปิดเมืองนานกว่า 2 เดือน ขณะนี้สถานการณ์ของนครอู่ฮั่นค่อย ๆ กลับฟื้นคืนสภาพปกติ และเตรียมประกาศเปิดเมืองในวันที่ 8 เม.ย. 2563 ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นมีประสบการณ์และบทเรียนหลายอย่างที่น่าสนใจ จากเรื่องเล่าส่วนหนึ่งของซีพีในประเทศจีน เผยว่าสูตรสำเร็จฝ่าวิกฤตโควิด-19 ที่อู่ฮั่นประกอบด้วย 3 ปิด คือ ปิดเมือง ปิดถนน และปิดชุมชน
โดยอาสาสมัครจะมารับสินค้าจากจุดหลักในการกระจายสินค้าและนำไปส่งต่อให้แก่พี่น้องในชุมชน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านั้นจะรับใบสั่งซื้อหรือ Order ในวันถัดมากลับมาด้วย ซึ่งนอกจากซีพีในอู่ฮั่นจะดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของอู่ฮั่นในการจัดส่งอาหารให้ถึงมือประชาชนแล้ว ยังร่วมส่งอาหารให้อาสาสมัครด้วย
จากประสบการณ์ของซีพีอู่ฮั่น ชี้ให้เห็นว่าพนักงานส่งอาหารกำลังเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมในช่วงการระบาดโควิดนี้
วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าธุรกิจร้านอาหารที่มีการให้บริการส่งอาหารแบบฟู๊ดเดลิเวอรี่(Food Delivery)มียอดสั่งอาหารเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด อีกทั้ง ระบบดังกล่าวยังสอดรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่เน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว ประหยัดเวลา พร้อมเสริฟ..พร้อมทาน ทำให้ระบบการให้บริการแบบฟู๊ดเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนต้องเปลี่ยนไป เน้นการสั่งอาหารผ่านพนักงานส่งอาหารแบบฟู๊ดเดลิเวอรี่มากขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับร้านอาหารที่มีการให้บริการดังกล่าว ซึ่งทั้งร้านอาหารผู้ให้บริการ พนักงานผู้ส่งอาหารแบบฟู๊ดเดลิเวอรี่ และผู้บริโภคที่สั่งอาหาร ต่างได้รับความพึงพอใจ เข้าลักษณะ win win win ทั้ง 3 ฝ่าย
ดังนั้น ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการร้านค้าส่งเสริมให้เชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) เข้าด้วยกัน เน้นทำการตลาดผ่านระบบฟู๊ดเดลิเวอรี่ควบคู่ไปกับการบริการที่ดีเยี่ยมภายในร้าน รวมทั้ง มีระบบการชำระเงินแบบออนไลน์ ซึ่งจะทำให้การบริการของผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยครบวงจรมากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด เป็นการเพิ่มยอดขายและรายได้ให้แก่ธุรกิจในระยะยาว โดยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงให้กรมฯ รีบดำเนินการทันที
เบื้องต้น กรมฯ เตรียมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยภายใต้โครงการ “Smart Restaurant 2020” โดยจะมีการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 2 รุ่น แบ่งเป็น 1) รุ่นมือใหม่ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องการเพิ่มองค์ความรู้ระดับพื้นฐาน เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยเนื้อหาจะเน้นเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ (Restaurant Branding) พื้นฐานการจัดการร้านอาหาร กลยุทธ์ธุรกิจเดลิเวอรี่ การทำการตลาดด้วยสื่อโซเชียลมีเดีย เทคโนโลยีสำหรับร้านอาหาร การจัดการสต็อก/เมนูพื้นฐาน และการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าเบื้องต้น
2) รุ่นมือโปร สำหรับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่มีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ เช่น การปรับตัวในยุค 5G การวางแผนระบบร้านค้าและการขยายสาขา เทคนิคการจัดการบัญชีร้านอาหาร การทำการตลาดด้วยสื่อโซเชียลมีเดียระดับสูง การบริหารการตลาดและกลยุทธ์การทำการตลาดผ่านระบบเดลิเวอรี่ และการประชาสัมพันธ์ร้านค้า”
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.พ. 2563) มีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร จำนวนทั้งสิ้น 15,260 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 106,461.97 ล้านบาท โดยในปี 2563 (เดือนม.ค.-ก.พ.) มีผู้จดทะเบียนธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร ทั้งสิ้น 416 ราย ทุนจดทะเบียน 852.17 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 2,113 ราย ทุนจดทะเบียน 4,272.13 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 2,058 ราย ทุนจดทะเบียน 6,633.47 ล้านบาท และปี 2560 จำนวน 1,916 ราย ทุนจดทะเบียน 4,396.19 ล้านบาท