'สมคิด'ยันอุ้มการบินไทย ตั้งเงื่อนไขเข้มแผนฟื้นธุรกิจ

'สมคิด'ยันอุ้มการบินไทย  ตั้งเงื่อนไขเข้มแผนฟื้นธุรกิจ

“สมคิด” ยืนยัน “คลัง”พร้อมอุ้มการบินไทย ตั้งเงื่อนไขต้องทำแผนสร้างความเข้มแข็งธุรกิจ ชี้ไม่ปลดพนักงาน “โบรกเกอร์” ประเมิน “การบินไทย” อ่วมสุด คาดขาดทุนสุทธิ 5.9 หมื่นล้าน เสี่ยงต้องปรับโครงสร้างทุน

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินอย่างรุนแรง ส่งผลให้สายการบินทยอยหยุดบิน รวมถึงบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ต้องทำแผนเสนอกระทรวงการคลังเพื่อเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจในขณะนี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบินไทยเป็นสายการบินของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะให้สายการบินนี้อยู่คู่กับประเทศ โดยขณะนี้การบินไทยประสบความลำบากจากเศรษฐกิจภายนอกและฐานะของการบินไทยเอง รัฐบาลก็ยังให้ความมั่นใจว่าจะดูแลการบินไทย

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐบาลต้องมาจากการที่การบินไทยจะต้องพยายามที่จะแสดงความตั้งใจในการพัฒนาตัวเองให้มีความเข้มแข็ง ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการและเรื่องกลยุทธ์ในการแข่งขันในอนาคตข้างหน้าซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังต้องการเพื่อให้การบินไทยสามารถแข่งขันได้ในอนาคตข้างหน้า

“เรื่องทั้งหลายที่เป็นข่าวในขณะนี้ เช่น การปลดพนักงานไม่มี ข่าวที่ไม่ได้ออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการบินไทยถือว่าไม่เป็นความจริง”นายสมคิด กล่าว

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า  การบินไทย  ได้แจ้งกรรมการและผู้จัดการ ตลท.วันนี้ (30 มี.ค.) เรื่องการลาออกจากตำแหน่งของกรรมการบริษัทฯ โดยขอแจ้งให้ทราบว่า นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา การบินไทย ได้แจ้ง ตลท.ถึงการลาออกของกรรมการ 3 คน คือ นางปรารถนา มงคลกุล ,น.ส.ศิริกุล เลากัยกุล และนายพินิจ พัวพันธ์

บินไทยเสี่ยงขาดทุน5.9หมื่นล้าน

นายดิษฐนพ วัธนเวคิน นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 ของหุ้นกลุ่มการบิน ประกอบด้วย บมจ.การบินไทย (THAI) ,บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ขาดทุนรวมประมาณ 1.51 หมื่นล้านบาท 

โดยได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวปรับตัวลดลง 40-50 % เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) หลังจีนออกมาตรการสั่งผู้ประกอบการกรุ๊ปทัวร์หยุดดำเนินการตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และสายการบินเริ่มทยอยลดเที่ยวบิน

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานกลุ่มสายการบินจะได้รับผลกระทบหนักในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เพราะสายการบินต่างๆ ทยอยหยุดบินชั่วคราวตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 100% และคาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ทำให้คาดว่าทั้งปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 15 ล้านคน ลดลง 62% จากปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 11 ปี

ดังนั้น บริษัทจึงคาดว่ากลุ่มสายการบินปี 2563 จะมีผลขาดทุนรวม 66,663 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนรวม 12,166 ล้านบาท ประกอบด้วย THAI ขาดทุน 59,162 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 12,042 ล้านบาท เพราะคาดผู้โดยสายลดลง 58% ขณะ BA คาดขาดทุน 3,032 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 351 ล้านบาท เพราะประเมินผู้โดยสารลดลง 43% 

และ AAV ขาดทุน 4,469 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 474 ล้านบาท ซึ่งประเมินผู้โดยสารลดลง 48% ซึ่งบริษัทประเมินว่า AAV และ BA ได้รับผลกระทบโควิด-19 น้อยกว่า เนื่องจาก มีสัดส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศน้อยกว่าเพียง 40% และ 30% ขณะที่ THAI มีสัดส่วนเส้นทางการบินต่างประเทศ90% และบริษัทคาดว่า BA จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า AAV เนื่องจากจำนวนเครื่องบินในฝูงบินน้อยกว่า

คาดต้องปรับโครงสร้างทุน

อย่างไรก็ตามหากนักท่องเที่ยวปีนี้ลดลง 77% จากปีก่อน อยู่ที่ 9 ล้านคน และผู้ประกอบการสายการบินยกเลิกเส้นทางบินระหว่างประเทศไปถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ คาดกลุ่มสายการบินจะมีผลขาดทุน 87,390 ล้านบาท แบ่งเป็น AAV ขาดทุน 6,442 ล้านบาท BA ขาดทุน 4,563 ล้านบาทและ THAI ขาดทุน 72,073 ล้านบาท

นายดิษฐนพ กล่าวว่า บริษัทได้ประเมินแสเงินสดในมือและค่าใช้จ่ายต่อเดือนของกลุ่มสายการบิน พบว่า THAI มีความเสี่ยงที่จะต้องปรับโครงสร้างทุนมากสุด เนื่องจากมีโอกาสที่ส่วนทุนจะติดลบในช่วงผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก เพราะแม้จะหยุดบินชั่วคราว แต่ยังมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูง 7,000 ล้านบาท ขณะที่มีกระแสเงินสดในมือณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 21,000 ล้านบาท ทำให้สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้เพียง 2-3 เดือน

ส่วน BA และ AAV มีความเสี่ยงระดับกลาง เพราะ ณ สิ้นปี 2563 ทั้ง 2 บริษัทมีกระแสเงินสดประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 1,000 ล้านบาท หลังจากหยุดบินชั่วคราว ทำให้กระแสเงินสดรองรับค่าใช้จ่ายได้ 4-5 เดือน