'กระทรวงเกษตรฯ' รับมือพิษโควิด อุ้มแรงงานกลับถิ่น 7.8 หมื่นคน
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแผนอุ้มแรงงานคืนถิ่น 7.8 หมื่นคน ลดผลกระทบว่างงาน ถูกเลิกจ้าง
อบรมให้ความรู้ หนุนสินเชื่อทำเกษตร ร่วมมือสหกรณ์รับบรรจุบัณฑิตจบใหม่รับเงินเดือน 15,000 บาท 1 ปี ช่วยงานพัฒนาภาคเกษตร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้าและ ภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า โรงแรม การค้าส่ง การค้าปลีก
ทั้งนี้ ส่งผลต่อการจ้างแรงงาน ที่มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการหลายแห่งอาจเลิกประกอบกิจการ เลิกจ้างแรงงาน หรือลดจำนวนแรงงาน รวมถึงแรงงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ส่งผลให้แรงงานดังกล่าวเคลื่อนย้ายคืนถิ่นกลับสู่บ้านเกิด
ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมีโครงการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการ รวม 78,310 คน ได้แก่
1.โครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทยด้วยศาสตร์พระราชา เป้าหมาย 76,000 ราย โดยจะช่วยเหลือให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างกลับคืนถิ่นบ้านเกิด โดยหันกลับมาทำการเกษตร เพื่อให้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ภายใน 7-10 วัน ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและเป็นทางรอดในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และ
รวมถึงน้อมนำแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และการทำเกษตรกรรมยั่งยืนมาขยายผลเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 โดยจะดำเนินการในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เป้าหมายจังหวัดละ 1,000 ราย
โดยอบรมผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ ระหว่างเดือนเม.ย. 2563 – มี.ค. 2564 สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ และเข้ารับการฝึกอบรม ตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นกลาง ไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) และปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรพอเพียง (ระยะเวลาฝึกอบรม 3 วัน)
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ เพื่อส่งเสริมการมีงานทำให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และแรงงานไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ เช่น จีน และเกาหลีใต้ ทำให้มีรายได้ที่เพียงพอสำหรับเลี้ยงตนเอง และครอบครัว รวมทั้งลดการกระจุกตัวของประชากรในเมืองใหญ่ รวมถึงทำให้มีแรงงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น สามารถพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Farmer ต่อไป
“ปัจจุบันหน่วยงานและศูนย์ที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทยด้วยศาสตร์พระราชา โดยกำหนดจัดอบรม ผ่านศูนย์เรียนรู้การ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่าย และศูนย์เครือข่ายกว่า 10,000 ศูนย์ทั่วประเทศ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) และปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรพอเพียง ในหลักสูตรต่าง ๆ”
ทั้งนี้ จะมีการปรับพื้นฐานความรู้ด้านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (หลอมความคิดสู่ชีวิตชาวนา) การจัดที่อยู่อาศัยและภูมิทัศน์รอบบ้านด้านการเกษตรให้น่าอยู่ การปลูกพืชสวนครัว/พืชไร่ การทำประมงและการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การเลี้ยงปศุสัตว์ การปลูกไม้ผล การปลูกป่าและไม้เศรษฐกิจ การทำนา และองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตรและการใช้ Big Data
หลังจากการจบหลักสูตร ผู้เข้าร่วมโครงการต้องออกแบบกิจกรรมในแปลงเกษตรของตนเอง โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเกษตรผสมผสานแบบพอเพียง มีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน รวมถึงพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ แหล่งน้ำ และศักยภาพของตัวเอง
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนด้านการผลิต แหล่งน้ำ และด้านอื่น ๆ ได้แก่ สนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสมกับศักยภาพและความพร้อมของพื้นที่ เช่น เมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อาทิ ไก่ เป็ด โคเนื้อ สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนในการประกอบอาชีพการเกษตร พัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำในไร่นา
2.โครงการบัณฑิต จิตอาสา ร่วมพัฒนาสหกรณ์การเกษตรไทย เป้าหมายจ้างงาน 1,540 อัตรา โครงการบัณฑิตจิตอาสาร่วมพัฒนาสหกรณ์ไทย และ โครงการสร้างผู้ประกอบการด้านการให้บริการทางการเกษตร Agricultural Service Provider เพื่อให้เกิดการสร้างงาน/สร้างอาชีพให้กับผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี
โดยร่วมกับสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและมีจิตอาสา เพื่อปฏิบัติงานในสหกรณ์การเกษตร 77 จังหวัด จังหวัดละ 10 แห่ง รวม 770 แห่ง (แห่งละ 2 ตำแหน่ง) โดยบรรจุในตำแหน่งพนักงานจ้างเหมาบริการ ประมาณ 1,540 อัตรา และได้รับค่าตอบแทน เดือนละ 15,000 บาท
ดำเนินการโครงการ ระหว่างเดือน เม.ย.63 – มี.ค.64 และจะมีการจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นกับการปฏิบัติงาน ตลอดจนองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจการเกษตรอื่น ๆ ได้แก่ การจัดทำแผนพัฒนาสหกรณ์การเกษตร การจัดทำบัญชีฟาร์ม การจัดทำแผนธุรกิจ (Business plan) การใช้เทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับสำหรับการพัฒนาสหกรณ์การเกษตร
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการสร้างงานให้กับผู้จบการศึกษาใหม่ หรือแรงงานถูกเลิกจ้างที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป รวมทั้งได้รับประสบการณ์การทำงานจริงในภาคเกษตร คนรุ่นใหม่มีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรไทยในอนาคต และสหกรณ์ได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี ที่ทันสมัย เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์