รู้จัก 'ขัตติยา อินทรวิชัย' ซีอีโอหญิงคนแรก 'กสิกรไทย'
แต่งตั้ง “ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ขึ้นเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” หรือ “ซีอีโอ” อย่างเป็นทางการแทน “บัณฑูร ล่ำซำ” ที่ขอลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดในกสิกรไทย
ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในวานนี้ (2เม.ย.) มีมติแต่งตั้ง “ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ขึ้นเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” หรือ “ซีอีโอ” อย่างเป็นทางการแทน “บัณฑูร ล่ำซำ” ที่ขอลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดใน กสิกรไทย
ความจริงคนใน “แวดวงการเงิน” ทราบเรื่องนี้มาพักใหญ่แล้ว เพราะที่ประชุมบอร์ดธนาคารกสิกรไทย เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2562 ได้มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ให้แต่งตั้ง “ขัตติยา” ขึ้นเป็น “ซีอีโอ” แทน “บัณฑูร” ซึ่งครบกำหนดตามสัญญาและขอไม่ต่อวาระ โดยการเข้ารับตำแหน่ง “ซีอีโอ” ของ “ขัตติยา” จะมีผลอย่างเป็นทางการหลังการประชุมผู้ถือหุ้นในวานนี้
“ขัตติยา” เริ่มทำงานกับกสิกรไทยมาตั้งแต่ปี 2530 ในฝ่ายสินเชื่อการเกษตรและการผลิต ก่อนจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการวาณิชธนกิจ ในปี 2535
อีก 3 ปีถัดมา (ปี2538) เธอได้เลื่อนเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาดและเครดิต และในปี 2544 “ขัตติยา” ก็ได้รับการโปรโมทขึ้นเป็น ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ก่อนจะขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของ ธนาคารกสิกรไทย
กระทั่งในปี 2553 เธอถูกเลือกให้รับตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการ และอีก 4 ปีถัดมา(ปี 2557) ก็ได้รับเลื่อนเป็น รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส จนกระทั่งในปี 2559 ได้รับการโปรโมทขึ้นเป็น 1 ใน 4 กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
เรียกได้ว่า “ขัตติยา” ผ่านงานใน กสิกรไทย มาครบเกือบทุกสาขา ที่สำคัญ เธอยังเป็น “เอ็มดี” หญิงคนเดียวที่เชี่ยวชาญด้านการตลาด มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งถือเป็นหน้าตาของธนาคารกสิกรไทย ขณะเดียวกัน เธอยังมีความเก่งในด้าน “การเงินการบัญชี” ด้วย
นอกจากนี้ “ขัตติยา” ยังมีความเชื่อว่าในยุคของ “ข้อมูล” คือ “พลัง” ธนาคารจะต้องเอาข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจและลูกค้าของกสิกรไทยเอง
ด้วยเหตุนี้ เธอจึงผลักดันให้ กสิรกรไทย นำระบบ “บิ๊กดาต้า” มาใช้ในองค์กร โดยมีเป้าหมายใช้เป็น “เครื่องมือ” นำไปสู่การปล่อยสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์ พร้อมผลักดันกสิกรไทยเข้าสู่ทิศทางใหม่ด้วย "ดิจิทัลแบงกิ้ง" ภายใต้ “data driven lending”
การที่ “ขัตติยา” นำทั้ง "เทคโนโลยี" มาผสมผสานกับการทำ "มาร์เก็ตติ้ง" ในสิ่งที่เธอถนัด จึงทำให้ผลงานของ “ขัตติยา” โดดเด่นในสายตาของทีมบริหารของธนาคารกสิกรไทย นั่นคือสิ่งที่ “ขัตติยา” ได้รับเลือกให้ “รับไม้ต่อ” จาก “บัณฑูร” ในการนั่งเป็น “ซีอีโอ”
นี่จึงเป็นที่มาของ “ซีอีโอหญิง” คนแรกของกสิกรไทย
อย่างไรก็ตามหนทางข้างหน้าของซีอีโอหญิงคนนี้ ถือว่า “ท้าทาย” เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องสั่งการให้ ธนาคารพาณิชย์ ทุกแห่งลงไปช่วยภาคธุรกิจและประชาชนอย่างเต็มที่
ขณะที่บทบาทของ “บัณฑูร” ตลอดช่วงอายุการดำรงตำแหน่ง “ซีอีโอ” เขาเปรียบเหมือน “พ่อพระ” ที่พร้อมเข้าดูแลภาคธุรกิจอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่ทุกคนยากลำบาก การรับไม้ต่อของ “ขัตติยา” ในห้วงเวลาเช่นนี้ จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง