'พักชำระหนี้' กับ 'พักหนี้' ต่างกันอย่างไร

'พักชำระหนี้' กับ 'พักหนี้' ต่างกันอย่างไร

ทำความเข้าใจความหมาย และเงื่อนไขของการ 'พักชำระหนี้' กับ 'พักหนี้' ก่อนตัดสินใจ ลดภาระหนี้ช่วงโควิด-19

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจ การทำงาน ชีวิตประจำวันของหลายคนเปลี่ยนไป จนส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋า เมื่อการแพร่ระบาดที่ดูเหมือนว่าจะไม่จบลงง่ายๆ ทำให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องเข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง 

หนึ่งในนั้นมาตรการจัดการหนี้ ที่รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ทยอยออกมาตรการ “ลดภาระหนี้” ให้กับประชาชนให้สามารถบริหารจัดการรายได้ให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้

ระยะที่ผ่านมา มีหลายธนาคารออกมาตรการที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป ที่ได้เห็นบ่อยๆ คือการเปิดให้ "พักชำระหนี้" "พักชำระเงินต้น" "ลดดอกเบี้ย" ไปจนถึง "พักหนี้" ซึ่งแต่ละคำ มีความหมายที่แตกต่างและวิธีดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป 

ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการเพื่อรับเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ อยากให้ทำความเข้าใจกับคำต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ไม่เกิดความสับสน และสามารถวางแผนการชำระหนี้ได้ถูกต้อง

พีรภัทร ฝอยทอง CFP ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย/นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล อธิบายถึงความแตกต่างแต่คำต่างๆ ไว้ ดังนี้

158642032890

    

  • พักชำระหนี้

"พักชำระหนี้" หมายความว่า ในงวดที่ได้รับการพักชำระนั้น ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ธนาคารจะยังคิดดอกเบี้ยต่อไปเรื่อยๆ แล้วค่อยมาเก็บดอกเบี้ยในภายหลัง 

นาย A เป็นลูกค้าของธนาคาร ที่ให้มาตรการพักชำระหนี้ 3 เดือน ระหว่างที่มีการพักชำระหนี้ นาย A ไม่ต้องชำระเงินให้กับธนาคารเลย ในงวดที่ 10 – 13 แต่ หลังจากพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้ 3 เดือนนี้แล้ว นาย A จะต้องกลับมาผ่อนชำระค่างวดตามปกติในงวดที่ 14 และจะต้องจ่ายดอกเบี้ยของงวดที่ 10-13 ซึ่งยังค้างชำระเอาไว้ด้วย

ซึ่งการ พักชำระหนี้ ที่นี้ หลายคนอาจสับสน และคิดว่าเป็นลักษณะเดียวกับการพักหนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่เหมือนกัน!

  • พักหนี้

การ “พักหนี้หมายความว่า ในงวดที่ได้รับการพักหนี้ให้ ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และธนาคารจะหยุดคิดดอกเบี้ยในช่วงที่เราพักหนี้ด้วย

ตัวอย่างคือ นาย A เป็นลูกค้าของธนาคารที่มีมาตรการพักหนี้ 3 เดือน เขาไม่ต้องชำระเงินให้กับธนาคารเลย ในงวดที่ 10 – 13 เหมือนกับกรณีการพักชำระหนี้ แต่ในระหว่าง 3 เดือนที่ไม่ได้ชำระหนี้นั้น ธนาคารจะหยุดคิดดอกเบี้ยของนาย A 

ซึ่งหมายความว่า เมื่อพ้นระยะเวลาพักหนี้ไปแล้ว นาย A จะต้องกลับมาผ่อนชำระค่างวดเดือนละ 10,000 บาทตามเดิม ในงวดที่ 10 เหมือนว่า 3 เดือนที่ผ่านมาธนาคารหยุดเวลาไว้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งการพักหนี้ลักษณะนี้จะทำให้ลูกหนี้ไม่มีดอกเบี้ยค้างจ่ายกับธนาคารเหมือนกรณีการพักชำระหนี้นั่นเอง

158642017186

  • พักชำระเงินต้น

ส่วนการพักชำระเงินต้น” ที่หมายความว่าในงวดที่พักชำระเงินต้นนั้น ไม่ต้องจ่ายเงินต้น แต่ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารไปเรื่อยๆ 

เช่น นาย A เป็นลูกค้าของธนาคารแห่งหนึ่ง สมมติเขาจะต้องจ่ายค่าผ่อนหนี้บ้าน เป็นเงิน 10,000 บาททุกเดือน เป็นเงินต้น 3,800 บาท ดอกเบี้ย 6,200 บาท ให้กับธนาคาร

ในช่วงโควิด-19 นาย A ตกลงกับธนาคารเพื่อทำการพักชำระเงินต้น ในการผ่อนชำระ งวดที่ 10 – 13 รวมเป็นเงินทั้งหมด 18,600 บาท (6,200 บาท x 3 งวด)

หลังจากที่พ้นระยะเวลาพักชำระเงินต้น 3 เดือน นาย A จะต้องกลับมาผ่อนชำระค่างวดเดือนละ 10,000 บาทตามเดิม ดังนั้นการที่ นาย A จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเดือนละ 6,200 บาท มา 3 เดือน ยอดเงินต้นจึงยังคงเหลืออยู่เท่าเดิม เมื่อกลับมาชำระหนี้ตามปกติ ก็เหมือนการเริ่มชำระหนี้งวดที่ 10 ใหม่ เพราะหลักของการผ่อนหนี้บ้านก็คือ ในแต่ละงวดที่ผ่อน เงินจะถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยก่อน จากนั้นส่วนที่เหลือจึงจะถูกนำไปจ่ายเงินต้น

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ อย่างเช่น  การลดดอกเบี้ย ซึ่งหมายถึงการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ในช่วงระยะที่ธนาคารกำหนด หมายความว่า ยังต้องมีการชำระเงินต้น และดอกเบี้ยตามเดิม แต่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยลง 

ดังนั้น เมื่อมีมาตรการต่างๆ ออกมา ต้องดูว่าเป็นมาตรการลักษณะใดโดยต้องมีการสอบถามถึงเงื่อนไขและรายละเอียดเพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่เราต้องจ่าย และเตรียมไว้จ่ายในอนาคต

“ใครยังผ่อนไหว อยากแนะนำให้ผ่อนเท่าเดิม เพราะทำให้เงินต้นลด แต่ถ้าอยากลดภาระจริงๆ ลองดูว่าหากสามารถรีไฟแนนซ์ได้ อาจใช้การรีไฟแนนซ์แทน เพราะจะช่วยลดดอกเบี้ยลงมา เนื่องจากปัจจุบันหลายธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว หากมีการเจรจาลดดอก ลดยอดการผ่อนให้ไปผ่อนต้นบ้างก็ยังดีกว่าพักชำระเฉยๆ เพราะว่าหากมีแค่การชำระแบบพักชำระชั่วขณะอาจกลายเป็นดินพอกหางหมู และต้องกลับมาชำระเพิ่มภายหลังอยู่ดี พีรภัทร กล่าว

อย่างไรก็ดี นอกจากมาตรการความช่วยเหลือของรัฐ และธนาคารแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบเอง จะต้องพยายามจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่เพื่ออย่างรัดกุม และปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย ควบคู่ไปเพื่อให้สามารถผ่านวิกฤตในคร้งนี้ไปได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

- รวม 'พักชำระหนี้รถยนต์' ลดภาระช่วง 'โควิด-19' ระบาด

- เช็คด่วน! รวมมาตรการช่วยเหลือ ‘ลูกหนี้ธุรกิจ-เอสเอ็มอี’ ของทุกธนาคาร