'พลังงาน' ส่อเขย่าใหม่แผนพีดีพีรับพิษโควิด19
“พลังงาน” ส่อรื้อแผนพีดีพี-แผนก๊าซฯ หลังโควิด-19 ฉุดจีดีพี ยอดการใช้ไฟฟ้าของประเทศต่ำกว่าสมมติฐาน ห่วงสำรองไฟฟ้าล้นระบบทำประชาชนแบกต้นทุนค่าไฟพุ่ง
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 2563 อย่างมีนัยสำคัญ หลังหลายสำนักฯ ได้ทยอยปรับคาดการณ์จีดีพี ปีนี้ ลดลงและอาจติดลบ ขณะที่การส่งออก ยังหดตัว ซึ่งตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้สมมติฐาน การพยากรณ์ใช้ไฟฟ้าของประเทศ (load forecast ) 20 ปีข้างหน้า เบี่ยงเบนไปจากตัวเลขที่จะเกิดขึ้นจริงมาก เนื่องจากในแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ใช้สมมุติฐานจีดีพี เฉลี่ย 3.3% ต่อปี
ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับแผนพีดีพี ใหม่ให้สอดคล้องจะส่งผลให้มีการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่มากเกินกว่าความต้องการ และปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศในระบบสูงเกินไป จากปัจจุบัน มีปัญหาสำรองไฟฟ้าสูงกว่า 30% อยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ที่จะต้องจ่ายการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งของรัฐ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) ที่ไม่จำเป็น เพราะถึงแม้จะไม่ถูกสั่งให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้า แต่ก็ยังต้องมี “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนเหล่านี้จะถูกคำนวนรวมเข้าไปอยู่ในค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะต้องจ่าย
“ขณะนี้ สนพ.อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลการใช้ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานงานร่วมกับ กฟผ.เพื่อประเมินตัวเลขสมมติฐานต่างๆ รวบรวม เตรียมนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นิ่งลง ว่าจะนำไปสู่การทบทวนแผนพีดีพี และแผนก๊าซฯใหม่หรือไม่”
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาสำรองไฟฟ้าในระบบล้นในระยะสั้น สิ่งที่ทำได้คือ จะต้องพิจารณาเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ในช่วงปี2563-2568 ออกไปก่อน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าบางปะกง ทดแทนเครื่องที่ 1-2 ของ กฟผ. กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ที่จะเข้าระบบในปี 2563
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การปรับปรุงแผนพีดีพีใหม่ สามารถดำเนินการได้ แม้ว่ากระทรวงพลังงานจะเพิ่งจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) และผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 แล้ว เนื่องจาก ตามมติ กพช.เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่ให้ความเห็นชอบแผนพีดีพี 2018 ระบุให้มีการทบทวนใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังสั่งการให้ กฟผ.ทบทวนแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ช่วงปี 2563-2565 ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่มีแนวโน้มลดลง อีกทั้ง เตรียมปรับแผน LNG Regional Hub ของ ปตท. ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากคลังรับจ่าย LNG แห่งที่ 1 ของ ปตท.มีประสิทธิภาพรองรับ LNG นำเข้าไปถึง 11.5 ล้านตันต่อปี และคลังรับจ่าย LNG แห่งที่2 อีก 7.5 ล้านตันต่อปีจะแล้วเสร็จในปี 2565 ขณะที่ความต้องการใช้ LNG ในประเทศอาจไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้น จึงอาจจะต้องหันไปจัดทำแผนส่งออก LNG มากขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคด้านกฎหมายที่จะต้องปลดล็อคและนำไปสู่การค้าเสรีในธุรกิจ LNG ต่อไปด้วย
ล่าสุด ในช่วงต้นปีนี้ สศช.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 63 ลงเหลือ 1.5-2.5% จากเดิมคาด 2.7-3.7% หลังได้รับผลกระทบหลายปัจจัยทั้งภัยแล้ง,งบประมาณปี63ล่าช้า และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ปรับลดคาดการณ์จีดีพี ของไทยในปี 63 ลงเหลือเติบโตแค่ 0.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 2.7% จากผลกระทบโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก และธนาคารโลก เตรียมปรับประมาณการณ์ในเดือน เม.ย.63 จากเดิมคาดว่า จีดีพี ปี63 จะเติบโต 2.7%