'KUN'ชี้โควิด-19 ดันบ้านชานเมืองขายดี-มั่นใจรายได้ครึ่งปีแรก63ตามเป้า
"KUN" เผยโควิด-19 หนุนยอดขายบ้านชานเมืองเพิ่มขึ้น ดันรายได้ครึ่งปีแรกตามเป้า เหตุ รายได้ไตรมาส1/63ตามคาด-มีBacklog 150 ล้านบาท ทยอยรับรู้ภายในไตรมาส2ปีนี้ พร้อมเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ 2 โครงการ มูลค่ารวม 2.3พันล้านบาท
นางประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน)หรือ KUN เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถคลี่คลาย และได้แพร่ระบาดเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลาอันใกล้ บริษัทฯได้ใช้การวางกลยุทธ์แบบ Worst case scenario มาเป็นหลักคิด เพื่อวางรูปแบบการทำงานให้ชัดเจน และทุกๆคนในองค์กรมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตรงกัน
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ เนื่องจากไตรมาส1ปี 2563 เป็นไปตามคาด เพราะ ช่วงที่ผ่านมาจำนวนยอดผู้เข้าชมโครงการ (Walk In) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2-3 เดือนแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค. 2563) ผลของการทำการตลาดได้ในวงที่กว้างขึ้น และKUNเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ และในปัจจุบัน บริษัทฯมียอดจองบ้านรอโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาส2/2563 เป็นจำนวนกว่า 150 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทฯ ยังมั่นใจถึงทิศทางการดำเนินงานตามแผนธุรกิจที่วางไว้โดยการเปิดโครงการใหม่ จำนวน 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 2,300 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการ คุณาลัย บีกินส์ 2 ซึ่งเป็นโครงการประเภททาวน์โฮม รวม 363 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 800 ล้านบาท และ 2. โครงการคุณาลัย จอย2 ซึ่งเป็นโครงการประเภทบ้านแฝด-บ้านเดี่ยว 2 ชั้น รวม 411 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะเป็นโครงการที่สร้างเสร็จบางส่วนก่อนเปิดการขายอย่างเป็นทางการ และเป็นการเปิดต่อเนื่องจากโครงการที่ปิดการขายไปแล้ว เป็น 2 โครงการที่ขายดี โดยบริษัทฯจะสามารถรับรู้รายได้เร็วขึ้นหลังการขาย แต่ในทางกลับกัน หากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ บริษัทฯอาจจะพิจารณาการปรับเป้าหมาย และเลื่อนแผนการลงทุนในทิศที่ 3 ออกไป เพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทฯ
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เตรียมการเปิดโครงการรองรับงานโอนกรรมสิทธิ์ในอนาคต เพราะธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใช้เวลา ในการสร้างสินค้านานกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้บริษัทฯจึงค่อยๆพัฒนาโครงการ เพื่อรองรับความต้องการที่จะกลับมาหลังสถานการณ์คลี่คลาย ขณะเดียวกันได้ปรับรูปแบบด้านสื่อให้เหมาะกับชีวิตแบบ social distance รวมถึงได้ปรับบ้านบางแบบ มาเป็นแบบ conventional ทำให้สามารถควบคุมระยะเวลาการก่อสร้างให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่มีได้ และบ้านบางแบบเป็น prefab (รูปแบบสำเร็จรูป) เพื่อเร่งในกลุ่มสินค้าขายดี ขณะเดียวกันควบคุมค่าใช้จ่ายซึ่งทำมาโดยตลอด และระมัดระวังเรื่องสินค้าคงค้าง (สต๊อก) รวมถึงรักษากระแสเงินสด (cash flows) และได้จัดสรรเรื่องการเงินให้เพียงพอสำหรับ1 ปี เพื่อที่จะผ่านพ้นวิกฤต และมุ่งมั่นจะใช้ช่วงเวลานี้ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อพาองค์กรให้ผ่านจุดที่ยากที่สุด และสามารถรองรับการเติบโต ในอนาคตได้