‘เคทีซี-อิออน ‘ จ่อลดดอกเบี้ยตาม ช่วยลูกค้าภาวะวิกฤติ
ชุดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินจากผลกระทบโควิด-19 ของภาครัฐที่ออกมา ‘รวดเร็ว’และ ‘จัดหนัก’ แต่ยังไม่ทั่วถึงส่งผลทำให้เกิดการเรียกร้องและไม่พอใจ เพราะนาทีนี้ไม่มีใครที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว อยู่ที่ว่าจะกระทบหนักหรือเบาเท่านั้น
ด้านการเงิน ‘แบงก์ชาติ’ ในฐานะหัวขบวนใหญ่ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือแล้ว 2 ชุด คือการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือ NPL ผ่านลดและยืดหนี้สินเชื่อ และการเติมสภาพคล่องผ่านพ.ร.ก. กู้เงินของภาครัฐ 1.9 ล้านล้านบาท
มาตรการแรกคลอบคลุมไปยังสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต สินเชื่อเงินสดบุคคล สินเชื่อทะเบียนรถ ลิสซิ่ง และสินเชื่อเอสเอ็มอี ดังนั้นกลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้อยู่ก่อนแล้วจึงไม่เข้าข่ายในมาตรการชุดนี้
โดยกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสดบุคคล ธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการ ถือว่ามีการออกมารับลูกต่อแทบจะทันที ด้วยการลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10 % เหลือ 5 % ปี 2563-2564 เหลือ 8 % ในปี 2565 และกลับมาเป็นปกติ 10 % ปี 2566
รวมทั้งเลื่อนชำระค่างวดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือชำระไม่เกิน 70 %ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 6 เดือน แต่นั้นยังไม่เพียงพอเพราะบางรายได้ถูกเลิกจ้าง ไม่มีเงินเดือนและไม่สามารถหางานใหม่ได้ จึงทำให้มีการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมไม่ได้เป็นการบังคับเหมือนการลดผ่อนขั้นต่ำและเลื่อนชำระหนี้
โดยให้จัดเป็นเฉพาะกลุ่มที่ได้ผลกระทบทางตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว การบิน โรงแรม หรือกลุ่มที่มีวินัยการชำระเงินที่ดี และมีวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท ด้วยการลดดอกเบี้ยกรณีพิเศษ ไม่ต่ำ 6 % มีตัวเลขดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 12 % จาก 18 % สินเชื่อเงินสดส่วนบุคคล จาก 28 % เหลือ 22 %
ธนาคารพาณิชย์ที่นำรองประกาศ ’ ไทยพาณิชย์’ และ ‘กรุงศรีอยุธยา’ ที่ออกมาตรการตามที่กล่าวมา เช่น กรุงศรีฯ ให้ดอกเบี้ยพิเศษสำหรับบัตรเครดิต 12 % สูงสุด 48 เดือน ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2563 และส่วนสินเชื่อบุคคล ลดดอกเบี้ยเหลือ 22 % พร้อมผ่อนชำระขั้นต่ำ 3 % ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2564
ด้านผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดหุ้นยังมีผู้ทำธุรกิจนี้โดยตรง ทั้ง บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC และ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ทั้ง 2 บริษัท ถือว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดไม่น้อย
KTC มีฐานลูกค้า 3.4 ล้านบัญชี ซึ่งมีลูกค้าบัตรเครดิต 2.5 ล้านบัตร คิดเป็นพอร์ตลูกหนี้ 56,653 ล้านบาท เติบโต 10.9 % และมีสัดส่วน 58.2 % จากรายได้รวม ลูกค้าสินเชื่อเงินสดจำนวน 8.8 แสนบัญชี คิดเป็นพอร์ตลูกหนี้ 28,933 ล้านบาท เติบโต 7.9 % และมีสัดส่วน 39.9 % จากรายได้รวม
ล่าสุดมีการเตรียมจะเสนอสินเชื่อผ่อนชำระคงที่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงคิด 12% สำหรับบัตรเครดิตและ 22% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสต้องหยุดใช้วงเงินสินเชื่อเดิมและเปลี่ยนเป็นเงินกู้ระยะยาว 48 เดือน
ขณะที่ AEONTS รอบ 9 เดือนปี 2562 มีจํานวนลูกค้าสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่ออื่นๆ 8.92 ล้านบัตร เพิ่มขึ้น 5 % จากปี 2561 โดยแบ่งเป็นบัตรเครดิต 2.82 ล้านบัตร เพิ่มขึ้น 8 % คิดเป็นสัดส่วน 33 % จากรายได้และบัตรสมาชิก 6.1 ล้านบัตร เพิ่มขึ้น 3 % คิดเป็น 49 % จากรายได้
มุมมองธุรกิจถือว่ามีความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ ไม่ว่าจากการตามเก็บเงินสดได้ยากมากขึ้น ลูกค้าไม่กล้าใช้จ่ายผ่านบัตร หรือที่มีหนี้อยู่แล้วไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ และสิ่งที่จะตามมาคือตัวเลข NPL จะเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้นจึงเห็นการประเมินผลกระทบจากการลดดอกเบี้ย 6 % ลงมา เพราะจะกระทบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) และสุดท้ายทำให้มีผลต่อกำไรลดลง หากแต่ในสถานการณ์แบบนี้ภาคการเงินต้องแบกรับกำไรที่ลดลงเพื่อช่วยประคองลูกค้าตัวเองให้ได้มากที่สุดท่ามกลางภาวะวิกฤติ