เลือก 'ประกันชีวิต' แบบไหน ให้เหมาะกับวัยของเรา
เปิดคุณสมบัติ และจุดเด่นของประกันชีวิตประเภทต่างๆ ที่เหมาะกับแต่ช่วงวัย เพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเริ่มต้นทำประกันให้เหมาะสมกับตัวเอง
“อะไรก็เกิดขึ้นได้” เป็นเหตุผลสำคัญในการทำ “ประกันชีวิต” เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องไม่คาดฝันเพราะ “ภัย” อยู่ใกล้ตัวทุกคน และเกิดขึ้นได้แบบไม่เลือกหน้า
การทำ "ประกันภัย" ต่างๆ จึงตอบโจทย์ความไม่แน่นอนเหล่านี้ ทว่าประกันภัยแต่ละประเภท ต่างคุณสมบัติ เหมาะกับสถานการณ์ที่ต่างกันออกไป และมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงก่อนซื้อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละคน
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมคุณสมบัติของประกันชีวิตรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเริ่มต้นทำประกันให้เหมาะสมกับตัวเอง โดยแบ่งออกเป็นช่วงอายุ ดังนี้
วัยทำงานตอนต้น (21-30 ปี)
วัยเริ่มต้นทำงานเป็นวัยที่หลายๆ คนกำลังเริ่มต้นสร้างฐานะ ที่อาจจะยังไม่รายได้ไม่มาก แต่มีระยะเวลาในการวางแผนมากกว่าวัยอื่นๆ ประกันชีวิตที่เหมาะสำหรับคนวัยนี้ จึงโน้มไปทางประกันที่คุ้มครองในระยะยาว หรือช่วยวางแผนทางการเงินร่วมด้วย
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
ประกันที่มีกำหนดให้ชำระเบี้ยประกันอย่างชัดเจน แต่มีระยะเวลาคุ้มครองยาวนาน ส่วนใหญ่กรมธรรม์ประเภทนี้ มักครอบคลุมถึงอายุ 90 95 หรือ 99 ปี และจะได้รับเงินประกันบางส่วนคืนหากยังมีชีวิตอยู่ถึงตามที่กรมธรรม์กำหนด
ทั้งนี้ เบี้ยประกันชีวิตตลอดชีพมีอัตราที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะหากเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อยเบี้ยประกันถูกกว่า เนื่องจากเป็นวัยที่มีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพต่ำกว่า ประกันแบบตลอดชีพจึงเหมาะกับคนเริ่มต้นวัยทำงาน ที่ยังไม่รายได้ไม่สูงนัก
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ โดยเงินในส่วนของการออมทรัพย์ ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละกรมธรรม์
ประกันชีวิตลักษณะนี้มีข้อดีคือ ผู้เอาประกันจะมีเงินก้อนสะสมไว้ใช้เมื่อครบเวลากรมธรรม์ ไม่สูญเปล่าหากไม่เสียชีวิต จึงเหมาะกับคนที่อายุยังน้อย ที่อยากทำประกันชีวิตและสะสมเงินไปพร้อมๆ กัน ในการจ่ายเบี้ยเพียงครั้งเดียว
อย่างไรก็ดี การทำประกันแบบสะสมทรัพย์ อาจจะมีทำให้การคุ้มครองต่ำกว่าประกันชีวิตแบบเพียวๆ เพราะมีการจัดสรรเงินไปสำหรับการออมด้วย ดังนั้นสำหรับคนในช่วงอายุนี้แต่ต้องการความคุ้มครองเป็นเต็มๆ อาจพิจารณาทำประกันที่แยกออกจากเงินออม ทั้งนี้ หากความคุ้มครองเกิน 10 ปีขึ้นไป ยังสามารถนำเบี้ยประกันนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย
วัยทำงานตอนกลาง 31-40 ปี
วัยทำงานตอนกลาง เป็นวัยที่กำลังสร้างความมั่งคั่งทางการเงิน เริ่มมีทรัพย์สินอย่างบ้าน รถ รวมถึงมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นทั้งในมิติของการทำงาน และครอบครัว ซึ่งเป็นวัยต้องสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต การทำประกันสำหรับคนวัยนี้จึงเหมาะกับประกันที่เน้นการคุ้มครอง สร้างความมั่งคั่ง และสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ เช่น
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร เพื่อทำให้การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัย แม้จะมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพยังคงเป็นประกันที่เหมาะกับวัยทำงานตอนกลาง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการคุ้มครองอย่างเข้มข้น เนื่องจากเป็นประกันที่มีกำหนดให้ชำระเบี้ยประกันอย่างชัดเจน แต่มีระยะเวลาคุ้มครองยาวนาน และจะได้เงินประกันบางส่วนคืนหากยังมีชีวิตอยู่ถึงตามที่กรมธรรม์กำหนด โดยส่วนใหญ่จะกำหนดระยะเวลาคุ้มครองสิ้นสุดที่ 90, 95 หรือ 99 ปี และเบี้ยประกันชีวิตตลอดชีพค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะหากเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อยเบี้ยประกันถูกกว่า เนื่องจากเป็นวัยที่มีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพต่ำกว่า ประกันแบบตลอดชีพจึงเหมาะกับคนเริ่มต้นวัยทำงาน และเหมาะกับคนที่กำลังสร้างฐานะที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน
- ประกันชีวิตควบการลงทุน
ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือที่ส่วนใหญ่เรียกว่า ประกันชีวิตแบบยูนิต ลิงค์ ไลฟ์ อินชัวรันซ์ โดย Unit Linked มาจากคำว่า Unit Linked Insurance Policy (ULIP) หรือกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (กรมธรรม์ Unit Linked) คือ การประกันชีวิตที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งไม่มีการรับประกันมูลค่ากรมธรรม์ เนื่องจากมูลค่ากรมธรรม์ขึ้นอยู่กับมูลค่าหน่วยลงทุน โดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงตามผลประกอบการของกองทุนรวม
เบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ Unit Linked แบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 เป็นค่าความคุ้มครองตามที่กรมธรรม์ประกันชีวิตกำหนด โดยผู้ขอเอาประกันภัยสามารถเลือกสัดส่วนความคุ้มครองได้ตามความต้องการ ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำเงินส่วนนี้ไปบริหารเอง และบริษัทจะเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการนำเงินในส่วนนี้ไปลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินประเภทต่างๆ
ส่วนที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามกรมธรรม์ ที่บริษัทเรียกเก็บ เพื่อเป็นค่าดำเนินการ ค่าดูแลรักษากรมธรรม์ และค่าบริการในการลงทุน ซึ่งจะกำหนดแตกต่างกันไปแล้วแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท
ส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่จัดสรรเข้าไปเป็นการลงทุนตามสัดส่วนที่ผู้ขอเอาประกันภัยเลือก ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามคำสั่งของผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทที่รับจัดการเงินดังกล่าวจะออกหน่วยลงทุนให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันชีวิตเป็นผู้ดูแลระบบบัญชีกรมธรรม์ของผู้เอาประกันภัย
กล่าวโดยสรุป การทำประกันชีวิตควบการลงทุนคือกรมธรรม์ที่บริษัทประกันชีวิตที่มีการลงทุนในกองทุนควบคู่ไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนไปพร้อมๆ กับการคุ้มครองชีวิต โดยความพิเศษของประกันชีวิตควบการลงทุนคือ สามารถถอนจากมูลค่าบัญชีกรมธรรม์บางส่วน โดยยังได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่มูลค่าบัญชีกรมธรรม์ที่คงเหลือเพียงพอในการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายใต้กรมธรรม์และสามารถลดหย่อนภาษีได้เฉพาะในส่วนของการประกันชีวิต (ไม่รวมส่วนการลงทุน) ได้ไม่เกิน 100,000 บาทด้วย
วัยทำงานตอนปลาย และวัยใกล้เกษียณ (41-60 ปี)
สำหรับวัยทำงานตอนปลาย และวัยใกล้เกษียณ เป็นช่วงอายุที่ควรจะวางแผนการเงินสำหรับในวัยหลังเกษียณ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินใช้เพียงพอในชีวิตบั้นปลายแบบไม่เดือดร้อนผู้อื่นควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันในชีวิต สำหรับวัยนี้หลายคนอาจจะมีประกันชีวิตประเภทอื่นๆ ที่เน้นการคุ้มครองเพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถวางแผนการเงินผ่านการลงทุนได้ หากเป็นผู้ที่สนใจและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุน อีกหนึ่งทางเลือกคือการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่สร้างทั้งหลักประกันในชีวิต และช่วยสะสมเงินเพื่อเตรียมไว้ใช้ในชีวิตหลังเกษียณด้วย
- ประกันชีวิตแบบบํานาญ/แบบเงินได้ประจํา (Annuity Insurance)
เป็นการประกันชีวิตที่ ผู้รับประกันภัยสัญญาว่าจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นรายได้สำหรับเลี้ยงชีพให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยจ่ายเป็นงวดๆ สม่ำเสมอภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยจะเริ่มให้เงินบำนาญเมื่อผู้เอาประกันภัยไม่ได้ประกอบอาชีพได้ตามปกติเพราะความชรา ประกันแบบนี้เหมาะกับช่วงวัยทำงานตอนปลายจึงถึงเกษียณ รวมไปถึงวัยอื่นๆ ที่ต้องการวางแผนชีวิตและการเงินหลังเกษียณ
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงคำแนะนำในภาพรวมจากการประเมินคุณสมบัติและจุดเด่นของประกันชีวิตแต่ละประเภทเท่านั้น สำหรับผู้ที่ต้องการทำประกันต่างๆ ควรศึกษารายละเอียดประกันชีวิตรวมถึงประกันภัยประเภทอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อพิจารณาปัจจัยความจำเป็นอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ปัจจัยเรื่องวัย ปัจจัยด้านสุขภาพ ปัจจัยเรื่องรายได้ ปัจจัยด้านการดำเนินชีวิต เป็นต้น
ที่มา: คปภ. ไทยพาณิชย์