'การบินไทย' ชู 6 กลยุทธ์ฟื้นธุรกิจ หวั่นครึ่งปีขาดทุน 1.8 หมื่นล้าน
"การบินไทย” อ่วมหนัก พ.ค.นี้ เงินสดติดลบ คาด 6 เดือนแรกขาดทุน 1.8 หมื่นล้าน ฝ่ายบริหารเร่งแผนฟื้นฟู 6 กลยุทธ์ ปรับโครงสร้างองค์กร ลดค่าใช้จ่ายพนักงาน ตัดสารพัดสิทธิประโยชน์และค่าตอบแทน
คณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประชุมวานนี้ (17 เม.ย.) เพื่อติดตามความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูองค์กรที่เตรียมนำเสนอให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมพิจารณาสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อขออนุมัติแนวทางเพิ่มทุน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การบินไทยได้ประเมินแนวโน้มผลดำเนินงานและปัญหาทางการเงิน ซึ่งเกิดขึ้นจากภาระทางการเงินที่มีค่าเช่าเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการ โดยเฉพาะช่วงที่หยุดทำการบินเพราะผลกระทบโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ฝ่ายบริหารการบินไทย ประเมินว่าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2563) จะประสบปัญหาขาดทุน 18,038 ล้านบาท
ขณะที่กระแสเงินสด คาดการณ์ว่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2563 จะมีเงินสดติดลบถึง 7,839 ล้านบาท โดยจะเริ่มติดลบตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ (ไม่นับรวมเครดิตไลน์) และจะติดลบในเดือน มิ.ย. นี้ (นับรวมเครดิตไลน์) ทำให้ส่วนของทุนติดลบในไตรมาส 2 ของปี 2563 เป็นวงเงิน 6,273 ล้านบาท ขณะเดียวกันในรอบ 6 เดือนของปีนี้ จะมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน) 139,745 ล้านบาท และมีส่วนของทุนติดลบ ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะติดลบอยู่ที่ 6,273 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่มาซ้ำเติมการบินไทยจะทำให้ผลประกอบการติดลบทุกเดือนในปีนี้ การขาดทุนทำให้ต้องก่อหนี้ทุกปี D/E ratio (อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน) มีสัดส่วนสูง 20 เท่า และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ความสามารถการชำระหนี้ของการบินไทยลดลง
นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารการบินไทยกำลังทำแผนฟื้นฟูองค์กร เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 และรองรับต่อการดำเนินงานระยะยาว ขณะที่พนักงานการบินไทยทุกคนพร้อมร่วมมือลดเงินเดือน โดยทุกฝ่ายมีเป้าหมายให้การบินไทยไม่ล้ม ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การบินไทยต้องหยุดบินเชิงพาณิชย์ชั่วคราว 2 เดือน (เม.ย.–พ.ค.2563)
ส่วนสถานการณ์ที่ขาดรายได้หลักจากการบิน แม้ว่าจะมีรายได้จากการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ธุรกิจครัวการบิน และศูนย์ซ่อมอากาศยานมาเสริม แต่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทำให้ต้องทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 โดยแบ่งเป็น แผนเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น 8 เดือน และแผนระยะยาวเพื่อฟื้นธุรกิจ
สำหรับแผนระยะเร่งด่วนจะปฏิบัติทันทีเดือน เม.ย.-พ.ย.นี้ โดยวางแผนดำเนินการกู้เงินฉุกเฉินระยะสั้น (Bridging Loan) วงเงิน 58,103 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เพื่อนำเงินมาคงสภาพคล่องขั้นต่ำที่ 10,000 ล้านบาท โดยจะกู้เงินระยะสั้นเพื่อรอแหล่งเงินถาวรที่ฝ่ายบริหารกำลังทำแผนเพื่อขออนุมัติวงเงิน 77,044 ล้านบาท
นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูมีกลยุทธ์ปรับโครงสร้าง 6 ด้าน คือ
1.ปรับกระบวนการการทำงาน ลดกิจกรรมที่ซ้ำซ้อน ล่าช้าและไม่จำเป็น รวมทั้งควบรวมหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน ตลอดจนปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน (Network Strategy) คือ ยกเลิกเส้นทางบินที่ขาดทุนต่อเนื่อง ลดความถี่เที่ยวบิน เปลี่ยนขนาดเครื่องบินให้เหมาะสม และเร่งวางแผนเส้นทางบินและฝูงบิน 5 ปีข้างหน้า
2.ปรับปรุงแผนฝูงบิน (Fleet Strategy) ลดประเภทและแบบเครื่องบินในฝูงบิน จาก 7 ประเภท 9 แบบเครื่องยนต์ เป็น 6 ประเภท 7 แบบเครื่องยนต์ เร่งขายเครื่องบินและปลดเครื่องเพิ่มเติมจากการปรับลดเส้นทางบิน
3.ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับการทำงาน ปรับระบบตัวแทนจำหน่ายและช่องทางขายตั๋วโดยสาร ด้วยการให้ค่าตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นแทนลดราคาตั๋วเหมือนในอดีต และขายผ่านออนไลน์มากขึ้น พร้อมทั้งปรับเกณฑ์การจองบัตรโดยสารแบบกลุ่ม เพื่อลดอัตราการยกเลิกบัตรโดยสาร และเร่งทำกลยุทธ์ลูกค้าองค์กรที่สร้างรายได้สูงทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติ
4.พิจารณาแยกหน่วยธุรกิจเพื่อหารายได้เต็มรูปแบบ ได้แก่ ฝ่ายครัวการบิน ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ และฝ่ายช่าง ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานศึกษาแยกหน่วยธุรกิจเริ่มที่ธุรกิจครัวการบิน
5.ปรับจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับจำนวนฝูงบินที่ลดลง และเปรียบเทียบสินค้ากับสายการบินชั้นนำ เพื่อประเมินการแข่งขันกับตลาด โดยกลยุทธ์นี้ มีเป้าหมายลดขนาดองค์กร และบุคลากร ซึ่งปัจจุบันมากถึง 21,333 คน ให้สอดคล้องกับเครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบินที่จะลดลง 50% ผ่านการเปิดโครงการสมัครใจลาออก
6.ปรับสิทธิประโยชน์ และค่าตอบแทน โดยกำหนดให้พนักงานที่มีรายได้ทั้งหมดรับภาระภาษีเงินได้เอง, ทบทวนเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าล่วงเวลา, ทบทวนเกณฑ์และอัตราค่ายานพาหนะ, ทบทวนสิทธิบัตรโดยสารพนักงาน โดยเทียบเคียงกับสายการบินอื่น, กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินประจำตำแหน่ง, ทบทวนวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดพักผ่อนประจำปีและการสะสม, ทบทวรประเภทและอัตราเงินเพิ่มพิเศษ เช่น License รวมถึงทบทวนสิทธิประโยชน์พนักงานที่ประจำต่างประเทศ และทบทวนสิทธิประโยชน์พนักงานเกษียณอายุ
สหภาพฯหนุนลดความซ้ำซ้อน
นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารไม่สอบามความเห็นร่างแผนฟื้นฟูกับสหภาพฯ หรือกลุ่มพนักงาน แต่สหภาพฯ จะไม่คัดค้านแผนฟื้นฟูองค์กรที่ฝ่ายบริหารกำลังทำ เพื่อนำไปเสนอรัฐบาลสนับสนุนเงินทุน 7 หมื่นล้านบาท เพราะมองว่าเป็นส่วนของฝ่ายบริหารที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้ สหภาพฯ ต้องการให้ฝ่ายบริหารรับฟังแนวทางปฏิรูปองค์กร มองโอกาสในการปรับปรุงแผนปฏิบัติงานด้านต่างๆ ของการบินไทย ที่ผ่านมาเกิดความทับซ้อนในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งงานในระดับหัวหน้างานที่ซ้ำซ้อน ส่งผลให้การทำงานไม่เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งให้สหภาพฯ และพนักงานทำความเห็นแผนปฏิบัติการเสนอในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อประกอบแผนฟื้นฟูองค์กร