รัฐบาล 'ถังแตก' จริงหรือ?
“รัฐบาลขอทาน" แฮชแท็กร้อนที่เกิดจากรัฐบาลร่อนหนังสือขอความช่วยเหลือ 20 เศรษฐีไทย ให้ช่วยแก้ไขปัญหาโควิด-19 แม้รองนายกฯจะออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ขอเงินเศรษฐีก็ตาม ดังนั้นจะเป็นเพียง "กวนน้ำให้ขุ่น" หรือ "รัฐบาลถังแตก" จึงต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง
“รัฐบาลขอทาน" เป็นประเด็นที่เกิดแฮชแท็กร้อนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลร่อนหนังสือไปขอความช่วยเหลือ 20 อันดับแรกเศรษฐีของเมืองไทย ให้ช่วยแสดงความเห็นแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการะบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แม้ว่า "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีจะออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ส่งหนังสือไปขอเงินเศรษฐีเหล่านั้นก็ตาม ดังนั้น “รัฐบาลขอทาน" จะเป็นเพียงประเด็น "กวนน้ำให้ขุ่น" หรือ "รัฐบาลถังแตก" จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงการแจกเงิน 5 พันบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวม 4.5 หมื่นล้านบาท กรณีนี้ใช้งบกลางปี 2563 และออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงินอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาเยียวยาประชาชน 6 แสนล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท
เมื่อรัฐบาลประกาศใช้เงินกู้ดังกล่าว บวกกับการส่งหนังสือดังกล่าวถึง 20 อันดับแรกเศรษฐีเมืองไทย ทำให้เกิดการโจมตีรัฐบาลว่า “ถังแตก” ถึงขั้นต้องไปขอเงินหรือขอยืมเงินเศรษฐีมาเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ
คำว่า ”ถังแตก” นั้น ในมุมมองที่มีต่อฐานะรัฐบาลแล้ว จะต้องเป็นรัฐบาลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ระบบการเงินล่มสลาย ไม่สามารถหยิบยืม หรือกู้ยืมเงินจากแหล่งใดๆได้ หรือถ้ากู้ได้ ก็ต้องรับอัตราดอกเบี้ยที่สูง เพราะคนให้กู้ไม่มีความเชื่อมั่น จึงเรียกอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อเป็นหนึ่งในหลักประกัน เท่ากับว่ารัฐบาลไม่มีเครดิต
แต่หากพิจารณาความสามารถในการกู้ยืมเงินของรัฐบาลในปัจจุบัน จะพบว่า การระดมเงินผ่านพันธบัตรรัฐบาลในรุ่นต่างๆ ยังได้รับความนิยมจากนักลงทุนและประชาชน ยกตัวอย่างพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ระดมได้ถือว่าอยู่ในระดับมาก หรือราว 1.6% ต่อปี สะท้อนความเชื่อมั่นของประชาชนที่ให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน
ขณะเดียวกัน ระดับหนี้ต่อจีดีพีก็ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนฐานะทางการคลังที่อยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 41% เท่านั้น และแม้ว่ารัฐบาลจะกู้เงินถึง 1 ล้านล้านบาท ระดับหนี้ต่อจีดีพีก็ยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง คือ ไม่เกิน 60% โดยอยู่ในระดับ 57% ในปี 2564
ทั้งนี้ หากมองในแง่รายได้รัฐบาลนั้น แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์รายได้ของรัฐบาลจะอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงผลกระทบหลักจากโควิด-19 ทำให้อาจกระทบต่อกระแสเงินสดของรัฐบาล อย่างไรก็ตามมี 2 ประเด็นหลักที่พิจารณาได้ว่า รายได้ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนปัญหารัฐบาล ”ถังแตก” แต่อย่างใด
ประเด็นแรก รายได้รัฐบาลที่ลดลง เป็นการปรับลดลงชั่วคราว และลดลงในบางส่วน ยกตัวอย่างการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บ แต่ในภาพรวมแล้ว รัฐบาลยังสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย และแม้รัฐบาลจะจัดเก็บไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่สถานะทางการคลังโดยรวมยังแข็งแกร่ง ยกตัวอย่าง บริษัทหนึ่งมีทรัพย์สิน 100 ล้านบาท แต่ปีนี้ไม่มีรายได้เลย ถามว่าฐานะของบริษัทนี้ ”ถังแตก” หรือไม่
ประเด็นที่สอง รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินได้ ยกตัวอย่างว่า แม้ว่าจะเกิดเหตุให้มีการหยุดงาน แต่เครดิตของผู้กู้คนนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เขาก็สามารถยื่นขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ได้ เพราะถือว่ายังเป็นผู้ที่มีทรัพย์สิน ฉะนั้นแม้ว่ารัฐบาลจะอยู่ในภาวะที่เผชิญปัญหาวิกฤติ แต่ความสามารถในการกู้ก็ยังมีอยู่
นอกจากนี้ หากมองในแง่ฐานะการคลัง ยังพบว่าระดับเงินคงคลังของรัฐบาลในขณะนี้ ยังอยู่ระดับสูงราว 4 แสนล้านบาท โดยเงินคงคลังถือเป็นวงเงินที่รัฐบาลมีเครดิตที่จะกู้ได้ ขึ้นอยู่กับรายได้ที่เข้ามาในแต่ละเดือน แม้ว่าระดับเงินคงคลังจะลดลง ก็ไม่ได้ความว่า เครดิตรัฐบาลจะลดลงตามไปด้วย ถือเป็นการบริหารจัดการเงินสดในมือ แต่หากมีอยู่ในระดับสูงก็จะถือเป็นต้นทุนหนึ่งของรัฐบาลเช่นกัน