นับถอยหลัง ‘ปลดล็อกดาวน์' หุ้นไทยเดินหน้าหรือร่วงต่อ?
ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยที่ได้มีการประกาศวานนี้ (21 เม.ย.) อยู่ที่ 19 ราย ถือว่าเป็นข่าวดีและพร้อมกับความคาดหวังว่าภาครัฐจะดำเนินการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ลง หลังครบกำหนด 30 เม.ย. หรือ "ปลดล็อกดาวน์” ในประเทศ
ทั้งการเปิดให้สถานบริการดำเนินการตามปกติ การลดระยะเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งทั้งหมดยังต้องอยู่ที่การพิจารณาของ กระทรวงสาธารณะสุข และ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 หรือ ศบค. ซึ่งคาดจะมีการประกาศแนวทางภายในสัปดาห์นี้
แน่นอนว่าการ ปลดล็อกดาวน์จะตามมาด้วยการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม เพราะการแพร่ระบาดยังมีอยู่ และที่สำคัญยังไม่มีวัคซีนรักษา จึงทำให้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ยังต้องปฎัติอย่างเคร่งครัด จึงทำให้อาจจะกลายเป็น "ปิดประเทศ เปิดเมืองแบบรักษาระยะห่าง" ก็ได้
หากแต่นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีเพราะบรรดาภาคธุรกิจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ หลังจากยอมดำเนินปิดบริการการตามมาตรการจนได้รับผลกระทบถ้วนหน้าและยังส่งผลไปยังพันธมิตร คู่ค้า และพนักงาน จากการขาดรายได้จนถึงขาดทุนตามมา
นอกจากจะเป็นข่าวดีให้กับภาคธุรกิจแล้วยังมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไปด้วย จากหลายประเทศอย่างสหรัฐ และยุโรป ดำเนินการปลดล็อกดาวน์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวพร้อมรับข่าวดังกล่าว
ดัชนีตลาดหุ้นไทยหลังลงไปลึกอยู่ที่ 969.08 จุด (13 มี.ค.) เป็นการลดลง 610.76 จุด หรือ ลดลง 38.66 % จากปลายปีก่อน ปิดที่ 1,579.84 จุด ซึ่งวันนี้ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตามสัญญาณทางเทคนิคและยอดผู้ติดเชื้อไวรัสมีสัญญาณดีขึ้นจนทำให้ดัชนีมาอยู่ที่ 1,270 จุด เป็นการเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดดังกล่าว 300 จุด หรือ 31.06 % ภายในระยะเวลาเกือบ 1 เดือน
ดังนั้นหากภาครัฐจะ ปลดล็อกดาวน์ มาตรการดังกล่าวจริง ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อมากน้อยแค่ไหน และหากยังใช้มาตรการดังกล่าววต่อ ดัชนีลงไปทำจุดต่ำสุดแค่ไหน ซึ่งตามการคาดการณ์ตามกรณีจะเกิดขึ้น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) มีทั้งหมด 3 กรณี
กรณีที่ 1. ภายใต้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันต่ำกว่า 50 ราย มีการผ่อนปรนกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลัง 30 เม.ย. นี้ จะมีผลต่อดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,180 -1,250 จุด
กรณีที่ 2. มุมมองดีที่สุดคือมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ร่ายวันต่ำ กว่า 20 ราย คาดผ่อนปรนกิจกรรมทางเศรษฐกิจก่อน 30 เม.ย. นี้ จะมีผลต่อดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,250-1,320 จุด
และกรณีที่ 3 . เป็นกรณีที่แย่ที่สุดคือจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงกว่า 50 ราย คาดต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินหลัง 26 เม.ย. นี้และยังมาตรการ ล็อกดาวน์ ต่อไปอีก จะส่งผลต่อดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,100-1,150 จุด
ปัจจัยดังกล่าวเป็นข่าวบวกแต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ยังต้องติดตามและประเมินเพื่อลงทุนด้วย โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการ Exit Strategy หรือยุทธ์ศาสตร์ทางออกให้กับเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ดังนั้นการผลักดัน พ.ร.ก. เงินกู้ฉุกเฉินมูลค่าถึง 1.9 ล้านล้านบาทจึงเป็นที่จับตาถัดมาว่าจะดำเนินการได้รวดเร็วแค่ไหน ซึ่งจากเดิมตามขั้นตอนกว่าที่รัฐบาลจะสามารถดำเนินการกู้เงินได้ และเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอาจจะต้องกินระยะเวลาไปถึงเดือน มิ.ย. รวมทั้ง พ.ร.บ. โอนงบจากกระทรวงเพื่อมาใช้อีก 1 แสนล้านบาท
ล่าสุด พ.ร.บ กู้เงินดำเนินการจนสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งระบุให้กระทรวงการคลังมีอำนวจกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกำหนดวงเงินที่ใช้ตามแผนงาน ด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท
ด้านเยียวยาชดเชยให้ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด -19 มูลค่า 555,000 ล้านบาท และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ที่ได้รับผลกระทบอีก 400,000 ล้านบาท ส่วนอีก 9 แสนล้านบาทให้อำนาจแบงก์ชาตินำไปปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี และรักษาเสถียรภาพตลาดเงิน
เท่ากับว่ามาตรการ ปลดล็อกดาวน์ จะมาพร้อมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นได้อีก ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลชุดนี้ไม่น้อย