COVID-19 New Normal เศรษฐกิจ
ผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สังคม รวมถึงด้านเศรษฐกิจ ให้เกิดเป็นความปกติใหม่ในอนาคต ที่ไม่ใช่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจจะถูกปฏิวัติไปอย่างไร และเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
ผมได้นำเสนอความเห็นไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่า วิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 จะเข้ามาปฏิวัติหรือเป็นตัวเร่งให้เกิด “ความปกติใหม่" "หรือ PANDEMIC (COVID) New Normal” อันเป็นสถานการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นในโลกที่แตกต่างจากสถานการณ์เดิมในปัจจุบัน ซึ่งในบทความนี้ผมจะขอนำเสนอตัวอย่างของความปกติใหม่ด้านเศรษฐกิจ
1.เศรษฐกิจที่เป็นสังคมนิยมมากขึ้น
วิกฤติ COVID-19 จะส่งผลต่อแนวคิดทางเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจเสรีนิยม (liberalism) ที่เป็นกระแสหลักของเศรษฐกิจโลก หันไปสู่สังคมนิยม (socialism) มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกจะละทิ้งกลไกตลาดในการจัดสรรทรัพยากร หรือหลักความเป็นเจ้าของทรัพย์สินของเอกชน (property right) แต่จะให้น้ำหนักกับการออกแบบระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นเจ้าของร่วมในกิจกรรมที่จำเป็น และการผลิตสินค้าและบริการเพื่อจัดสรรให้ผู้คนไม่ใช่เพื่อขายผ่านกลไกตลาด รวมทั้งการสร้างสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่คนในสังคมมากขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบของวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
การรับมือกับวิกฤติครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มหรือข้อเสนอในทิศทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมากขึ้น เช่น การให้เงินเพื่อไม่ต้องออกจากบ้านหรือไปทำงาน การออกแบบตาข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) การพัฒนาระบบหลักประกันด้านสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้ การทำให้ระบบบริการสุขภาพกลายเป็นของรัฐ (Nationalization) ในยามวิกฤติ และข้อเสนอ “รายได้ขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้า” (Universal Basic Income) เป็นต้น
2.เศรษฐกิจที่เน้นเสถียรภาพ
วิกฤติโรคระบาดที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ จะสร้างความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในอนาคตว่าจะมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจจึงให้ลำดับความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากความปกติเดิมที่การบริหารเศรษฐกิจเน้นเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP เป็นสำคัญ
การออกแบบระบบเศรษฐกิจในอนาคต จะให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนการป้องกันและรักษาสุขภาพ เพราะกิจกรรมต่างๆ จะต้องมีต้นทุนในการพัฒนามาตรฐานด้านสุขอนามัยมากขึ้น ในขณะที่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนต้องมีต้นทุนในการสร้างหลักประกันด้านรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับออมหรือทำประกันรายได้ของแรงงานทั้งในและนอกระบบ
3.เศรษฐกิจที่รัฐมีบทบาทนำ
ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจของโลกอาศัยกลไกตลาด และลดบทบาทของรัฐบาล แต่เน้นบทบาทของภาคธุรกิจ หรือ Big Business แต่วิกฤติ COVID-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ความปกติใหม่ ที่มีแนวโน้มไปในทิศทาง Big Government เนื่องจาก
ประการแรก ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาคธุรกิจจำนวนมากอาจล้มละลาย ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งต้องขอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือต้องเข้าสู่กระบวนการ “ทำให้เป็นของรัฐ” ภาคธุรกิจจึงไม่สามารถเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
ประการที่สอง หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศใช้นโยบายการเงินการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจและรับมือกับวิกฤติ โดยมีการกู้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะของภาครัฐเพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้มีแนวโน้มที่รัฐบาลจะต้องจัดเก็บภาษีมากขึ้นในอนาคต
ประการที่สาม บทเรียนจากการแก้วิกฤติทำให้เกิดความโน้มเอียงไปในทิศทางที่ว่า การมีรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีขนาดใหญ่เป็นสิ่งจำเป็นในการเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต
4.เศรษฐกิจดิจิทัล
ผลกระทบและมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาด เป็นตัวเร่งให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (digital transformation) รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ การทำงาน การผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยน และการดำเนินทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
องค์กรและปัจเจกบุคคล จะปรับตัวเข้าสู่บริบทใหม่ที่ต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพ และมีความคุ้นชินกับการดำเนินกิจกรรมและธุรกรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเล็งเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ ทั้งในแง่ของการลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลทำให้เศรษฐกิจออนไลน์ขยายตัวขึ้น นอกจากนี้ ผู้จัดหาเทคโนโลยีอาจเข้ามาทำในส่วนที่ต้องปฏิสัมพันธ์ออนไลน์กับลูกค้า แทนที่ธุรกิจเดิมและแทนที่กิจกรรมแบบออฟไลน์มากขึ้น
5.เศรษฐกิจอัตโนมัติ
การระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความเสี่ยงทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้แรงงาน หรือในกิจกรรมที่ต้องมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน ความเสี่ยงดังกล่าวเป็นตัวเร่งให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เกิดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่แรงงาน เพราะจะทำให้กิจกรรมและกระบวนการผลิต ไม่ต้องหยุดชะงัก เพราะเครื่องจักรไม่สามารถติดโรคได้
การเร่งกระบวนการของเศรษฐกิจอัตโนมัติ จะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และอาจทำให้ความต้องการแรงงานลดลง ส่งผลให้เกิดการว่างงานของแรงงานจำนวนมาก โดยอาจเป็นการว่างงานในระยะยาวต่อเนื่องจากวิกฤติ COVID-19 แนวโน้มนี้สอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่จะเข้ามารองรับการว่างงานขนาดใหญ่ในอนาคต
6.เศรษฐกิจที่พึ่งพาในประเทศมากขึ้น
โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มถอยหลัง เพราะการบริหารเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะหันมาให้น้ำหนักกับการพึ่งพาในประเทศมากขึ้น เนื่องจากโรคระบาดทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) ขาดตอน การบริหารห่วงโซ่อุปทานจึงมีแนวโน้มผสมผสาน 2 รูปแบบ คือ การสร้างทางเลือกของซัพพลายเออร์ และการหันมาซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ในประเทศมากขึ้น
ความปกติใหม่ของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจจะมีการปกป้องมากขึ้น และเป็นชาตินิยมมากขึ้น โลกาภิวัตน์ในมุมมองของประเทศต่างๆ จะเน้นเชื่อมโยงกับการสร้างชุมชนในประเทศที่มีความยั่งยืน (self-sustained communities) และเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นสูง โดยระบบเศรษฐกิจจะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ระหว่างการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในยามปกติ และการพึ่งพาตนเองในยามวิกฤติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผมได้เสนอไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วคือ “เศรษฐกิจกระแสกลาง”
ความปกติใหม่ที่ผมได้วิเคราะห์ข้างต้น เป็นภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้น (probable future) ไม่ใช่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ (preferable future) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นความปกติใหม่ที่มีแนวโน้มนำไปสู่ปัญหาใหม่ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความปกติใหม่ได้อีกในอนาคต