กนอ.มั่นใจอีอีซีพ้นแล้ง สกพอ.เร่งแผนเก็บน้ำต้นทุน

 กนอ.มั่นใจอีอีซีพ้นแล้ง สกพอ.เร่งแผนเก็บน้ำต้นทุน

กนอ.ยืนยันน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่งในพื้นที่ จ.ระยอง มีน้ำต้นทุนเพียงพอใช้งานใน อีอีซี จนถึงเดือนมิ.ย.นี้ พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมฯ ลดการใช้น้ำลงให้ได้ 10 % ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก ว่า จากการตรวจสอบปริมาณน้ำทั้ง 4 อ่างเก็บน้ำหลัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีปริมาณน้ำต้นทุนที่ได้มาจากการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์และปริมาณน้ำฝนที่จะไหลเข้าอ่าง 

คาดการณ์ ณ กลางเดือนเม.ย. 2563 จะมีปริมาณน้ำประมาณ 93.9 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนการใช้น้ำอยู่ที่ 88.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้มีน้ำต้นทุนคงเหลือประมาณ 13.6 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย กนอ. เชื่อว่าจากปริมาณน้ำดังกล่าวจะทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้งานไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ อย่างแน่นอน

กนอ.มีแผนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมาโดยตลอด โดยที่จังหวัดระยองได้ทำการเพิ่มนํ้าต้นทุนให้กับ 4 อ่างเก็บน้ำหลัก ได้แก่ การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด ลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ประมาณ 10 ล้านลูกบาศ์กเมตร(เดือนมี.ค.2563)ไปเพิ่มน้ำต้นทุนยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง

รวมถึงสร้างระบบสูบกลับชั่วคราวจากคลองสะพาน เพื่อสูบนํ้าในกรณีมีฝนตกในพื้นที่ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปรับปรุงระบบสูบกลับวัดละหารไร่จากแม่นํ้าระยอง (กรณีที่มีฝนตกในพื้นที่) ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีปริมาณนํ้าประมาณ 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ขณะที่นิคมฯมาบตาพุดจะใช้นํ้าจากคลองนํ้าหู เพื่อช่วยลดการใช้นํ้าจากอ่างเก็บนํ้าหนองปลาไหล 5 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งมีมาตรการเร่งด่วนด้วยการเพิ่มน้ำต้นทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยการนำน้ำจากคลองชากหมากมาผ่านการบำบัด และนำกลับมาใช้ใหม่ทำให้มีปริมาณน้ำใช้เพิ่มขึ้น 7 พันลูกบาศก์เมตรต่อวัน

โดยอยู่ระหว่างดำเนินการโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้ ขณะที่ในส่วนจังหวัดชลบุรี มีการสูบนํ้าจากอ่างเก็บนํ้าคลองหลวงรัชชโลทรมายังอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี ปริมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อทดแทนปริมาณน้ำที่ส่งมาจากจังหวัดระยอง

1587645560100

ทั้งนี้กรณีการขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ เช่น ดับบลิวเอซเอ และนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อปรับลดการใช้น้ำ 10% นั้น เนื่องจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ได้ปิดซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับผู้ประกอบกิจการ

แต่ขณะนี้เริ่มเปิดเดินเครื่องการประกอบกิจการในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา จึงทำให้ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากโควต้าที่ได้รับ แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 จะพบว่ามีการใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมลดลง

“เมื่อโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้กลับมาเริ่มเดินเครื่องประกอบกิจการตามปกติ เป็นผลให้ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยเฉลี่ยเดือนก.พ. ใช้น้ำอยู่ที่ 356,289 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เดือนมี.ค. ใช้น้ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 392,205 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 35,916 ลูกบาศก์เมตร"

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีปริมาณการใช้น้ำอยู่ที่ 404,267 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะเห็นว่ามีปริมาณการใช้น้ำที่ลดลง ซึ่งเป็นความร่วมมือของ กนอ.และผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่ในการปรับลดปริมาณการใช้น้ำลง 10% ตามแผนที่ได้วางไว้ อย่างไรก็ตาม กนอ.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามแผนการลดปริมาณน้ำต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤตแล้งในครั้งนี้ไปให้ได้

ด้านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีแผนพัฒนาแห่งน้ำต้นทุน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงปี 2563-2570 และช่วงปี 2571-2580 โดยในช่วงปี 2563-2570 โดยในช่วงปี 2563-2570 จะมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับ อีอีซี 23 โครงการ เพิ่มน้ำต้นทุน 629.19 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) 

โดยมีโครงการหลัก ได้แก่ การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิมเพื่อเพิ่มความจุ 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำบ้านบึง อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำคลองหลวง และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จะเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 91.47 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ จะสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 10 แห่ง ในพื้นที่ อีอีซี และจังหวัดข้างเคียง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองกระแส อ่างเก็บน้ำคลองกะพง อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน อ่างเก็บน้ำหนองกระทิง อ่างเก็บน้ำคลองโพล้ และอ่างเก็บน้ำคลองน้ำเขียว ดำเนินการโดยกรมชลประทาน และอ่างเก็บน้ำเขาจอมแห – เขานั่งยอง ดำเนินการโดยจังหวัดระยอง เพิ่มน้ำต้นทุน 208.72 ล้าน ลบ.ม.

รวมทั้งการปรับปรุงระบบเครือข่ายน้ำเดิม 1 ระบบ ได้แก่ ระบบเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ – อ่างอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ก่อสร้างระบบเครือข่ายน้ำใหม่ 2 ระบบ ได้แก่ ระบบเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ – อ่างเก็บน้ำหนองค้อ – อ่างเก็บน้ำบางพระ และระบบผันน้ำพานทอง – อ่างเก็บน้ำบางพระ เพิ่มน้ำต้นทุน 20 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างระบบสูบกลับ 1 ระบบ ได้แก่ ระบบสูบกลับคลองสะพาน – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 1 เพิ่มน้ำต้นทุน 50 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนแผนพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนปี 2571-2580 จะมี 3 โครงการ เพิ่มน้ำต้นทุนได้ 91 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย

1.ก่อสร้างระบบสูบกลับ 2 ระบบ ได้แก่ ระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองหลวง และระบบสูงกลับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด เพิ่มน้ำต้นทุน 31 ล้าน ลบ.ม. 

2.ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง – อ่างเก็บน้ำคลองสียัด เพิ่มน้ำต้นทุน 60 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการโดยกรมชลประทาน

3.ก่อสร้างระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ ได้แก่ ระบบผันน้ำคลองโตนด – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 เพิ่มน้ำต้นทุน 55 ล้าน บล.ม. และระบบผันน้ำอ่างเก็บน้ำคลองคลองโพล้ – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพิ่มน้ำต้นทุน 20 ล้าน ลบ.ม. โดยโครงการทั้งหมดนี้จะเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ อีอีซี 166 ล้าน ลบ.ม. รองรับความต้องการใช้น้ำได้ถึงปี 2580