10 ปีหุ้นไทยเสี่ยงพักฐาน พ.ค. ค้าปลีก-ก่อสร้างยืนบวกสวนตลาด
วลีที่พูดว่า ตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ค. มักจะเจอ “Sell in May and go away” จนทำให้มีการจับตัวเลขสถิติย้อนหลังว่าที่ผ่านมามักจะเกิดการเทขายออกมาและกดดันตลาดหุ้น ซึ่งมีผลต่อความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยไปด้วย
การขายหุ้นดังกล่าวอิงจากเหตุการณ์ที่นักลงทุนขายหุ้นทำกำไรในช่วงเดือนพ.ค.จากนั้นจะรอให้ตลาดปรับฐานลงถึงจุดต่ำสุด ซึ่งโดยสถิติจะใช้เวลาเป็นเดือนๆ จนกระทั่งเริ่มเห็นสัญญาณตลาดฟื้นตัว จึงค่อยเริ่มซื้อหุ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นวิธีคิดตามรูปแบบการดำเนินชีวิตของต่างชาติที่เข้าสู่ฤดูร้อนในช่วง เดือน พ.ค.เพื่อหนีไปใช้ชีวิตและพักผ่อนนอกเมืองแทน และจะกลับมาเดือน ก.ค.-ส.ค.
ด้วยกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและกองทุนมีผลต่อตลาดหุ้นไทย จึงทำให้เมื่อเริ่มเข้าเดือน พ.ค. ทำให้มีความวิตกจะเจอแรงขาย หลังจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากลุ่มนักลงทุนต่างชาตินำโด่งขายสุทธิหนักมากถึง 160,171.62 ล้านบาท
บวกกับสถิติย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นในเดือนพ.ค. ปรับตัวลดลงตามการขายของต่างชาติ ซึ่งในปี 2560-2562 ดัชนีเดือนดังกล่าวปิดที่ 1,673.52 จุด ลดลง 53.30 จุด, 1,780.11 ลดลง 53.14 จุด และ 1,566.32 จุด ลดลง 4.66 จุด ตามลำดับ
โดยในรอบ 10 มีเพียงแค่ 2 ปี ที่ดัชนีพลิกเป็นบวกคือ ปี 2559 ดัชนี 1,404.61 จุด บวก 19.67 จุด หรือ เปลี่ยนแปลง 1.12% และปี 2557 ดัชนี 1,414.94 จุด บวก 0.79 จุด หรือ เปลี่ยนแปลง 0.06%
หากจะเปรียบเทียบกับปัจจัยในปี 2563 การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และการฟื้นตัวยังช้าขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีนมาป้องกันได้รวดเร็วแค่ไหน จึงทำให้ระดับดัชนีหุ้นไทยที่ขึ้นมายืน 1,300 จุด มีโอกาสเห็นการพักฐานจากการขายทำกำไรของนักลงทุนได้
ที่สำคัญเมื่อเทียบกับการปรับตัวขึ้นมารอบนี้ของไทยเฉพาะเดือน เม.ย. บวกถึง 13% กลายเป็นตลาดหุ้นที่ผลตอบแทนโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค ทั้งตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ติดลบ 0.2% ตลาดฟิลิปปินส์ บวก 4.8% และยังปรับตัวดีกว่าดัชนีอ้างอิง MASCI-EM บวก 6.4% และดัชนี MSCI WORD บวก 9.2%
“สรพล วีระเมธีกุล” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ประเมินตลาดหุ้นไทยซื้อขายระดับพรีเมียม ด้วยอัตราราคาปิดต่อหุ้น (PER) สูงกว่า 17-18 เท่า แพงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548 จึงมองว่าได้ตอบรับการชะลอตัวของผู้ติดเชื้อไปแล้ว และเป็นโอกาสในการทยอยขายทำกำไร ประเมินกรอบดัชนี 1,270-1,320 จุด
โดยเป็นผลมาจากการมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ดีส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาค จึงแรงเก็งกำไรในหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ปรับตัวขึ้นมาเร็ว
อย่างไรก็ตามเดือนพ.ค. เข้าสู่ “Sell in May and go away” 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าเป็นเดือนที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ โดยเฉลี่ยดัชนีติดลบ 2% และเมื่อลงรายกลุ่มหุ้นพบว่ากลุ่มที่ติดลบมากที่สุด
คือกลุ่มพลังงาน ติดลบ 3.8%, กลุ่มธนาคาร ติดลบ 2.85%, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ติดลบ 1.58% เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ยังมีค่าเฉลี่ยเป็นบวกได้มี 2 กลุ่มคือ กลุ่มก่อสร้าง บวก 4.1% และกลุ่มค้าปลีก บวก 0.3%
ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาคาดจะเห็นแรงขายตามสถิติเกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นจะเห็นรีบาวด์แต่ไม่แรงและไม่ใช่รอบใหญ่เหมือนที่ผ่านมา เพราะจะเจอปัจจัยการรายงานผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2563 ของบริษัทจดทะเบียน
"กลุ่มน้ำมันที่จะเจอผลกระทบหนักจากราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าราคาทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ค่าการกลั่นจะผลกระทบตามไปด้วย เบื้องต้นคาดกำไรในกลุ่มนี้จะลดลง 10-15% ส่วนกลุ่มธนาคาร มีผลกระทบในไตรมาส 2 ปี 2563 ทั้งส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) จากการปรับลงของดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% และ การตั้งสำรอง และ NPL ที่เพิ่มขึ้น"
หากอิงกับสถิติดังกล่าวแล้วก็ย่อมมองไว้ว่าหุ้นไทยที่ขึ้นมาแรงจะเจอความเสี่ยงการปรับฐานลงมาก็ไม่แปลก ใครที่มีหุ้นและได้กำไรต้องทยอยขายเพื่อรอลงทุนรอบใหม่ ซึ่งการขึ้นรอบนี้ของตลาดหุ้นไทยคงไม่แรงด้วยปัจจัยที่กดดันหุ้นรายกลุ่มจากผลกระทบโควิด-19 จะมากหรือน้อยนั้นเอง