'ศูนย์วิจัยออมสิน' ชี้ปี 63 ไทยเจอภัยแล้งรุนแรงหนัก คาดพืชเศรษฐกิจเสียหาย 2.6 หมื่นล้าน
ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ระบุสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 รุนแรงกว่าปี 2558 และปี 2562 คากส่งผลกระทบเกษตรกร 2.9 ล้านราย และมูลค่าผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่าง "ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง" ราว 2.6 หมื่นล้านบาท
ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์ประเด็นเศรษฐกิจมหภาค ในประเด็นผลกระทบภัยแล้งที่จะมีต่อประเทศไทยในปี 2563 พบว่าสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เป็นผลจากในปี 2562 ได้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (Weak El Nino)1/ ทำให้ฤดูร้อนยาวนานกว่าปกติ และมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 28.1 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 69 ปี (พ.ศ. 2494-2562) รวมทั้งเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้เป็นปีที่เกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 20 ปี
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศของปี 2562 อยู่ในระดับต่ำ โดย ณ สิ้นปี 2562 ปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้ง ประเทศอยู่ที่ 20,739 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุเขื่อนทั้งหมด ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤติ (<=30%) ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำต้นทุนในเขื่อนที่เก็บสะสมไว้ใช้ในปี 2563
ประกอบกับปริมาณฝนสะสม 3 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 74 มิลลิเมตร ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 และปี 2562 ที่ร้อยละ -20.5 และ -41.0 ตามลำดับ ส่งผลให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศในปี 2563 มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด
โดยปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศ ณ วันที่ 3 เมษายน 2563 อยู่ที่ 12,591.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 และปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ -18.0 และ -37.5 ตามลำดับ ซึ่งภาคที่มีปริมาตรน้ำลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปี 2558 ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก อยู่ที่ร้อยละ -59.4, -44.1 และ -41.8 ตามล้าดับ ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2563 จะรุนแรงมากขึ้น หากเกิดฝนทิ้งช่วงที่ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้
โดยภาพรวม ณ วันที่ 3 เม.ย.2563 ปริมาตรน้ำในเขื่อนทั้งประเทศมีจำนวน 36,134 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุเขื่อนทั้งหมด และปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศมีจำนวน 12,592 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุเขื่อนทั้งหมด ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤติ (<=30%)
โดยภาคที่มีปริมาตรน้ำในเขื่อนในระดับเกณฑ์น้ำน้อยถึงน้ำน้อย วิกฤติ (<=50%) ได้แก่ ภาคกลาง, ภาคะวันออก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งมีปริมาตรน้ำในเขื่อนคิดเป็นร้อยละ 17, 23, 35 และ 38 ของความจุเขื่อนทั้งหมด ตามลำดับ โดยปริมาตรน้ำที่น้อยจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร, การอุปโภคบริโภค และนิคมอุตสาหกรรมให้ได้รับความเสียหาย
พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญทั้งประเทศมีทั้งหมด 102.3 ล้านไร่ และมีพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ในเขตที่มีปริมาตรน้ำในเขื่อนอยู่ระดับเกณฑ์น้ำน้อยถึงน้ำน้อยวิกฤติ (<=50%) สูงถึง 92.1 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ของพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญทั้งประเทศ ประกอบด้วย ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งหากฝนทิ้งช่วงนาน ก็จะกระทบกับผลผลิตของข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งมีช่วงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2563 รวมทั้งผลกระทบต่อน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น คาดว่าจะมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 2,930,673 ราย และคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลัง จะปรับลดลงอยู่ที่ 27.7 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -12.9
ส่วนผลผลิตทั้งหมดคาดว่าจะปรับลดลงอยู่ที่ 115.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -31.6 โดยแบ่งออกเป็นข้าวนาปรัง 4.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -32.9, อ้อย 85.0 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -35.1 และมันส้าปะหลัง 26.0 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -16.3
ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงจนกระทบต่อกำลังซื้อเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร เช่น ธุรกิจ ขายอุปกรณ์ทางการเกษตร เมล็ดพันธ์ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น ให้มีรายได้ลดลง การบริโภคลดลง และกระทบต่อการขยายทางเศรษฐกิจของไทย
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินคาดว่า มูลค่าความเสียหายผลผลิตของพืชเศรษฐกิจสำคัญอยู่ที่ 26,012 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.0 ต่อ GDP ภาคเกษตร*
โดยแบ่งเป็น มูลค่าความเสียหายจากผลผลิตข้าวนาปรัง 17,629 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพาะปลูกในภาคกลาง มูลค่าความเสียหายจากผลผลิตอ้อย 5,939 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพาะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมูลค่าความเสียหายจากผลผลิตมันส้าปะหลัง 2,444 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพาะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากคาดว่ามีแนวโน้มที่รุนแรงกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีเกิดภัยแล้งรุนแรงสุด และมูลค่าความเสียหายอาจจะเพิ่มขึ้นได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของช่วงฤดูแล้ง ซึ่งคาดว่าจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2563 แต่ยังคงต้องติดตามปรากฏการณ์ภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือน พ.ค.-มิ.ย.2563 ที่อาจจะเกิดขึ้น
ที่มา : gsbresearch