กฟภ.ลุยสมาร์ทกริด 'EEC' เล็งเปิด 'PPP' 9 พันล้าน
อีอีซี ถูกกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่รวมถึงโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) โดยบทบาทนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อน
พงศกร ยุทธโกวิท ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดเผยว่า กฟภ.เร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) โดยวางโครงข่ายสมาร์ทกริดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่แรก เพราะเป็นพื้นที่มีศักยภาพและจะพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในอนคต
ทั้งนี้ กฟภ. อยู่ระหว่างศึกษาโครงการสมาร์ทกริดในอีอีซี โดยต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าจากแบบเดิมเป็นสมาร์ทมิเตอร์ ซึ่งมีจำนวน 1.2-1.3 ล้านครัวเรือน ไม่รวมเมืองพัทยา ต้องใช้งบ 9 พันล้านบาท โดยอาจแบ่งเป็นระยะ
ระยะแรกจะเลือกเปลี่ยนเป็นสมาร์ทมิเตอร์ในพื้นที่บางส่วนที่มีศักยภาพ จะเน้นเมืองขนาดใหญ่ก่อน จะครอบคลุมครัวเรือน 6 แสนครัวเรือน ใช้งบ 4.8 พันล้านบาท และจะทยอยเปลี่ยนเป็นสมาร์ทมิเตอร์ให้ครบทุกครัวเรือนในอีอีซี ที่คาดว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้าจะมีครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านครัวเรือน
นอกจากนี้ ได้ศึกษาแผนการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) เพราะต้องดูแลบำรุงรักษาสมาร์ทมิเตอร์และระบบในระยะยาว และต้องอัพเดทซอฟท์แวร์ปรับเปลี่ยนสมาร์ทมิเตอร์ที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี น้อยกว่ามิเตอร์แบบเดิมที่มีอายุ 10-15 ปี รวมทั้งเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงควรให้ภาคเอกชนร่วมดูแล
รวมทั้งข้อเสนอร่วมลงทุนพีพีพี มีแผนให้ผู้ชนะประมูลต้องตั้งโรงงานผลิตสมาร์ทมิเตอร์ในประเทศไทยด้วย ซึ่งปริมาณการใช้ในไทยมีเพียงพอที่จะตั้งโรงงานผลิตใช้เอง และส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในอนาคตทุกประเทศต้องปรับสู่สมาร์ทกริดและสมาร์ทมิเตอร์ ทำให้ไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตเทคโนโลยีอัจฉริยะและต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชั้นสูง
“ผลศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน พีพีพี จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนกว่า 5 รายได้แสดงความสนใจเข้าร่วม จากนั้นจะเริ่มดำเนินการติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ให้ครอบคลุมพื้นที่ อีอีซี จำนวน 1.3 ล้านครัวเรือนภายใน 4 ปี หรือภายในปี 2567”
โครงการสมาร์ทกริดอีอีซี จะนำร่องที่เมืองพัทยาก่อนจะติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ให้ครบ 1.5 แสนครัวเรือน ภายในปี 2564 ใช้เงินลงทุน 1,096 ล้านบาท จากนั้นขยายไปในตัวเมืองชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ในระยะต่อไปหลังจากอีอีซี ได้ดำเนินการไปแล้ว จะไปทำสมาร์ทกริดที่จังหวัดขนาดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย
สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้รับ ในภาคประชาชนจะสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากขึ้น เนื่องจากสมาร์ทมิเตอร์จะรายงานสภาพการใช้ไฟฟ้าผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือได้เกือบเรียลไทม์
ทั้งนี้ จะมีการรายงานสภาวะการใช้ไฟฟ้าวันต่อวันหรือรายงานทุกสัปดาห์ จากเดิมผู้ใช้ไฟฟ้าจะรู้ค่าไฟฟ้าเดือนละครั้งเมื่อบิลค่าไฟฟ้าแจ้งมา และมีโปรแกรมควบคุมค่าใช้จ่ายใช้ไฟฟ้าเกินกำหนด จึงทำให้ประชาชนปรับพฤติกรรมลดใช้ไฟฟ้าได้ หรือ กฟภ.อาจมีแพ็กเกจการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบที่เหมาะสมต่อพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแต่ละราย
โดยในต่างประเทศหากบ้านหลังใดใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องเป็นเวลานานก็เลือกค่าไฟฟ้าในอัตราของธุรกิจที่ต่ำกว่าครัวเรือน แต่หากใช้ไฟฟ้าน้อยก็เลือกแบบครัวเรือน ซึ่งสมาร์ทกริดทำให้เลือกการใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสมตัวเองและเป็นธรรมมากขึ้น
ส่วน กฟภ.จะได้ประโยชน์ในการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า โดยผลที่เห็นได้ชัดในขั้นแรก คือ การจดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าตามบ้านแม่นยำขึ้น จากในปัจจุบันเดินจดมิเตอร์ ซึ่งสมาร์ทมิเตอร์จะรายงานการใช้ไฟฟ้ามายังที่ส่วนกลางโดยตรง ทำให้จัดเก็บค่าไฟฟ้าได้แม่นยำ และลดการจ้างแรงงานลง
นอกจากนี้ ยังทำให้การบริหารจัดการด้านไฟฟ้าง่ายขึ้น หากเกิดเหตุไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างที่ส่วนกลางจะรู้ได้ทันทีว่าปัญหาเกิดที่จุดไหนและส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไขได้เร็ว รวมทั้งหากเกิดวิกฤติภัยพิบัติเหมือนกับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กฟภ.สั่งงานจากส่วนกลางให้ตัดไฟฟ้าในบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่น้ำท่วมได้ทันที เพื่อป้องกันไฟดูดไฟช็อตและยกเว้นการตัดไฟฟ้าในพื้นที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล จากเดิมที่ต้องตัดไฟฟ้าในวงกว้าง
“ภาคเอกชนที่ร่วมโครงการจะต่อยอดสมาร์ทมิเตอร์สู่ธุรกิจต่างๆ เช่น การให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายกับครัวเรือน การให้บริการความบันเทิง ให้บริการบ้านอัจฉริยะ หรือสมาร์ทโฮม รวมทั้งเกิดการเชื่อมไอโอทีกับเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และแสดงผลข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือ”
ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่และโรงงานต่างที่มี 2.5 แสนราย ไม่รวมกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่ง กฟภ.เข้าไปดูแลใกล้ชิดและโรงงานเหล่านี้ปรับเป็นสมาร์ทมิเตอร์แล้ว 50% แต่เป็นสมาร์ทมิเตอร์รุ่นเก่า ซึ่ง กฟภ.จะเข้าไปทยอยเปลี่ยนให้ครบ 100% ในปี 2567
สมาร์ทมิเตอร์ จะช่วยให้โรงงานติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน และจำหน่ายไฟฟ้าได้เองในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดค่าผ่านระบบ ซึ่งอาจเป็นแบบคำนวณตามระยะทางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย หรือกำหนดราคาเป็นพื้นที่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2570 โดยในขณะนี้ได้กำหนดพื้นที่ทดลองการขายไฟฟ้าระหว่างโรงงานแล้วจะได้ข้อสรุปผลดีผลเสียในปี 2565 จากนั้นอาจจะกำหนดใช้ในบางพื้นที่ จากนั้นในปี 2570 ก็จะขยายไปทั่วประเทศ
นอกจากนี้ การเกิดสมาร์ทกริดจะทำให้มีการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกำลังการผลิต 8-10 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นทั่วประเทศ แทนแนวคิดเดิมที่ต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยลดการสูญเสียไฟฟ้าผ่านสายส่งระยะไกล