'ราคาข้าว' ไม่ได้ไปต่อ คาดอ่อนตัวลงอีก 2 เดือนจากนี้
“สมพร”คาดอีก2-3 เดือนราคาข้าวกลับสู่ระดับปกติหลังประเทศผู้ส่งออกเริ่มมาทยอยป้อนซับพลายเข้าตลาด ด้านผู้ส่งออก หวังสถานการณ์ส่งออกฟื้นตัวตั้งเป้าทั้งปี 7.5 ล้านตัน ชี้ราคาในประเทศร่วง ตันละ 200-300 บาทเป็นภาวะปรับสู่สมดุล ขณะโรงสีชี้แนวโน้มราคายังขึ้นก
ภาวะกักตุนอาหารไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในระดับครัวเรือนแต่เกิดขึ้นในระดับประเทศ เพราะการล๊อกดาวน์เมืองต่างๆอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการขาดแคลนอาหารเนื่องจากซับพลายจะหยุดชะงักหรือล่าช้าออกไป จึงเกิดความพยายามเร่งสำรองอาหาร จนผลักดันให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ในรอบ 12 ปี หรือตั้งแต่ปี 2551
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับภัยแล้งที่เกิดกับประเทศของผู้ส่งออกข้าวสำคัญหลายประเทศได้สร้างความตื่นกลัวที่เชื่อมโยงไปถึงภาวะการขาดแคลนอาหาร ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศผู้นำเข้าข้าวหลายประเทศจำเป็นต้องเพิ่มคำสั่งซื้อสูงขึ้น
สำหรับข้าวสารเจ้าทั่วไปได้แก่ข้าวสาร 5% และ 25% เป็นข้าวที่ส่งออกไปในตลาดล่างทั่วไปซึ่งก่อนหน้าจะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ระดับราคาข้าวในกลุ่มนี้อยู่ในทิศทางขาลงและมีราคาอยู่ในระดับต่ำ เพราะการแข่งขันสูง และมีอุปทานการส่งออกทั้งจากแหล่งผลิตเดิม เช่น อินเดีย ไทย และเวียดนาม แล้ว ยังมีอุปทานส่งออกมาจากแหล่งผลิต ใหม่ เช่น เมียมาร์ และกัมพูชา อีกด้วย แต่สำหรับไทยข้าวกลุ่มนี้มีราคาที่สูงกว่าคู่แข่งจากปัจจัยจากภาวะภัยแล้งและค่าเงินบาทที่แข็งค่า
แต่เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ได้กระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของราคาข้าวในกลุ่มนี้ในทิศทางขาขึ้นตามมา โดยนับตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมาระดับราคาเริ่มปรับรวดเร็วขึ้น และระดับราคาข้าวได้ทะยานปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนมี.ค.เมื่อเวียดนามมีมาตรการให้ผู้ประกอบการส่งออกข้าวชะลอการรับคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้าเพื่อการสำรวจสต็อกและตามมาด้วยอินเดียที่ออกมาตรการหยุดการเคลื่อนย้าย (lockdown) ทำให้เกิดภาวะชะงักงันในโซ่อุปทานการส่งออกสินค้าข้าวของอินเดีย
“ระดับราคาข้าวจะยังคงแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้านี้ไปอีกระยะหนึ่ง แต่สถานการณ์จะไม่รุนแรงส่งผลลามไปสู่การเกิดวิกฤติข้าวแพงอย่างเช่นในอดีต"
ทั้งนี้เพราะว่าอุปทานข้าวส่วนเกินยังมีอยู่มาก อีกทั้งปริมาณสต็อกข้าวโลกและสต็อกข้าวของจีนที่มีอยู่ในระดับสูงทำให้ความตื่นกลัวจนทำให้ประเทศผู้ส่งออกหยุดการส่งออกข้าวจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
ราคาข้าวตึงตัวระยะสั้น
นายสมพร กล่าวว่า การปรับตัวของระดับราคาเนื่องจากภาวะตลาดข้าวตึงตัวในระยะสั้นๆ เท่านั้นเมื่อปัจจัยต่างๆที่หนุนให้ราคาข้าวสูงขึ้นชั่วคราวสามารถคลี่คลายลงไปได้ ควบคู่กับการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ นอกจากนี้ การสะสมสต็อกในจำนวนมากของโลกและของจีนจะทำให้วิกฤตข้าวแพงไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อระดับราคาข้าวปรับตัวสูงมากขึ้นจีนซึ่งเป็นผู้สะสมสต็อกรายใหญ่ของโลกจะระบายข้าวจากสต็อกเพิ่มสูงขึ้น และจะช่วยผ่อนคลายความตึงตัวของตลาดการค้าข้าวโลกในภาพรวมไว้ด้วย
ขณะที่ราคาที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโดยเฉพาะข้าวไม่ไวแสงซึ่งมีช่วงจากปลูกถึงเก็บเกี่ยวในช่วง 3 ถึง 4 เดือน ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวในระยะต่อไปปรับตัวลดลงเช่นกัน
“การมีสต็อกข้าวจำนวนมากของจีนหรือประมาณ80.58% ของปริมาณการบริโภคข้าวในประเทศจะเอื้อให้จีนสามารถระบายสต็อกข้าวเพื่อเพิ่มอุปทานในตลาดการค้าข้าวได้ตลอดเวลาหากราคาในตลาดการค้าข้าวโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก”
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมฯคาดว่าในเดือนเม.ย. 2563 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 550,000-600,000 ตัน เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามใช้มาตรการจำกัดการส่งออกข้าวช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีข้าวพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ ซึ่งในขณะนี้ได้กลับมาส่งออกตามปกติแล้ว ขณะที่อินเดียและปากีสถานใช้มาตรการปิดประเทศ หรือ ล๊อกดาวน์ (Lockdown) และจำกัดการเดินทางติดต่อกันทำให้การส่งออกชะลอตัวลงเนื่องจากอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ จึงทำให้ผู้ซื้อข้าวบางส่วนหันมาซื้อข้าวจากไทยและเร่งการส่งมอบเร็วขึ้น
ราคาอ่อนผลคลายล๊อกดาวน์
ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หลายประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการล๊อคดาวน์ ทำให้ความตื่นตระหนกในเรื่องของข้าวก็หายไป ผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆของโลกทั้งเวียดนาม อินเดีย ที่ประกาศชะลอการส่งออกข้าวก็กลับมาเปิดให้ส่งออกข้าวได้แล้ว
ล่าสุดมีข่าวว่าเวียดนามอนุญาตืให้ส่งออกข้าวได้อย่างเสรีเริ่ม 1 พ.ค.นี้ ส่วนอินเดียก็เริ่มส่งออกมากขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลง เช่นเดียวกับราคาข้าวในประเทศที่มีการปรับราคาลง โดยข้าวขาว 5% จากเดิมที่ราคาประมาณ 9,500 -10,200 บาทต่อตันข้าวเปลือก ก็ปรับราคาลดลงตันละ 200-300 บาทต่อตัน ซึ่งสถานการณ์ก็กลับมาเป็นปกติแล้ว
ส่วนเป้าการส่งออกของไทยที่ตั้งไว้ปีนี้อยู่ที่ 7.5 ล้านตันก็เชื่อว่าน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายแม้ว่าในไตรมาสแรกการส่งออกจะไม่ได้ตามเป้าโดยส่งออกแค่1.5 ล้านตัน จากที่ตั้งไว้1.8 ล้านตัน หรือต่ำกว่าปีที่แล้วประมาณ 40 % ซึ่งขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวหลายประเทศจะเริ่มส่งออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องประเมินสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกว่าจะส่งออกได้เท่าไร ยิ่งขณะนี้ราคาข้าวของไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ซื้อก็ต้องเลือกซื้อข้าวในราคาถูกก่อน แต่เราก็ยังมั่นใจว่าคุณภาพของข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการของผู้ซื้ออยู่
สำหรับราคาส่งออกข้าว (เอฟโอบี) ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยราคา ณ วันที่ 29 เม.ย. ข้าวหอมมะลิ (62/63) ตันละ 1,149 ดอลลาร์ สูงขึ้นจาก (22 เม.ย.) ที่ตันละ 1,144 ดอลลาร์,ข้าวขาว 5% ตันละ 556 ดอลลาร์ สูงขึ้นจาก553 ดอลลาร์ และ ข้าวเหนียว ตันละ 1,121 ดอลลาร์ สูงขึ้นจาก ตันละ 1,117 ดอลลาร์
ราคาข้าวเปลือกยังดีอยู่
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในแต่ละปีไทยผลิตข้าวได้ 31 ล้านตันข้าวเปลือก เป็นข้าวสาร 20 ล้านตัน ซึ่งใช้บริโภคภายในและส่งออก ที่ผ่านมาราคาที่ผ่านมาต่ำมาก แต่ฤดูกาลปี 62/63 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าผลผลิตได้ 28 ล้านตันข้าวเปลือก จะได้ข้าวสาร 18 ล้านตัน ที่เหลือก็ส่งออก ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาขาดแคลน
สำหรับราคาข้าวในต้นปีนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากจากเวียดนาม และอินเดีย ชะลอการส่งออกข้าว จึงเกิดแรงซื้อ ทำให้ราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามมีการจำกัดการส่งออกไม่เกินเดือนละ 4 แสนตัน ที่ปกติส่งออกประมาณ 5-6แสนตัน ซึ่งแนวโน้มราคาข้าวขณะนี้ต้องดูระยะยาวว่าโควิด-19 จะยืดเยื้อขนาดไหน
สำหรับราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15% )ณ วันที่ 29 เม.ย. ข้าวเปลือกเจ้า 5% (อยุธยา) ตันละ 10,200 บาท,ข้าวเปลือกหอมมะลิ(62/63) จ. อุบลราชธานี ตันละ 15,000-16,000,ข้าวเปลือกเหนียว (กข.6) 62/63 ตันละ 16,800-17,700 บาท