'นันยาง' พลิกแข่งฟังก์ชัน กำจัดจุดอ่อน เจาะโอกาสใหม่!
ปี 2563 ธุรกิจทุกภาคส่วนต่างเผชิญความท้าทายนับตั้งแต่ก้าวแรก! ที่เรียกว่าหฤโหดมากสำหรับ "วิกฤติโควิด-19" ทุบปัจจัยบวกหายไปจากตลาด ผู้ประกอบการต้องจัดกระบวนทัพ ปรับกลยุทธ์ใหม่ ประคองตัวให้พ้นปากเหว!
แม้สินค้ากึ่งจำเป็นอย่างรองเท้านักเรียน "นันยาง" จะไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดมากนักก็ตาม หากแต่ดีกรีการแข่งขันที่รุนแรง ท่ามกลางสถานการณ์สินค้านักเรียนทรงตัว จะรักษาและเพิ่มการเติบโตให้ธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?
จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า นันยางเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ! ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ ละเอียด รวดเร็ว ไม่ประมาท ประการสำคัญต้องเรียนรู้ที่จะแสวงหา "โอกาส" จากปัญหา เรียกว่า กำจัดจุดอ่อน ตอบ Painpoint หรือ ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม
โดยมี "วิจัย" และ "บิ๊กดาต้า" ในการกรองปัญหา สู่โอกาสทางการตลาด ยกตัวอย่าง สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ นันยาง พลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการส่งมอบโซลูชันที่ตอบโจทย์ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนประถม ด้วยรองเท้าผ้าใบนักเรียนนันยางแฮฟฟันที่มาพร้อม "เชือกยืดหยุ่น ไม่ต้องผูก!" ลดการสัมผัสเชื้อโรคจากรองเท้า เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยต่อเด็กนักเรียน
"จากโปรเจควิจัยเฉพาะกิจ นันยาง X ฮัมมิ่งเบิร์ด Inside Thai Kids เพื่อเจาะลึกแนวคิดของเด็กไทยวัยประถม ทำให้นันยางพบโอกาสในการพัฒนานันยาง แฮฟฟัน ใหม่ เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับดีแน่นอน เพราะจากผลสำรวจยังระบุด้วยว่า ปัญหาใหญ่ของเด็กประถมคือการผูกเชือกรองเท้า"
โดยเฉลี่ยเด็กๆ จะต้องผูกเชือกมากกว่าคนละ 10 ครั้งต่อวัน ซึ่งมีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคจากรองเท้า เชือกยืดหยุ่นจึงช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ รวมถึงเพิ่มความสะดวกให้แก่ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองอีกด้วย นี่คือจุดอ่อน! ที่ถูกกำจัดได้อย่างประจวบเหมะ ซึ่งไอเดียนี้ จักรพล บอกว่า เกิดขึ้นก่อนโควิด! แต่สอดรับไปกับสถานการณ์เตรียมเปิดเทอมพอดี
"เชื่อว่า เดือน มิ.ย.นี้ตลาดนักเรียนจะกลับมาคึกคัก เป็นเดือนแบ็คทูสคูล หลังกำหนดเปิดภาคเรียนแน่นอนวันที่ 1 ก.ค.สินค้าเพียงเลื่อนการขายจากเดิมหลังสงกรานต์ จนถึง 15 พ.ค."
ทั้งนี้ โปรดักท์เรือธง แฮฟฟันใหม่ ไม่ต้องผูกเชือกถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนักเรียนชั้นประถมโดยเฉพาะ ราคา 285 บาท เหมาะสำหรับเด็กอายุ 4-10 ปี มี 3 สี ขาว ดำ และน้ำตาล สินค้าทยอยวางจำหน่ายตั้งแต่เดือน พ.ค. นี้่ ที่ร้านรองเท้ากว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ บิ๊กซี โลตัส และช่องทางออนไลน์ ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดีเซ็นทรัล
"ตลาดจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสม ส่วนตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนนั้นจะเป็นการชะลอการตัดสินใจซื้อเท่านั้น พอถึงฤดูกาลเปิดเทอมกำลังซื้อก็จะกลับมา โดย นันยาง แฮฟฟัน จะสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้แก่ตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนเมืองไทยแน่นอน"
นันยาง ตั้งเป้าการเติบโตปีนี้ 5% และจะไม่มีแผนปรับลดตัวเลขแต่อย่างใด เนื่องจากสินค้าของนันยางไม่ใช่สินค้าแฟชั่นหรือสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสินค้าสำหรับใช้งานและเป็นรองเท้าที่ผู้บริโภคใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ทำให้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ สามารถรักษาตลาดไว้ได้อย่างเหนียวแน่น!
สะท้อนจากไตรมาสแรกที่ผ่านมา เติบโต 3% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 สาเหตุมาจากร้านค้าได้ซื้อสินค้าเพื่อเตรียมรับช่วงเปิดเทอมในช่วงไตรมาส 3 และการอ่อนตัวของค่าเงินบาทส่งผลให้การส่งออกดีขึ้น โดยเฉพาะ "เมียนมา" ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นและมีเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต
ขณะที่ ปี 2562 ผลประกอบการนันยางสูงกว่าปีก่อนหน้า 10% เป็นนิวไฮ! นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เป็นผลจากการเติบโตของยอดขายรองเท้าผ้าใบนักเรียนในช่วงครึ่งปีแรก ครองมาร์เก็ตแชร์เบอร์หนึ่งที่ 43% และช่วงไตรมาส 4 รายได้สูงขึ้นจากการส่งออกเพื่อนบ้านจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาท และการทำการตลาดที่โดนใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการเปิดตัวสินค้ารุ่นพิเศษ รองเท้าผ้าใบนันยาง เรด ลิมิเต็ด เอดิชั่น 2019 และรองเท้าแตะ KHYA (ขยะ) ซึ่งผลิตจากขยะทะเล สามารถสร้างการรับรู้ การยอมรับ และกระแสนิยมให้แก่แบรนด์ได้ชั่วข้ามคืน
เช่นเดียวกับช่วงโควิดนี้ ที่แจ้งเกิด "ช้างดาว" รุ่น โควิด เอดิชั่น "เหลืองแดง-ไวท์พิ้งค์" สำหรับชาวธรรมศาสตร์ และจุฬาฯ 7 วัน ยอดขายทะลุ 8,000 คู่ เฉียดหมื่นทั้งยังต้องรอผลิตและจัดส่งอีก 2 เดือน!
สิ่งที่ตามมาจากปรากฎการณ์นี้ ช้างดาว จะไปต่อได้ขนาดไหน อย่างไร คือ โจทย์ใหญ่ที่รอสร้างโอกาสของ จักรพล อีกเช่นกัน
ปัจจุบัน ตลาดรวมรองเท้านักเรียน มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรองเท้าผ้าใบ 60% รองเท้าหนังดำสำหรับนักเรียนหญิง 35% และรองเท้าอื่นๆ 5% และ นันยาง ยังคงปักหมุดความคลาสสิคอยู่คู่เด็กนักเรียนไทย
สำหรับวิกฤติการโควิดครั้งนี้ จักรพล ทิ้งท้ายว่า นันยางปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงใน 3 ช่วงสถานการณ์ เริ่มจาก "ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19" ในองค์กรมุ่งลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมในการทำงาน ประชุม พนักงานสลับช่วงเวลา เป็นต้น
ช่วงที่สอง "หมดโควิดทันที" พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจ สุดท้ายการเข้าสู่ นิวนอร์มอล (New Normal)ที่ต้องจับตามองและประเมินแล้วว่าใน 1-2 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไร ผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไร