ทุนนอกหนีจีนยึด 'อาเซียน' โควิดเขย่าซัพพลายเชนโลก
ส.อ.ท.ระบุ “โควิด” จะทำให้ห่วงโซ่การผลิตโลกสั้นลง ลดพึ่งวัตถุดิบจากหลายประเทศ คาดกระแสย้ายฐานจากจีนแรงขึ้นไหลเข้ามาไทย-เวียดนาม ชิ้นส่วนไฮเทคกลับญี่ปุ่น สหรัฐอ้างโควิดดึงลงทุนกลับ
การระบาดของโรคโควิด-19 กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนโลก จากเดิมพึ่งพาการผลิตจากจีนเป็นสำคัญ แต่การระบาดส่งผลให้การผลิตสินค้าและการส่งออกของจีนชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตหลายประเทศ ส่งผลให้มีการหาแนวทางลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาซัพพลายเชนจากจีน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมประเทศไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อทดแทนอุตสาหกรรมเดิม และการผลิตสินค้า Mass Product กำลังเข้าสู่วงจรถดถอย เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 กระทบต่อทุกภาคส่วน รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ต้องปรับแผนธุรกิจใหม่
ในขณะที่การระบาดส่งผลเปลี่ยนแปลงหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีแรงกดดันให้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น ซึ่ง New Normal จะสร้างมาตรฐานใหม่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีนำหน้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกในอนาคต
ปัจจัยขับเคลื่อนของ New Normal ต่อทิศทางของภาคอุตสาหกรรมไทย มี 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
1.ห่วงโซ่การผลิตที่สั้นลง ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 โลกเราอยู่ในยุคการค้าไร้พรมแดน ที่มีการย้ายฐานการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า และพึ่งพาการนำเข้า-ส่งออกเป็นหลัก
แต่หลังจากวิกฤตโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะต้องทบทวน ห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่จะเปลี่ยนแปลงไป หลายบริษัทอาจลดความยาวของ Supply chain จากที่ผ่านมาจะผลิตชิ้นส่วนในหลายประเทศ และส่งไปประกอบอีกประเทศหนึ่ง
โดยหลังจากโควิด-19 จะลดให้สั้นลง ลดพึ่งพิงการผลิตแบบกระจายฐานการผลิตหลายประเทศมาอยู่ประเทศเดียว ระบบ Supply Chain ภาคอุตสาหกรรมจะขมวดเข้าสู่การพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น และเน้นรายได้จากการบริโภคภายในประเทศ
2.ธุรกิจปรับสู่อีคอมเมิร์ซ จากพฤติกรรมที่ถูกบีบบังคับจากการกักตัวอยู่บ้านทำให้ภาคธุรกิจเข้าสู่การค้าอีคอมเมิร์ซ การชำระสินค้าและบริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรมต้องเพิ่มบริการแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เป็นโอกาสเติบโตหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจรับส่งพัสดุด่วน ธุรกิจขนส่งอาหาร
ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะหันไปสู่ระบบอัตโนมัติ เข้ามาอำนวยความสะดวก และทำงานแทนคน ลดการติดต่อหรือการสัมผัสกันกัน คาดว่าหลังโควิด-19 ยุติ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติจะขยายตัวเร็ว โดยหลังจากนี้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติจะเร็วขึ้น โดยโรงงานทุกระดับใช้หุ่นยนต์มากขึ้น
3.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะฟื้นกลับคืนสู่ระบบธุรกิจเช่นเดิมได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพึ่งพาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน
ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องพึ่งโซ่อุปทานจากหลายประเทศ ทำให้ได้รับผลกระทบสูงจากการประกาศปิดประเทศนำไปสู่การระงับการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ชั่วคราว ส่งผลให้ชิ้นส่วนขาดแคลนทั่วโลก ดังนั้น ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องกลับมาทบทวน ปรับโครงสร้างการผลิตในรูปแบบเดิมให้รองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะหลังจากนี้
4.การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการควบคุมการระบาดโควิด-19 เร่งด่วน ทำให้ภาคธุรกิจต้องเข้าสู่ยุค Digital Transformation อย่างเข้มงวด ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และต้องใช้เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารมากขึ้น วิธีปฏิบัติเหล่านี้ช่วยให้การบริหารจัดการยืดหยุ่นมากขึ้น ธุรกิจถูกปรับเปลี่ยนไปสู่ด้วยวิธีทำงานที่ง่ายขึ้น
ย้ายฐานการผลิตเข้าอาเซียน
นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.กล่าวว่า การเปลี่ยนของซัพพลายเชนในภูมิภาคมีปัจจัยสนับสนุนตั้งแต่ภาวะสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ทำให้มีบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อลดความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้า รวมทั้งเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นแรงกดดันให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งซัพพลายเชนจากจีน หลังจากฐานการผลิตในจีนที่พึ่งพาอยู่ไม่สามารถผลิตหรือส่งออกได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ฐานการผลิตสำคัญของโลกอยู่ที่เอเชียตะวันออกและอาเซียน ซึ่งทำให้การย้ายฐานการผลิตมองไปที่ญี่ปุ่น ไต้หวันและอาเซียน โดยรูปแบบการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.การย้ายกลับไปประเทศแม่ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ ซึ่งการผลิตที่เลือกย้ายกลับไปประเทศแม่เป็นกลุ่มชิ้นส่วนหรือสินค้าค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงในการผลิต เช่น การใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตทั้งหมด
2.การย้ายเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้ว เช่น อาเซียน
นายกรกฎ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในแต่ละประเทศ ซึ่งเดิมพิจารณาจาก 3 ปัจจัย สำคัญ คือ
1.สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ
3.ตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
โดยหลังจากนี้นักลงทุนจะมองปัจจัยที่ 4 เพิ่มเข้ามา คือ การควบคุมการระบาดโรคโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ซึ่งการสร้างภาพลักษณ์เพื่อส่งเสริมการลงทุนหลังจากนี้ควรแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมโรคระบาดของไทยด้วย เพื่อเพิ่มจุดขายให้กับประเทศ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทต่างชาติมองการลงทุนอาเซียนในไทย เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยปัจจุบันไทยมีความได้เปรียบในการชักจูงการลงทุน เพราะควบคุมการระบาดได้ค่อนข้างดี และมีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์อยู่แล้ว ส่วนเวียดนามเป็นอีกประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ค่อนข้างดี
รวมทั้งมีข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรงถูก การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาน้อยกว่าจีน ดังนั้นจึงเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการเป็นฐานซัพพลายเชนโลก ในขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียมีการระบาดอยู่มากจึงทำให้ประเด็นนี้ ไทยและเวียดนาม มีความได้เปรียบ
“อุตสาหกรรมที่จะเห็นภาพชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนโลกครั้งนี้ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะมีฐานการผลิตชิ้นส่วนกระจายอยู่ในหลายประเทศ”
หนุนซัพพลายเชนอุตฯยานยนต์
นายเกียรติศักดิ์ จิระจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทย ซับคอน) กล่าวว่า สมาคมฯ มีสมาชิก 400 ราย ในจำนวนนี้ 80-90% เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ตั้งแต่เทียร์ 2-3 โดยโควิด-19 ทำให้คำสั่งซื้อจากผู้ผลิตรถยนต์ไม่ดีนัก และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ลดเป้าผลิตจาก 2 ล้านคัน เหลือไม่ถึง 1 ล้านคัน เพราะเศรษฐกิจโลกซบเซา
รวมทั้งมองว่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เร็วขึ้น เนื่องจากกระแสความต้องการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่มาตรการสิ่งแวดล้อมไทยและต่างประเทศเข้มงวดขึ้น
นอกจากนี้ มองว่าหลัง โควิด-19 ต่างชาติจะมาลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่ต่างชาติยอมรับว่ารัฐบาลไทยมีมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดีมาก ชี้ให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขไทยมีมาตรฐานดีกว่ายุโรปและสหรัฐ ทำให้การเข้ามาลงทุนและอาศัยในไทยปลอดภัยกว่า
สำหรับช่วงระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกนำเข้าชิ้นติดขัด ดังนั้นจึงมีแนวโน้มมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนในไทยเพิ่ม เพื่อความปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งการมีโรงงานผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนภายที่เดี่ยวกันจะปลอดภัยกว่า
“ปัจจุบันบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกมีฐานการผลิตในไทย และหลายบริษัทใช้ไทยเป็นฐานผลิตหลัก เพราะแรงงานไทยมีฝีมือ มีการผลิตชิ้นส่วนหลากหลาย รวมทั้งผลิตแม่พิมพ์ได้ จึงดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยเพิ่ม โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่โลกต้องการสูงขึ้น และรัฐบาลไทยสนับสนุนเต็มที่ รวมทั้งตลาดอาเซียนมีกำลังซื้อสูงขึ้น”