กนอ.เร่งโปรเจคผันน้ำ 'คลองสะพาน' รับมือแล้ง EEC ระยะยาว

กนอ.เร่งโปรเจคผันน้ำ 'คลองสะพาน' รับมือแล้ง EEC ระยะยาว

สถานการณ์แล้งในปี 2564 มีแนวโน้มรุยแรงขึ้น หากสถานการณ์ฝนในปี 2563 ทิ้งช่วง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันโครงการวางท่อสูบน้ำคลองสะพาน เพิ่มปริมาณเก็บน้ำให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม “วิกฤติสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก” ร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า จากตัวเลขน้ำสำรองปัจจุบันทำให้มั่นใจว่าจะมีใช้ถึงเดือน มิ.ย.นี้ และผ่านภาวะภัยแล้งครั้งนี้ได้ แต่ยังห่วงในภัยแล้งครั้งหน้าที่จะเริ่มปลายปี 2563

สำหรับแนวทางรับภัยแล้งช่วงปลายปีนี้ จะผลักดันโครงการวางท่อสูบน้ำจากคลองสะพาน จ.ระยอง เพื่อวางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ 1,800 มิลลิเมตร ดึงน้ำมาเก็บที่อ่างเก็บน้ำประแสร์เพิ่ม 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากปัจจุบันวางท่อสูงน้ำชั่วคราวขนาด 900 มิลลิเมตร สูบน้ำได้ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ส่วนมาตรการขอความร่วมมือนิคมอุตสาหกรรมลดใช้น้ำ 10% ปีนี้ ทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย แต่หากเกิดภัยแล้งปี 2564 อีกยากที่จะลดการใช้น้ำลง 10% เพราะจะมีการขยายโรงงานและการลงทุนใหม่เข้ามาเพิ่ม

“ในช่วงหลังเกือบทุกปีปริมาณกักเก็บน้ำลดลงทุกปี เพราะฝนไม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ทำให้เป็นปัญหาสำคัญจะต้องมีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน โดยปี 2563-2565 จะมีการตั้งโรงงานเพิ่ม 2 เท่าตัว หากน้ำไม่เพียงพอจะกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)”

158947265524

นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าวว่า หัวใจหลักของแหล่งน้ำที่เข้ามาป้อนอีอีซี คือ อ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ใน จ. จันทบุรี โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 เม.ย.2552 กำหนดให้สร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ให้เสร็จจึงจะผันน้ำมาอีอีซีได้ ประกอบด้วย 

1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ที่สร้างเสร็จแล้ว เก็บน้ำในปี 2563 เข้ามาช่วยได้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร 

2.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ กำลังก่อสร้างจะเสร็จปีหน้า 

3.อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว จะเสร็จปีหน้า 

4.อ่างเก็บน้ำวังโตน ยังไม่ได้สร้าง

ทั้งนี้ หากอ่างเก็บน้ำวังโตนดสร้างไม่ได้ก็จะขัดมติ ครม.ไม่สามารถดึงน้ำเข้ามาในอีอีซีได้ ซึ่งแม้จะเสร็จไปแล้ว 3 อ่าง ก็นำมาใช้ในอีอีซีไม่ได้ และคนใน จ.จันทบุรี จะไม่ยินยอม โดยหากอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ก่อสร้างเสร็จจะผันน้ำมาอีอีซีได้ 100–150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

สำหรับแผนเดิมทั้ง 4 อ่างเก็บน้ำ ต้องเสร็จปี 2564 ซึ่งอ่างเก็บน้ำวังโตนด ครม.อนุมัติโครงการแล้ว ขณะนี้อยู่ขั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และต้องทำเรื่องขอใช้พื้นที่ป่าอีก โดยอ่างเก็บน้ำวังโตนดอยู่ลึกที่สุดในเขตพื้นที่ป่า ใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 7,000 ไร่ ซึ่งทั้ง 3 อ่างก็อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมดจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือเสร็จปี 2567

“หากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะเสนอ ครม.แล้วจะทำเรื่องขอใช้พื้นที่ป่า ถ้าไม่ติดอะไรก็จะเสร็จภายใน 1 ปี เริ่มสร้างได้ปี 2564 แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่คนที่พิจารณาไม่ใช่คนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ไม่ใช่คนใช้ประโยชน์จากน้ำ ไม่ได้ไปถามความเห็นคนในจันทบุรีว่าต้องการหรือไม่ โครงการที่จะผันน้ำให้อีอีซีทั้งหมดโครงการหลักที่จะได้น้ำแน่ คือ โครงการนี้ได้น้ำ 100-150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี" 

สำหรับหน้าแล้งปี 2564 ก็เหมือนปีนี้ จากการวิเคราะห์ในปี 2563 จะมีน้ำใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะในอนาคตมีแต่การใช้น้ำเพิ่ม แต่แหล่งน้ำเท่าเดิม โดยโครงการสูงน้ำคลองสะพานชั่วคราวสูงน้ำได้ 1.7 แสนลูกบาศก์เมตร พอแก้ปัญหาปีนี้ได้ แต่ก็เติมน้ำในอ่างเก็บน้ำได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้จึงได้ของบลงทุนโครงการสูบน้ำคลองสะพานถาวรที่สูบได้วันละ 5 แสนลูกบาศก์เมตร โดยโครงการนี้ใช้งบ 300 ล้านบาท ซึ่งกรมชลประทานได้อนุมัติงบระยะ 3 ปี ในการก่อสร้างโครงการนี้ แต่มองว่าจะช้าเกินไปจึงได้ขอรวมทำในปีเดียวให้เสร็จ 

หากได้รับงบมาจะวางท่อเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเร่งเติมน้ำในอ่างประแสร์ ได้เดือนละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วง 2 เดือนก็จะได้น้ำเพิ่ม 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดความเสี่ยงภัยแล้งในปี 2564 ได้ จุดเสี่ยง คือ สภาพภาวะอากาศเป็นไปตามคาดการณ์หรือเปล่า หากเป็นไปตามค่าเฉลี่ยก็พอผ่านได้ แต่ถ้าแล้งซ้ำอีก 1 ปี ในแล้งปีหน้าจะค่อนข้างลำบาก

“ปีนี้ภาคตะวันออกมีฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเพียง 10% แต่มีน้ำไหลลงอ่างลดลงกว่า 50% เพราะฝนตกไม่ลงอ่าง หากโครงการท่อสูบน้ำคลองสะพานไม่ได้รับงบประมาณก็เสี่ยงขาดน้ำ”

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนดใช้พื้นที่ 7,000 ไร่ ซึ่งอยู่ในป่าสงวนแต่ส่วนใหญ่เป็นป่าเสื่อมโทรม มีชาวบ้านบุกรุกทำกินนานแล้ว และหากหน่วยราชการใช้พื้นที่ป่าสงวนจะต้องไปปลูกป่าทดแทนในพื้นที่อื่นให้ได้มากกว่า 2 เท่า จะทำให้มีป่าเกิดใหม่ 1.4 หมื่นไร่

ส่วนข้อขัดแย้งปัญหาผลกระทบต่อโขลงช้างป่าเกือบ 200 ตัว ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จัดทำไว้แล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าไม่กระทบโขลงช้างป่า และการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองประแกดจะทำให้กลุ่มช้างป่ามีอาหารเพิ่มขึ้น เพราะมีแหล่งน้ำทำให้ป่าสมบูรณ์

“เป็นประโยชน์ทั้งภาคการเกษตรในจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งทำให้มีน้ำป้อนอีอีซีเพียงพอ ส่งผลให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน ยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งทุกโครงการมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่โครงการนี้ผลกระทบน้อยมาก ทำให้พื้นที่ป่ารอยต่อหายไปเพียง 1% และเหลือพื้นที่ให้กับช้างป่าถึง 99%”

ทั้งนี้ จุดที่น่าเป็นห่วงหากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่เร่งรัดโครงการนี้ คือ อีไอเอจะหมดอายุและต้องเริ่มทำใหม่ ซึ่งใช้เวลานานและอีอีซีอาจรอไม่ได้ เพราะมีนักลงทุนเตรียมเข้ามาจำนวนมาก โดยขณะนี้เหลืออีกเพียง 3 ปี ก็จะหมดอายุอีไอเอ จึงต้องเร่งดำเนินการ