'ซันสวีท' ออเดอร์ล้น ! โควิด-19 ดันฐานการเงิน
ยอดขายโดดเด่น ! สวนทิศทางเศรษฐกิจถดถอย 'องอาจ กิตติคุณชัย' นายใหญ่ บมจ. ซันสวีท เตรียมรับมือคำสั่งซื้อสินค้าพุ่ง อานิสงส์โควิด-19 เร่งเครื่องขยายกำลังผลิต 500 ตันต่อวัน เป็น 700 ตันต่อวัน พร้อมจ่อปรับเป้าหมายรายได้ปี 2563 ใหม่เดือนหน้า
พัฒนาการที่ร้อนแรง !! ของส่งผลให้ บมจ.ซันสวีท หรือ SUN ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท KC มีฐานะทางการเงิน 'โดดเด่น' สวนทิศทางเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังถดถอย โดยไตรมาส 1 ปี 2563 มี 'กำไรสุทธิ' 10.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8.6 ล้านบาท
ปัจจุบัน 'ซันสวีท' มีธุรกิจ 2 ประเภท คือ 1.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าทางเกษตรอื่นๆ ดำเนินการภายใต้ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจผลิตภัณฑ์และจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูป เช่น ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง (Canned Corn) ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ (Pouch Corn) และข้าวโพด หวานแช่แข็ง (Frozen Corn)
นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ถัวขาวในซอสมะเขือเทศ ถัวแระแช่แข็ง เป็นต้น เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สำหรับผลพลอยได้จาก กระบวนการผลิตเช่น เปลือก ซังข้าวโพด และเศษข้าวโพด จะนำไปจำหน่ายให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นอาหารสัตว์ และบางส่วนบริษัทจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานของบริษัท
2.ธุรกิจซื้อมาจำหน่ายไป (Trading) ดำเนินการโดยบริษัท ซันสวีท อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจจัดหาและซื้อมาจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เช่นหอมหัวใหญ่สด ซอส มะเขือเทศ สับปะรดบรรจุกระป๋อง น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ มะพร้าวสด แป้งมันสำปะหลัง น้ำสลัด ข้าวหอม มะลิ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถัวเหลือง และน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น
'องอาจ กิตติคุณชัย' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซันสวีท หรือ SUN เล่าให้ฟังว่า ผลการดำเนินงานที่เติบโตระดับที่ดีในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นช่วง 'นอกฤดู' (โลว์ซีซั่น) แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ 'ยอดขาย' โดยเฉพาะยอดขายในประเทศ ที่มี 'ความต้องการ' ( ดีมานด์) สินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หลังภาครัฐมีการขอความร่วมมือประชาชนให้ทำงานที่บ้าน และยังมีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นด้วยความมีเสถียรภาพในการผลิตและการส่งมอบสินค้าของบริษัท
'ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2563 เราทำได้ดี แม้ว่าปกติจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ แต่ปีนี้ยอดขายกลับเติบโตมากกว่าปกติ โดยเฉพาะยอดขายในเมืองไทย สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19'
เขา บอกต่อว่า ในปีนี้เตรียม 'ปรับเป้า' รายได้ใหม่ในเดือนมิ.ย. 2563 จากเดิมวางเป้ารายได้อยู่ที่ 15-20% แต่หลังจากยอดขายไตรมาสแรกเติบโตมากกว่า 40% หรือมีรายได้จากการขายประมาณ 613.80 ล้านบาท โดยถือว่าเป็นยอดขายที่เติบโตในระดับสูงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในภาวะเศรษฐกิจผันผวนเฉกเช่นนี้ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย
ขณะที่ทิศทางผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 ยังจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้วัตถุดิบกลับเข้าสู่ภาวะปกติทั้งด้านปริมาณและราคา โดยบริษัทยังเน้นการหาลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา และรักษาฐานลูกค้าเดิมให้ยังคงส่งคำสั่งซื้อให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง
'เราเชื่อว่าทั้งปีจะเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วงต้นปี 2563 สะท้อนผ่านตัวเลขยอดขายไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ที่เติบโตมากกว่า 40% จากความต้องการสินค้าพุ่งสูง ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 2563 เชื่อว่าจะเติบโตมากกว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เนื่องจากปกติช่วงไตรมาส 2 จะเป็นฤดูกาล (ไฮซีซั่น) ของธุรกิจ' เจ้าของตัวจริงย้ำให้ฟัง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการสินค้าของบริษัทที่สูงขึ้นมาก ทำให้ปัจจุบันบริษัทเตรียมขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 700 ตันต่อวัน จากปัจจุบันบริษัทใช้กำลังการผลิต 500 ตันต่อวัน เพื่อรองรับ 'คำสั่งซื้อ' (ออเดอร์) จากลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชีย อย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น
ขณะที่ปัจจุบันบริษัทยังคงสัดส่วนตลาดต่างประเทศเกินกว่า 80% ของการขายทั้งหมด เน้นกลุ่มลูกค้าประเทศที่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน อาทิ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ กลุ่มทวีปยุโรป รวมไปถึงการเปิดตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้วิธีการนำผลิตภัณฑ์ออกงานแสดงสินค้าต่าง ๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ให้เพิ่มขึ้น ที่เหลืออีก 20% เป็นสัดส่วนการขายในประเทศที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายไปร้านสะดวกซื้อต่างๆ
'บริษัทส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศประมาณ 50-60 ประเทศ เป็นลูกค้าในกลุ่มประเทศเอเชียเกินกว่า 50% และไม่ยึดติดกับลูกค้าเพียงรายเดียวในแต่ละประเทศ เพื่อเป็นการกระจายความเสียงของบริษัทด้วย'
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ติดอับดับ 1 ใน 10 ของโลก ทั้งด้านปริมาณและมูลค่า หากพิจารณาเฉพาะเจาะจงลงไปในผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานโดยอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Centre : ITC) พบว่า ในปี 2557–2559 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกข้าวโพดหวานแบบสดหรือแปรรูปฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เท่ากับ 17.55 ล้านดอลลาร์ 19.74 ล้านดอลลาร์ และ 21.76 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
ส่วนปริมาณการส่งออกข้าวโพดหวาน เท่ากับ14,702 ตัน 17,494 ตัน และ19,241 ตัน ตามลำดับ หรือคิดเป็นสัดส่วนปริมาณการส่งออกเท่ากับ 5% ของปริมาณการส่งออกรวมทั่วโลก
'ซีอีโอ' บอกต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีการทำตลาดภายใต้ตราสินค้า 'KC' มากขึ้น นอกเหนือจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า โดยในปี 2560-2562 บริษัทมีสัดส่วนรายได้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ KC เท่ากับ 21.92% 26.17% และ 26.92% ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ ขณะที่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของลูกค้าอยู่ที่ 70.67% 67.99% และ 68.02% ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ
รวมทั้งบริษัทยังมีทีมงานวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่วมกันออกแบบ ผลติภัณฑ์กับลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค
ประกอบกับปัจจุบันเนื่องด้วยภาวะทางสังคมมีความตระหนักถึงเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการในการเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งข้าวโพดหวานถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาหารตัวเลือกของคนรักสุขภาพ เพราะข้าวโพดหวานเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อาทิ มีกากอาหาร วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
สำหรับแผนการตลาดของบริษัทในขณะนี้จะเน้นการติดต่อกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น หลังจากที่บริษัทไม่สามารถที่จะเดินทางไปพบลูกค้าในแต่ละประเทศได้ และงานแสดงสินค้าต่างๆ ยกเลิกไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยในช่วงที่ผ่านมาการทำการตลาดออนไลน์ถือว่าปรับตัวได้ค่อนข้างดี และช่วยลดต้นทุนลงได้อีกด้วย
ท้ายสุด 'องอาจ' ทิ้งท้ายไว้ว่า ตอนนี้ต้นทุนด้านวัตถุดิบที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติด้วย ปัจจัยหนุนอีกอย่างคือค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องด้วย ยอดขายก็ยังเติบโต เนื่องจากที่ผ่านมามีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีความต้องการแหล่งสินค้าที่มีเสถียรภาพ เราก็จะเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ
3 ผลิตภัณฑ์ 'ยอดขายดี'
'องอาจ กิตติคุณชัย' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซันสวีท หรือ SUN เล่าให้ฟังว่า สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง (Canned Corn) ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูตามที่ต้องการทั้งคาวและอาหารหวาน มีทั้งในรูปของเมล็ดข้าวโพด (Whole Kernel Corn) และซุปข้าวโพด (Cream Style Corn)
2.ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศพร้อมรับประทาน (PouchCorn) ซึ่งบริษัทมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับประทานของลูกค้า ซึ่งสามารถจัดเก็บหรือทำลายได้ง่ายกว่าในรูปแบบของกระป๋อง โดยมีสินค้าแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
'ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศพรอ้มรับประทานแบบถุง' (Retort Pouch Whole Kernel Sweet Corn) เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศพร้อมรับประทานแบบถุงในรูปแบบเมล็ดทีผ่าน กระบวนการการฆ่าเชื้อแบบสเตอริไรซ์หรือฆ่าเชื้ออย่างสมบูรณ์ในระดับอุตสาหกรรม (Commercial Sterilization)
'ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศพร้อมรับประทานแบบฝัก' (Retort Pouch Corn on the Cob) โดยมีการคัดเลือกข้าวโพดหวานฝักใหญ่นำมาบรรจุในถุงสุญญากาศด้วยเทคนิค Steamed Vacuum Packed และผ่านกระบวนการการฆ่า เชื้อแบบสเตอริไรซ์หรือฆ่าเชื้ออย่างสมบูรณ์ในระดับอุตสาหกรรม (Commercial Sterilization) จึงทำให้สามารถรักษาคุณภาพได้เป็นอย่างดีและสามารถเก็บรักษาได้นาน 12 เดือนในอุณหภูมิปกติ
'ผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน' (Ready to Eat) ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าพร้อมรับประทาน เช่น ข้าวโพดหวานปิงเนย , มันหวานญี่ปุ่นเผา ,ถัวลายเสือต้ม และข้าวโพดข้าวเหนียว ภายใต้แบรนด์สินค้า KC เพื่อจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อในประเทศ รวมทั้งบริษัทยังคงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อนำเสนอสินค้าที่หลากหลายให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้นด้วย
และ 3.ข้าวโพดหวานแช่แข็ง (Frozen) ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแช่แข็ง ทีผ่านกระบวนการแช่แข็งแบบไอคิวเอฟ (Individual Quick Freezing : IQF) ที่ต้องควบคุมอุณหภูมิในห้องแช่แข็งเท่ากับ -40 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า โดยเมล็ดข้าวโพดหวาน แต่ละเมล็ดจะสัมผัสกับตัวกลางที่ให้ความเย็นโดยตรงทำให้เกิดผลึกน้ำแข็ง ขนาดเล็กมีลักษณะแยกจากกันเป็น เมล็ดๆ ไม่เกาะกันเป็นก้อนโดยต้องเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียสตลอดเวลา เพื่อรักษา ความสดใหม่ของเมล็ดอีกด้วย