อีกครั้งกับ Active และ Passive Income

อีกครั้งกับ Active และ Passive Income

กลับมาทบทวนความเข้าใจเรื่อง Active Income และ Passive Income ก่อนจะที่จะเริ่มมองหาช่องทางในการหาเงินช่วงภาวะวิกฤติแบบนี้ สิ่งสำคัญในวันนี้ถ้าเป็นไปได้อยากให้เริ่มกระจายความเสี่ยงของแอกทีฟอินคัมก่อน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เรายังคงต้องใช้ชีวิตของเราอยู่กับการแพร่กระจายของไวรัสโควิทมากว่าสามเดือนแล้ว ทุกๆ คนต่างได้รับผลกระทบและต่างต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้ชีวิต หลายท่านต้องทำงานจากที่บ้าน และไม่มีใครทราบว่ามันจะจบอย่างไร? จะกลับมาใหม่อีกหรือไม่? แต่ที่แน่ๆ ทุกๆ ท่านต่างต้องเตรียมรับมือกับการใช้ชีวิตปกติแบบใหม่หรือที่เรียกว่า New Normal กัน

วันนี้ผมอยากจะเขียนถึงเรื่องของ Active กับ Passive Income อีกสักครั้ง เริ่มต้นจากการทบทวนความหมายง่ายๆ ของรายได้ทั้งสองรูปแบบดู แอกทีฟอินคัมหรือรายได้ที่เราต้องใส่แรงกายเข้าไปเพื่อให้ได้รายได้นั้นมา เช่น รายได้จากเงินเดือนที่เราทำงานที่บริษัท

ในขณะที่พาสสีฟอินคัมคือรายได้ที่เราได้รับมาโดยไม่ต้องใส่แรงเข้าไป เช่น รายได้จากเงินปันผลของหุ้นที่เราไปลงทุนไว้ รายได้จากดอกเบี้ยของพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่เราลงทุนไว้ รายได้จากค่าเช่าห้องคอนโดที่เราซื้อเอาไว้ เป็นต้น หลายๆ ท่านล้วนอยากมีพาสสีฟอินคัมกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่เพราะถือเป็นรายได้ที่เราจะได้รับโดยไม่ต้องออกแรงทำ

คราวนี้เราจะลองมาดูในรายละเอียดของพาสสีฟอินคัมลงไปอีก สมมติว่าถ้าเราต้องการใช้เงินเดือนละสองหมื่นบาท และสมมติต่อว่าเรามีทางเลือก 3 ทางด้วยกันคือลงทุนในพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 2 หุ้นที่ให้ปันผลร้อยละ 4 ห้องคอนโดที่ให้เช่าได้เดือนละ 10000 บาท เราลองมาดูเงินทุนที่เราต้องลงทุนในสามทางเลือกนี้ดู

เริ่มจากพันธบัตรถ้าเราต้องการดอกเบี้ยเดือนละ 2 หมื่นบาท (ปีละ 240,000 บาท) เราต้องมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 12 ล้านบาท (12 ล้าน*2%) แต่ถ้าเราเลือกลงทุนในหุ้นที่ให้ปันผลร้อยละ 4 เราต้องลงทุนในหุ้นตัวนี้ทั้งสิ้น 6 ล้านบาท น้อยกว่าพันธบัตรเท่าตัว และท้ายสุดถ้าเราเลือกลงทุนในคอนโด สมมติว่าคอนโดห้องละ 3 ล้านห้าแสนเราต้องลงทุนทั้งสิ้น 7 ล้านบาท

เหมือนว่าทางเลือกในการลงทุนในหุ้น แล้วรอกินเงินปันผล จะเป็นทางเลือกที่หลายคนจะเลือก เพราะใช้เงินน้อยที่สุด แต่ละทางเลือกมีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน ถ้าเราเลือกลงทุนในพันธบัตร แน่นอนว่าข้อดีคือความเสี่ยงต่ำ แต่ผลตอบแทนก็ต่ำไปด้วย โดยเฉพาะในยามวิกฤตเช่นนี้ ถือพันธบัตร (รัฐบาล) ไว้น่าจะอุ่นใจที่สุด

ในขณะที่ลงทุนในหุ้นนั้นถ้าเราจะรอกินแต่ปันผลอย่างเดียวเรื่องความผันผวนของราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้กระทบต่อเรา แต่สิ่งที่เราต้องกังวลคือทิศทางของเงินปันผล ซึ่งแน่นอนมาจากการเติบโตของรายได้ ซึ่งโดยภาวะทั่วไปบริษัทมักจะมีรายได้ที่เติบโตขึ้นโดยเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้เงินปันผลของเราเติบโตขึ้นเช่นกัน ข้อนี้หมายความว่าต่อไปในภายภาคหน้าเราจะได้รับเงินปันผลสูงขึ้นทำให้เรามีรายได้ต่อปีมากขึ้นตามผลประกอบการของบริษัท แต่ก็มีบางกรณีที่รายได้ของบริษัทปรับตัวลดลง ซึ่งถ้าเป็นแค่การปรับลดลงชั่วคราวก็แล้วไป

แต่ถ้าเป็นการปรับแบบถาวร เช่น ธุรกิจสื่อ กระดาษ หรือภายใต้ภาวะโควิท เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าหุ้นปันผลหลายตัวอาจได้รับผลกระทบในระยะยาวหรือไม่ สุดท้ายคือการลงทุนในห้องชุด ซึ่งมีข้อดีที่ลงทุนไม่มากและมีโอกาสที่ค่าเช่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือมูลค่าห้องชุดมีราคาสูงขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจหาผู้เช่าไม่ได้ เป็นต้น

เมื่อดูจากตัวเลขเงินลงทุนแล้ว หลายคนคงต้องคิดว่าเราต้องรออีกนานกว่าเราจะมีเงินลงทุนเพียงพอหรือเงินลงทุนของเราจะเติบโตไปสู่การได้รับพาสสีฟอินคัมอย่างที่ต้องการ และแน่นอนว่าก่อนจะถึงจุดนั้นเราต้องมีรายได้จากแหล่งอื่น เช่นจากเงินเดือน

ดังนั้นในช่วงต้นกระแสเงินจากแอกทีฟอินคัมจะมีความสำคัญต่อเรามากกว่า และแน่นอนว่ารายได้แหล่งนี้มาจากเรา ซึ่งกว่าจะได้มาวันนี้เราต้องลงทุนร่ำเรียนมาหลายปี และเช่นเดียวกับการลงทุนอื่นๆ แอกทีฟอินคัมของเราก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังเช่นในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนแบบนี้

วันนี้ผมอยากฝากข้อคิดไว้ให้ท่านผู้อ่านว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้เราเริ่มกระจายความเสี่ยงของแอกทีฟอินคัม เช่น เริ่มต้นสร้างแหล่งรายได้ที่เราต้องลงแรง ไม่ว่าจะเป็นงานขายของออนไลน์ การจัดฝึกอบรมหรือให้ความรู้ การเขียนหนังสือ เป็นต้น และกิจกรรมเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของพาสสีฟอินคัมของเราในอนาคตอย่างดีได้เช่นเดียวกัน

ท้ายสุดนี้ผมขอให้กำลังใจท่านผู้อ่านทุกท่านมีกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็งและสามารถฟันฝ่าช่วงเวลานี้ไปได้อย่างปลอดภัยครับ