โควิดทุบ'ค้าปลีกอ่วม' ไตรมาส2 ติดลบ 20-50%

โควิดทุบ'ค้าปลีกอ่วม' ไตรมาส2 ติดลบ 20-50%

สมาคมค้าปลีก เสนอนายกฯ บรรเทาผลกระทบวิกฤติโคว หลังสภาพคล่องทรุด แนะอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีกต่อลมหายใจรายย่อย พร้อมชงมาตรการภาษี ช้อปช่วยชาติ ไทยเที่ยวไทย ไทยช้อปไทย กระตุ้นบริโภคในประเทศ หนุนเศรษฐกิจไต่ระดับฟื้นตัวใน 8-24 เดือน

อุตสาหกรรมค้าปลีกและศูนย์การค้าเป็นภาคธุรกิจสำคัญ มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ และแรงงานบนเส้นทางซัพพลายเชนจำนวนมาก ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้นำเสนอวาระเร่งด่วนต่อภาครัฐในการฟื้นฟูธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเดินหน้า  

นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ปัญหาโรคระบาดร้ายแรงในครั้งนี้ทำให้เกิดภาวะช็อกต่อระบบเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทานผ่านการเจ็บป่วยของผู้คนและมาตรการควบคุมโรค เช่น การปิดเมือง มีผลต่อความสามารถในการผลิต ขนส่ง และจำหน่ายสินค้า ขณะที่ด้านอุปสงค์ ส่งผลกระทบผ่านรายได้ที่ลดลง ความหวาดกลัวต่อการติดโรค และความเชื่อมั่นกับสถานภาพอนาคตที่ไม่แน่นอน

"วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกอยู่ในภาวะหยุดชะงักอย่างฉับพลัน (Sudden Stop)"

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกจากการล็อกดาวน์ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่บันเทิงพักผ่อนคลายร้อน ร้านอาหาร ภัตตาคาร ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการหยุดชะงัก ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ประกอบเอสเอ็มอี และเกษตรกรกว่า 4 แสนราย ซึ่งเป็นห่วงโซ่สำคัญขาดรายได้ กระทบต่อหนี้ทางธุรกิจ และภาวะการว่างงาน การจ้างงานที่ไม่เต็มอัตราเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะมีกว่า 3-5 ล้านคน 

ไตรมาสสองติดลบ 20-50% 

สำหรับดัชนีค้าปลีกไตรมาสแรกที่ผ่านมาลดลง 3-7% โดยตัวเลขต่ำสุดอยู่ในไตรมาส 2 นี้ ประมาณการ "ติดลบ" มากถึง  20-50% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ โดยศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกในย่านเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงร้านค้าปลีกแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ได้รับผลกระทบมากที่สุด 

“เมื่อมาตรการผ่อนคลายความเข้มข้น ธุรกิจค้าปลีกคาดว่าจะเริ่มทรงตัว แต่การเติบโตก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม คาดยังคงติดลบมากกว่า 10% เมื่อเทียบไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว”

สมาคมฯ คาดว่า ธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้า จะพลิกฟื้นกลับมาจุดเดิมคงต้องใช้เวลา 8-24 เดือน หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวมากหรือน้อย  

ชู4 มาตรการห่วงโซ่เร่งฟื้นเศรษฐกิจ

สมาคมฯ วางนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด สนับสนุนการช่วยเหลือครบทั้งห่วงโซ่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  มุ่ง 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 

1.การจ้างงาน ซึ่งวิกฤติครั้งนี้กระทบแรงงานทั้งในและนอกระบบหนักสุด คือ ภาคบริการ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สมาชิกสมาคมฯ และศูนย์การค้า รวมถึงเครือข่ายภาคีค้าปลีกต่างจังหวัดกว่า 57 แห่ง มีมติให้คงการจ้างงานที่มีอยู่ 1.1 ล้านคน และจะไม่มีการเลิกจ้างแต่อย่างใด 

2.การสร้างงาน สมาชิกสมาคมฯ ที่ดำเนินธุรกิจศูนย์การค้ากว่า 100 ศูนย์การค้า รวมทั้งพื้นที่การค้าในไฮเปอร์มาร์เก็ต อีกกว่า 350 สาขา จะจัดสรรพื้นที่ให้กลุ่มอาชีพอิสระและแรงงานพาร์ทไทม์มาจำหน่ายสินค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งสมาคมฯ เชื่อว่าจะสร้างงานเพิ่มขึ้นอีก 1.2 แสนอัตรา 

3.เพิ่มรายได้ธุรกิจค้าปลีกมีการซื้อสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรงปีละ 1.8 หมื่นล้านต่อปี สมาชิกของสมาคมฯ จะเพิ่มการซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาทต่อปี

4.ลดภาระค่าครองชีพ โดยผู้ประกอบการพร้อมตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนกว่า 5 หมื่นรายการ ตลอดปี

ชงวาระเร่งด่วนกู้ชีพระยะสั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เพื่อรับฟังสถานการณ์ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากห้างค้าปลีก ศูนย์การค้า และภาคีเครือข่ายค้าปลีกต่างจังหวัดร่วมหารือ อาทิ นายญนน์ โภคทรัพย์ นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช นายคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล นางวิภาดา ดวงรัตน์ นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย และนายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้นำเสนอนโยบายฟื้นฟูธุรกิจและเศรษฐกิจใน 8-24 เดือนข้างหน้าให้คืนสู่ภาวะปกติและก้าวสู่การเติบโตตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น ประกอบด้วย 

1.การอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีกเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี และ เกษตรกร 

“อาจเป็นเรื่องใหม่ของหลายคน แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และตรงเป้าที่สุด ธุรกิจค้าปลีกเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มใหญ่ที่เชื่อมต่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เกษตรกร สู่ผู้บริโภค การพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการกว่า 4 แสนราย ผ่านแพลตฟอร์มกลุ่มธุรกิจค้าปลีกจะเป็นช่องทางที่ถึงมือผู้ประกอบการโดยตรงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

2.ช่วยเหลือค่าครองชีพแก่แรงงานภาคค้าปลีกและบริการ ผ่านระบบประกันสังคม โดยขยายมาตรการเยียวยาในระบบประกันสังคมให้ยังได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิประกันสังคมต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี 2563 รวมทั้งผ่อนผันให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อแรงงานมีความยืดหยุ่นในการเพิ่มรายได้

3.กระตุ้นแคมเปญการจับจ่ายผ่านโครงการ “ช้อป ช่วย ชาติ” สามารถช้อปได้ทุกสินค้า วงเงิน 5 หมื่นบาท ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ธ.ค. ผลักดันโครงการ “ไทยเที่ยวไทย ไทยช้อปไทย” เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

4.มาตรการช่วยลดต้นทุนและเสริมสภาพคล่องธุรกิจค้าปลีก โดย

พิจารณาเลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลในงวดครึ่งปีหลังของปี 2562  

พิจารณาลดภาษีนิติบุคคลจากอัตรา 20% เหลือ 10% เป็นเวลา 3 ปี 

พิจารณายกเว้นภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ประจำปี 2563-2564 

พิจารณาให้นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการยกระดับสาธารณสุขเพื่อให้อาคารสถานที่ปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า 

พิจารณาปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในส่วนนายจ้างจาก 4% เป็น 1% ตั้งแต่เดือนเม.ย.-ธ.ค.2563 

พิจารณาลดอัตราค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ลงอย่างน้อย 15% จากอัตราปกติ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี

พิจารณาให้นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) เพื่อสร้างอีโคซิสเท็ม (Ecosystem) สู่การทำงานที่บ้าน (Work from Home)  และอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า

สร้างดัชนีค้าปลีก

นายคมสัน กล่าวต่อว่า สมาคมฯ ยังได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพัฒนา “ดัชนีค้าปลีก” ให้สามารถรายงานข้อมูลและสถานการณ์รายเดือน เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดการบริโภคค้าปลีกภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐในการกำหนดทิศทาง และนโยบายการบริโภคภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคาดว่า ธปท. จะประกาศใช้ดัชนีค้าปลีก เป็นหนึ่งในดัชนีสำคัญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งดัชนี ภายในไตรมาส 4 นี้