ส่อง ‘รัฐวิสาหกิจ’ ในอดีต ที่ถูกแปรสภาพเป็น ‘บริษัทเอกชน’
ส่องรัฐวิสาหกิจไทยในอดีต ที่ปัจจุบันถูกแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชนอย่างเต็มตัว มีบริษัทอะไรบ้าง? ติดตามที่นี่
จากกรณีของ “บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)” หนึ่งรัฐวิสาหกิจของไทยที่ถูกแปลงร่างพ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนอย่างเต็มตัวไปสดๆ ร้อนๆ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง
หลังจากปล่อยให้คนไทยช็อคไปตามๆ กันจากการเปิดเผยงบปี 2562 ที่ "การบินไทย" ขาดทุนสุทธิไปกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และมีภาระหนี้สะสมกว่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหากไม่ทำอะไร ปีนี้อาจทำให้ขาดทุนสูงถึง 5.9 ล้านบาท
มาดูกันว่า ในอดีตที่ผ่านมา มีรัฐวิสาหกิจอะไรบ้างที่ได้ออกจากสถานะรัฐวิสาหกิจ มาสู่สถานภาพเอกชน บริษัทจำกัดมหาชนแบบเต็มตัวบ้าง?
ก่อนอื่น “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ขอพามาทำความเข้าใจเรื่องของ “วิสาหกิจ” ว่าคืออะไรกันแน่ ?
หากเข้าไปดู พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 จะพบว่า วิสาหกิจของไทยมี 2 รูปแบบ คือ
1. องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ และ
2. บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่กระทรวงการคลังมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่า 50%
สำหรับ “การบินไทย” เข้าเกณฑ์ในความหมายส่วนที่ 2 โดยอยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพทย์แห่งประเทศไทย แต่เมื่อ "กระทรวงการคลัง" หรือผู้ถือหุ้นหลักปรับลดการถือหุ้นลงจาก 51.03% หรือราว 1,113.93 ล้านหุ้น เหลือราว 48% แน่นอนว่า สถานะจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่วิสาหกิจอีกต่อไป
ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการต่อนี้ไปคือ เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว การบินไทยต้องพึ่งพาตัวเอง โดยภาครัฐไม่สามารถเข้ามาให้การสนับสนุนด้านการเงินอย่างเคย ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังได้บรรลุข้อตกลงในการขายหุ้นการบินไทยให้กับกองทุนวายุภักษ์เรียบร้อยแล้วราว 3.17% หรือ 69 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.03 บาท รวมมูลค่ากว่า 278 ล้านบาท ทั้งนี้ทำให้กระทรวงการคลังมีหุ้นเหลืออยู่ในการบินไทยราว 47.86%
โดยที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็มีประสบการณ์ดังกล่าวมาแล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่จากเดิมช่วงก่อตั้งครั้งแรกปี 2494 โดย ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ใช้ชื่อว่า บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ต่อมาทางราชการได้รับโอนหุ้นจากจอมพลสฤษดิ์ และท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัตน์ มาเป็นของกระทรวงการคลังส่วนหนึ่ง รวมถึงได้รับโอนหุ้น ฯพณฯ จอมพลประภาส จารุเสถียร มาเป็นของกระทรวงการคลังอีกส่วนหนึ่ง
ทำให้ปี 2518 กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทถึง 55.5% หรือมีฐานะเป็น "วิสาหกิจ" ในกระทรวงการคลัง ต่อมามีการกระจายหุ้นไปอยู่ในบริษัทต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ทำให้กระทรวงการคลังเหลือหุ้นอยู่เพียง 5.24%
จนกระทั่งปี 2538 ก็มีมติให้แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทจำกัดมหาชน เพื่อให้พร้อมที่จะแข่งขันได้อย่างเสรีของธรุกิจประกันภัย และเริ่มมีการซื้อขายกันครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2539 ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ปัจจุบันผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ราว 13.33%
และทราบหรือไม่ว่า บริษัท บางจาก คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทพลังงานของไทยที่มีอายุราว 80 ปี ก่อนที่จะมาเป็นบริษัทเอกชนอย่างเต็มตัว บริษัท บางจากฯ เคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน
จากเริ่มแรกที่กระทรวงกลาโหมก่อตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศ แต่ประสบวิกฤติสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้ต้องยุติกิจการไป พอถึงรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กลับมาจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ขึ้น ดำเนินการเรื่อยๆ จนมีปัญหากับ บริษัท ซัมมิทอินดัสเตรีบล คอปอเรชั่น (ปานามา) ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจยกเลิกสัญญากับบริษัทดังกล่าว
หลังจากนั้นราว 3 ปี คณะรัฐมนตรีก็มีมติอนุมติให้บริษัท บางจากฯ ในขณะนั้น จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และจัดตั้งบริษัทในชื่อ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด ในปี 2527 และถูกแปรรูปเป็นบริษัทธุรกิจเอกชนในปี 2538
ขณะนี้บริษัท บางจากฯ ได้ขยายสู่ธุรกิจอื่นๆ ทั้งธุรกิจ Non-Oil เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียว กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ สำนักงานประกันสังคม ถือหุ้น 14.40% หรือราว 198.2 ล้านหุ้น รองลงมาเป็นกระทรวงการคลัง 9.98% หรือราว 137.4 ล้านหุ้น
ทั้งนี้หากเทียบอัตราผลตอบแทนเงินปันผล จะพบว่าช่วงปี 2538 ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่สถานะบริษัทเอกชนนั้น มีอัตราผลตอบแทนปันผลอยู่ที่ 2.82% โดยเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 1.61 แต่หลังจากนั้นในปี 2539 พบว่าอัตราผลตอบแทนปันผลปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.08% โดยเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 1.96
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ บริษัท เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ รวมถึงธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์กับบริษัทร่วม เช่น นวนคร เดิมก็เคยอยู่ในสถานะรัฐวิสาหกิจมาแล้วเช่นกัน โดยเดิมบริษัทนี้มีชื่อว่า บริษัท กระสอบอิสาน จำกัด จดทะเบียนครั้งแรกราว 67 ปีที่ผ่านมา
ช่วงแรกมีการแปรสภาพมาเป็นรัฐวิสาหกิจ และกระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นเกือบทั้งหมด และในปี 2530 ก็มีการแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชน ต่อมาก็มีการแปรสภาพเป็นิติบุคคล และเปลี่ยนเป็นชื่อในปัจจุบัน
ทั้งนี้ "กระสอบอิสาน" ถือเป็นรัฐวิสาหกิจแรกของไทยที่มีการแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชน โดยขณะนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท วาวา แพค จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 19.78% หรือรว 460 ล้านหุ้น รองลงมาคือ กระทรวงการคลัง 12.72% หรือราว 295.84 ล้านหุ้น
ที่มา : bangkokbiznews, sepo, set, bangchak, investor.bangchak, nep