แม้โควิดคลี่คลาย 'คดีความทางกฎหมาย' ไม่น้อยลง
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แน่นอนว่าทุกคนต่างมุ่งความสนใจไปที่วิกฤติครั้งนี้ แต่ยังมีผลกระทบอีกมุมหนึ่งที่หลายคนไม่คาดคิดคือ การเกิดคดีความที่เพิ่มมากขึ้นด้วยที่มาจากโลกออนไลน์ เช่น e-Commerce ข้อมูลส่วนบุคคล ฯลฯ
นับจากนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าคดีความต่างๆ อันเป็นผลมาจากโควิด-19 จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น คดีที่เกี่ยวกับ e-Transaction e-Commerce การฉ้อโกงผู้บริโภค และข้อพิพาทเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลที่มีอยู่มากมายบนโลกออนไลน์ไปใช้โดยมิชอบ
1.โควิด-19 คลี่คลาย แต่ปริมาณคดีจะเพิ่มขึ้น
ในอนาคตแม้โควิด-19 อาจเริ่มคลี่คลาย แต่คดีความที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากศาลยุติธรรม พบว่าหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งและโรคซาร์ส จำนวนคดีฟ้องร้องที่ขึ้นสู่ศาลแพ่งเพิ่มขึ้นราว 19% และ 22% ตามลำดับ
ซึ่งหากย้อนกลับไป วิกฤติต้มยำกุ้งส่งผลให้เอกชนได้รับผลกระทบจากค่าเงินและเกิดฟองสบู่แตกในภาคอสังหา/ตลาดหุ้น ส่งผลให้กิจการอยู่ในสภาวะขาดทุนและบางรายอาจล้มละลาย ดังนั้น ผลที่ตามมาในทางกฎหมายคือ ผู้เสียหายย่อมฟ้องร้องคดีแพ่งในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีฟ้องบังคับชำระหนี้ และในบางกรณีอาจไปถึงขั้นฟ้องล้มละลาย
อย่างไรตาม ข้อดีประการหนึ่งของวิกฤติที่มีข้อจำกัดในการเดินทางของประชาชน เช่น วิกฤติโรคซาร์ส พบว่าจำนวนคดีอาญาลดลงถึง 19% ซึ่งการลดลงอยู่ในอัตราที่พอๆ กับการเพิ่มขึ้นของคดีแพ่งในช่วงเวลาเดียวกัน
ผู้เขียนเชื่อว่าสำหรับโควิด-19 ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยขาดรายได้ต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากนโยบาย Lockdown ดังนั้น คดีที่เกี่ยวกับการผ่อนชำระค่าสินค้า/บริการ ทวงถามหนี้และการฟ้องบังคับชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงคดีที่เกี่ยวกับการเอาเปรียบและฉ้อโกงผู้บริโภคออนไลน์ ซึ่งสามารถเกิดได้สารพัดรูปแบบ อันเป็นผลมาจาก e-Marketplace ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายใน Group ต่างๆ บน Social Media
คำถามคือ หลักฐานบน Group chat, comment หรือ Inbox ที่เรามีอยู่นั้นเพียงพอที่จะใช้ต่อสู้ในชั้นศาลหรือไม่? ซึ่งในบางประเทศได้มีการสร้างศาลเฉพาะ หรือ Internet Court เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับข้อพิพาทบนช่องทางออนไลน์แล้ว เช่น จีน
2.คดีที่เกี่ยวข้องกับ e-Transaction และ e-Commerce จะเพิ่มขึ้น
ประชาชนในยุคนี้ “ทำทุกอย่างออนไลน์” ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมทางการเงิน ประชุมงาน รวมไปถึงการเจรจาและเข้าทำสัญญาทางธุรกิจ ดังนั้น คดีความที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงจากการนำเสนอสินค้า/บริการออนไลน์ รวมถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Mobile Banking จะเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้คงต้องกลับมาถามผู้ประกอบการว่า ทุกอย่างที่เคยเป็นกระดาษในกระบวนการจัดการของร้านได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไว้อย่างครอบคลุมแล้วหรือยัง? ผู้เขียนขอยกบางประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างอิงหลักการจากกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น
สัญญาซื้อขายที่ทำผ่านเว็บไซต์ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติมีผลหรือไม่? ลองคิดดูว่าการที่เราซื้อของบนเว็บไซต์หรือกดซื้อสินค้าบนตลาดออนไลน์เพื่อเลือกลงตะกร้านั้น คือเรากำลังทำธุรกรรมกับระบบโต้ตอบอัตโนมัติที่เจ้าของ platform ได้สร้างไว้ คำถามคือมีผลทางกฎหมายอย่างไร? หากเรากดสินค้าประเภทหนึ่งแต่กลับได้อีกประเภท สัญญาที่จะก่อให้เกิดสิทธิ/หน้าที่/ความรับผิดเกิดตอนไหน? คำตอบในเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็น
ประเด็นแรก การเสนอขายสินค้าออนไลน์พร้อมการโชว์ราคา ถือเป็น “คำเชิญชวนเพื่อเข้าทำสัญญา” (Invitation to make an offer) ดังนั้น การที่ท่านกดซื้อ คือการยื่นคำเสนอว่าฉันจะซื้อของชิ้นนี้นะ และเมื่อท่านได้ confirmation อีเมลกลับมาจากผู้ขาย ตามกฎหมายคือคำสนอง และสัญญาเกิดขึ้น ณ จุดที่ท่านได้ Confirmation email นี้
ประเด็นที่ 2 เวลาผ่านไป ท่านอ้างได้หรือไม่ว่าสัญญานี้ไม่มีผล เพราะทำกับระบบของเว็บไซต์ไม่ได้ทำกับบุคคล คำตอบคือกฎหมายกำหนด “ห้ามปฏิเสธความสมบูรณ์ของสัญญาที่ทำโดยการโต้ตอบระหว่างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (Machine) กับบุคคลธรรมดา” หรือ “ระหว่างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติด้วยกันเอง” (Machine กับ Machine) ดังนั้น สัญญาซื้อขายที่ทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติจึงมีความสมบูรณ์ไม่ต่างจากการทำระหว่างบุคคลซึ่งหน้า
หากมีการกดข้อมูลผิดพลาด (Input error) จะทำอย่างไร? เช่น หากมีการกดคำสั่งซื้อผิดพลาด จาก 1 ชิ้นเป็น 11 ชิ้น หรือหน้าเว็บค้างจึง refresh ซ้ำๆ ผลคือเกิดสัญญาขึ้นหลายฉบับซ้อนๆ กัน ท่านควรทำอย่างไร คำตอบคือหากท่านลงข้อมูลผิดพลาดและเว็บไม่มีช่องทางให้แก้ไขข้อผิดพลาดนั้น ข้อแนะนำคือกฎหมายให้ท่านสามารถ “ถอนเจตนา” ได้ โดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบโดยพลัน (เช่น ผ่านช่องทางติดต่อของเว็บไซต์) ซึ่งต้องมีข้อกำหนดว่าท่านจะต้องไม่ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากสินค้านั้นก่อน คล้ายกับเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ใจว่าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นจริง
3.คดีที่เกี่ยวกับข้อมูลรั่วไหลและการคุกคามของ Hacker
ในช่วงโควิด-19 นี้ มีข้อมูลจากหลายองค์กรในสหภาพยุโรป รวมถึง Google เองที่ออกมายอมรับว่าการคุกคามทางไซเบอร์ได้เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว โดย Google ได้ตรวจพบสแปมเมลและมัลแวร์นับล้านรายการ ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของภัยทางไซเบอร์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระทำผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก”
ดังนั้น ข้อมูลการทำธุรกรรมออนไลน์จึงกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบน Platform ต่างๆ ประกอบการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนบางองค์กรยังไม่ทันตั้งรับในการสร้างระบบความปลอดภัยที่ดีพอ และผู้บริโภคเองอาจยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าข้อมูลจากการทำกิจกรรมออนไลน์ได้ถูกบันทึกและนำไปประมวลผลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่ง Hacker ในยุคโควิด-19 ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ข้อมูลส่วนบุคคล แต่ข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและการคิดค้นวัคซีนก็เป็นอีกเป้าหมายของ Hacker ในยุค 2020 นี้เช่นกัน
ท้ายที่สุด เมื่อโลกเปลี่ยน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจที่ผู้เขียนจะขอเล่าในโอกาสต่อไปคือการเปลี่ยนแปลงของศาลและกระบวนการยุติธรรมในยุคโควิด-19 ซึ่งในหลายประเทศเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การเริ่มต้นของ Virtual Court”
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]