'Food Delivery' ธุรกิจที่มีแต่ผู้แพ้
แม้อนาคตอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี่ยังสามารถเติบโตอยู่ แต่หลังจากนี้จะลำบากมากขึ้น ถ้าการลงทุนในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและโปรโมชั่นที่มีอย่างมหาศาล ซึ่งใช้เงินจำนวนมาก อาจทำให้ผู้เล่นหลายรายล้มหายตายจากไป เหลือเพียงไม่กี่รายที่ช่วงชิงตลาดไว้ได้
มีอยู่วันหนึ่งครับ ผมตั้งใจที่จะสั่งซาลาเปาไส้ครีม 2 ลูกจากร้านวราภรณ์ สาขาที่ใกล้บ้านผมที่สุดคือ ท็อป สาขาเกษตรฯ ผมพยายามหาราคาที่ถูกที่สุดในบรรดาแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร โดยเริ่มจาก Line Man ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 157 บาท แอพฯถัดมาที่ผมเลือกใช้คือ Grab ใน Grab มีค่าที่เรียกว่าการสั่งน้อย (small order fee) สำหรับรายการอาหารที่สั่งต่ำกว่า 70 บาท จะมีค่าชาร์จเพิ่มอีก 20 บาท รวมเป็นทั้งหมด 119 บาท ในแอพฯสุดท้ายที่ผมใช้ในการสั่งซาลาเปา คือน้องใหม่อย่าง Get ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 88 บาท
จะสังเกตได้ว่า แอพฯที่ถูกในสามเจ้านี้ ถูกกว่าเจ้าที่แพงที่สุดอยู่เกือบเท่าตัว ด้วยกลยุทธ์การกำหนดราคาที่ต่างกัน ทำให้แอพฯทั้ง 3 เจ้านี้มีราคาการเก็บเงินที่แตกต่างกันออกไป การบริการส่งอาหารประกอบไปด้วยทั้งหมด 4 เจ้า มีร้านอาหาร แอพฯ คนส่ง และลูกค้า
มาเริ่มที่คนแรกกันก่อนก็คือ ร้านอาหาร ร้านอาหารเวลาที่อยากจะเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องเสียค่าบริการผ่านแอพฯ 30-35% จากราคาที่ขาย ซึ่งนั่นก็เกินครึ่งของกำไรที่ร้านอาหารจะได้ด้วยซ้ำ แต่เนื่องด้วยจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ร้านต้องมีเว้นระยะคนนั่ง จึงทำให้หลายร้านต้องใช้แอพฯในการหารายได้เสริม ซึ่งก็อาจจะไม่คุ้มซักเท่าไรกับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้แอพฯ
รายที่สองคือ แอพฯต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างร้านอาหารกับลูกค้า อย่างแรกที่แอพฯส่งสินค้าจะได้คือ 30-35% ที่เก็บจากร้านอาหารที่อยู่บนแอพฯจากทุกๆ ออเดอร์ที่เกิดขึ้น อย่างที่สองที่แอพฯจะได้ คือการเก็บค่า loyalty fee ของคนขับ ซึ่งในที่นี้ประมาณ 5% จากการที่คนขับมาหาเงินผ่านแอพฯเหล่านี้
ส่วนที่แอพฯเหล่านี้ลงทุนมากสุดคงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างเช่น Line Man กับ Grab ที่เป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่เข้ามาในเมืองไทย ที่สองแอพฯนี้ลดค่าส่งเหลือเพียงแค่ 10 บาท ทำให้หลายๆ คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมกันมากขึ้น พอหน้าใหม่อย่าง Get ที่พึ่งเข้ามาในประเทศนี้ได้ไม่นานก็สามารถฉวยโอกาสที่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมกันบ้างแล้ว เนื่องจากช่วงแรกแอพฯเหล่านี้ลงทุนกันมหาศาล บริษัทเลยยังขาดทุนอยู่ ต่อให้ขึ้นค่าส่งแล้วก็ตาม
รายที่สาม คือ คนขับ สิ่งที่คนขับส่วนใหญ่อยากได้จากลูกค้าคือ การส่งอาหารไกลๆ ซึ่งได้กำไรมากกว่าส่งของใกล้ๆ แต่ถี่ๆ เพราะเนื่องจากว่าค่าอาหารยังไงก็คงที่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือระยะทาง การส่งยิ่งไกล ยิ่งได้เงินมาก แต่อีกตัวแปรหนึ่งที่นักขับหลายๆ คนตั้งใจมาทำคือ โบนัสของคนขับ เรียกว่าเป็นรายได้พิเศษอีกทาง ถ้าเป็นคนขับที่พึ่งสมัครเข้ามาก็จะได้รายได้พิเศษตรงนี้ที่ง่ายกว่า และเยอะกว่าคนขับหน้าเก่า
อย่างเช่นของ Grab จะมีสิ่งที่เรียกว่า การสะสมเพชร โดยเขตของกรุงเทพฯจะแบ่งออกเป็นโซนๆ เช่น อยู่ในเมืองแถวทองหล่อ สยาม อโศก ชิดลม ก็จะเรียกว่าโซน 1 คือส่งอาหารแถวนี้จะได้เพชรเยอะที่สุด และหลังจากนั้นก็จะกระจายรัศมีของโซนออกไป เป็นโซน 2 โซน 3 จนไปถึงโซน 4
ปัญหาคือเวลาที่คนขับได้งาน เขาไม่สามารถเลือกลูกค้าได้ว่าอยู่โซนไหน รู้ได้แต่เพียงว่าต้องไปรับอาหารที่ไหน และส่งอาหารที่ไหน ดังนั้นมันอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่คนขับบางคนขับทั้งวันก็ไม่ได้โซน 1 กับคนขับบางคนขับ 3 เที่ยวทั้งวันก็ได้โซน 1 หมดเลย
อีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยขึ้นเรื่อยๆ คือ ลูกค้าแคนเซิลออเดอร์กลางอากาศ เพราะเงินที่เอาไปซื้ออาหารก็เป็นเงินของคนขับเอง ไม่ใช่เงินของแอพฯ ดังนั้นถ้าลูกค้าสั่งอาหารราคาสูง คนขับเหล่านี้ก็ต้องเตรียมเงินให้พร้อม จะไปขอให้ทางลูกค้าโอนมาให้ก่อนก็ไม่ได้ เพราะถือว่าผิดกฎทางบริษัท ซึ่งถ้าผิดครั้งเดียวมีโอกาสที่จะโดนแบนจากแอพฯเลยก็ได้
รายที่สี่ คือ ลูกค้า ลูกค้าไม่ต้องลำบากในการขับรถเพื่อไปที่ร้านอาหาร หาที่จอดรถ ลงไปกินข้าว กลับขึ้นรถและขับกลับบ้าน แต่สิ่งที่ลูกค้าเจอคือ จากเดิมที่เรามีสบายใจในการจ่ายค่าส่งเพียงแค่ 10 บาท 15 บาท ก็อาจจะต้องผิดหวังที่ต้องเสียค่าส่งที่สูงขึ้น และหลายๆ ครั้งค่าส่งแพงกว่าค่าอาหารอีก
อย่างในกรณีของผม ทำให้อาจจะรู้สึกลำบากใจในการสั่งอาหาร จนบางครั้งอาจจะรู้สึกว่าขับรถไปซื้อเองน่าจะคุ้มกว่า หรือว่าถ้าลูกค้าอยากได้ส่วนลดก็อาจจะต้องสั่งในมูลค่าที่สูงขึ้น จำนวนอาหารที่มากขึ้น หรืออีกแบบหนึ่งคือการสมัคร subscription ไปเลยจะทำให้ลดค่าอาหารตรงนั้นได้โดยการใช้คูปอง แต่ถ้าเราใช้คูปองในเดือนนั้นไม่หมด คูปองที่เราไม่ได้ใช้ก็จะถูกตัดออกไปโดยอัตโนมัติอีกเช่นเดียวกัน
อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของเวลาในการส่ง ยิ่งเราอยู่สถานที่ที่มันไกลจากร้านมากขึ้นเท่าไร การรอยิ่งนานขึ้นเท่านั้น ผมเคยรออาหารนานสุด 2 ชั่วโมง พอมาถึงเราก็อิ่มจากการกินของว่างรองท้องไปเรียบร้อยแล้ว
ถึงแม้ว่าในอนาคตอันใกล้อุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี่จะยังสามารถเติบโตอยู่ โดยปีที่แล้วโตถึง 14% จากการวิจัยของกสิกรไทย และเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันของเราที่เป็น New Normal
ตัวผมเองเชื่อว่าหลังจากนี้ทางแอพฯต่างๆ จะเริ่มลำบากมากขึ้นถ้าการลงทุนในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และโปรโมชั่นต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่อย่างมหาศาล ซึ่งใช้เงินเป็นจำนวนมาก และคนขับที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้รายได้เฉลี่ยของคนขับแต่ละคนลดลง ทำให้การขับส่งอาหารจะไม่คุ้มกับค่าน้ำมันในระยะยาว สุดท้ายคนเหล่านี้ก็จะไปทำอาชีพอื่นที่คุ้มค่ากว่าในอนาคต และผู้เล่นบางคนจะล้มตายจากไปในอนาคตระยะยาว ทำให้เหลือผู้เล่นแค่ไม่กี่คนครับ