2 องค์กรจับมือทำคลังข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาปกป้องภูมิปัญญาไทย
กรมทรัพย์สินทางปัญญา-กรมแพทย์แผนไทย จัดทำคลังข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมโยงฐานข้อมูลปกป้องตำรับยาไทย 3.6 หมื่นตำรับเชื่อมโยงฐานข้อมูล ป้องกันต่างชาติแอบเคลมไปขึ้นทะเบียนในต่างแดน เผยมูลค่าสมุนไพรไทยกว่า 1.5 แสนล้าน
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯได้ลงนามเอ็มโอยูกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการจัดทำคลังข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลด้านทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นคลังข้อมูลกลางสำหรับประโยชน์ในการอ้างอิงความเป็นเจ้าของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และช่วยป้องกันไม่ให้นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศฉวยโอกาสนำตำรับยาไทยและสมุนไพรไทยไปจดสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศเหมือนกับอดีตที่ผ่านมา
นายทศพล กล่าวว่า การผลักดันให้มีการรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยในส่วนของตำรับ ตำราการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก หรือสมุนไพรต่างๆ ถือเป็นข้อมูลและหลักฐานที่สำคัญที่จะป้องกันไม่ให้บรรดาพ่อค้าแอบนำตำรับยาไทยไปเคลมเป็นของตนเองด้วยการจดสิทธิบัตร เพราะหากมีการขึ้นทะเบียนในฐานข้อมูลแล้วทางกรมฯก็จะสามารถต่อสู้ในการเพิกถอนการไปจดเครื่องหมายการค้าหรือจดสิทธิบัตรในต่างแดนได้
“ไทยเคยมีปัญหาถูกต่างชาตินำเอาสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยไปแอบอ้างเป็นของตนเอง เช่น ฤษีดัดตน แต่ไทยก็ได้ไปแสดงความเป็นเจ้าของ เพราะมีฐานข้อมูลยืนยัน จนสามารถทวงสิทธิ์กลับคืนมาได้ หรือแนวโน้มในอนาคตอาจจะมีการนำสมุนไพรของไทยไปจดสิทธิบัตร โดยเฉพาะการทำยา ซึ่งการมีฐานข้อมูล ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการนำไปจดทะเบียนได้ หรือถ้ามีการนำไปใช้ ก็ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับไทย”
”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเชื่อมโยงข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาของไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมมือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อมข้อมูลพืชและสัตว์ ร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เชื่อมข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จับต้องไม่ได้ และล่าสุดร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เชื่อมข้อมูลตำรับยา ข้อมูลสมุนไพร เพราะเป็นสาขาที่มีมูลค่ามาก ล่อแหลม และมีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้ จึงต้องเร่งเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน คาดว่าจะเชื่อมได้เดือนก.ค.-ส.ค.2563
นายทศพล กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประดิษฐ์นั้น กรมฯอยู่ระหว่างแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในอนาคต ดังนั้นการจัดทำฐานข้อมูลและการร่วมกันดำเนินการภายใต้เอ็มโอยูฉบับนี้จะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญของไทยในการปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาติอย่างรอบด้านและครบวงจร และเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จนนำไปสู่การผลักดันให้การคุ้มครองในต่างประเทศและในระดับระหว่างประเทศต่อไป
นายมรุต จิรเศรฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การร่วมมือกันจัดทำคลังข้อมูลดังกล่าวก็เพื่ออ้างอิงความเป็นเจ้าของและปกป้องการคุ้มครองของไทยจากการลักลอบการนำข้อมูลด้านทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยอย่างไม่เหมาะสม โดยคลังข้อมูลจะรวบรวมทั้งภูมิปัญญาด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก และส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นข้อมูลตำรับ ตำราการแพทย์แผนไทย ข้อมูลรายงานวิจัย เป็นต้น
ปัจจุบันได้ประกาศกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยไปแล้วทั้งสิ้น 27 ฉบับ จำนวน 36,293 ตำรับ เช่น ยาหอมนวโกฐ , ยาธาตุอบเชย , ประสะไพล บรรเทาอาการปวดประจำเดือน , เบญจกูล ตำรับยาประจำธาตุ , ประสะกระเพรา แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ , ยาไฟห้ากอง เป็นต้น เพื่อรักษา ต่อยอด และสืบสานภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ซึ่งตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วคิดเป็นสัดส่วนเพียง 30-40% ของภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยเท่านั้น โดยกรมฯ ตั้งเป้าที่สืบเสาะหาตำรับยาจากวัดและชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ และขึ้นทะเบียนภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยให้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ตำรับ และอยู่ระหว่างพิจารณาตำรับยาของไทยอีกหลายรายการโดยปัจจุบันมูลค่าทางเศรษฐกิจของสมุนไพร อาหารเสริมและเครื่องสำอางที่ผสมสมุนไพรไทยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท
“ที่น่าจับตาการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ในการเป็นส่วนผสมเพื่อรักษาโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าในเร็วๆนี้น่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน หากสามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สมุนไพรไทยอีกมหาศาล”